“ชราแลนด์” ผนึกสองเจน อุดช่องว่าง 'เยาวชน - สูงวัย'

“ชราแลนด์” ผนึกสองเจน อุดช่องว่าง 'เยาวชน - สูงวัย'

'เอ็นไอเอ' จับมือ 'NICFD' เปิดตัวศูนย์การเรียนรู้ “ชราแลนด์” อุดช่องว่างระหว่างเยาวชน - สังคมสูงวัย กรุยทางเด็กรุ่นใหม่ก้าวสู่ผู้ออกแบบนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ พร้อมเร่งผลักดันเด็นรุ่นใหม่เข้าใจทุกปัญหาวัยเก๋า หวังปั้นเยาวชนกำหนดอนาคตสังคมสูงวัยไทย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ NICFD เปิดตัวศูนย์การเรียนรู้ ชราแลนด์ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจในโครงสร้างทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเรียนรู้การสร้างธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ผ่านกิจกรรม STEAM4INNOVATIOR 

โดยยังได้เปิดเวทีเสวนาวิชาการ “สองวัยในโลกสูงวัย” การเตรียมตัวรับมือของเด็กในสังคมสูงวัย เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่มีความรู้และความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ พร้อมเกิดไอเดียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “เอ็นไอเอ มุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการ “STEAM4INNOVATOR” ซึ่งเป็นแนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่นำความรู้ด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการมาบูรณาการเข้ากับความรู้ความเข้าใจทางด้าน STEAM (Science, Technology, Engineering, Art, Mathematics) เพื่อให้เยาวชนสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมอยู่ด้วย

160320925628


ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ หรือ 
Learning Station เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในงานถนนสายวิทยาสตร์ และงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เอ็นไอเอได้ร่วมมือกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ เพื่อขยายผลกิจกรรม Learning Station ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ถาวรที่เยาวชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอดทั้งปี

และความร่วมมือนี้เป็นการใช้องค์ความรู้ทั้งด้านนวัตกรรมของ NIA และ ด้านพัฒนาการเด็กของสถาบันฯ มาออกแบบกระบวนการแต่ละฐานการเรียนรู้ให้สามารถเข้าถึงพฤติกรรม ความคิดและการตอบสนองของเด็กแต่ละช่วงวัย สร้างทักษะที่สำคัญของนวัตกร คือ การคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา และคิดสร้างสรรค์ อันเป็นเป้าหมายร่วมที่สำคัญของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อสร้างนิสัยการเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตต่อไปอย่างมีคุณภาพ

สำหรับ Learning Station นี้จัดขึ้นในธีม “INNO OLD-K” เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ น้อง ๆ เยาวชนควรได้เรียนรู้ เข้าใจปัญหา และสามารถเป็นผู้แก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างตรงจุด เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในวัยชราได้อย่างมีความสุข โดยกิจกรรมประกอบด้วย 4 ฐาน ได้แก่ Stage 1 รู้ลึก รู้จริง : สูงวัย Why เก๋า? น้อง ๆ จะได้ทดลองเป็นผู้สูงอายุ เช่น การมีปัญหาสายตา การเดิน และริ้วรอย เพื่อเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง"

Stage 2 Wow Idea :  Cha la land แดนไอเดีย น้อง ๆ จะได้ดูตัวอย่างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาให้กับผู้สูงอายุ เช่น ไฟเปิดอัตโนมัติ ไม้เท้าปรับระดับ หรือ Application ต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ Stage 3 Business Model : อาวุโส Model น้อง ๆ จะได้เล่นเกมเพื่อแลก STEAM coin สำหรับนํามาซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ในการทําผลงานต้นแบบ และรู้จักกับการเขียนแผนธุรกิจเบื้องต้น 

Stage 4 Production & Diffusion : Inno Elderland น้อง ๆ จะได้รู้จักกับวิธีการและช่องทางในการขายสินค้า การทําบรรจุภัณฑ์เบื้องต้น และการคำนวนต้นทุน กำไร กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะที่สำคัญของเยาวชนสู่การเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมได้ในอนาคต

160320928176

ด้าน รศ.ดร.ภญ. จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บทบาทมหาวิทยาลัยมหิดลกับวิกฤตสังคมสูงวัย ได้ดำเนินทั้งการวิจัย สร้างต้นแบบบริการ  สร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสำหรับผู้สูงอายุ  6 โครงการสำคัญที่ดำเนินการแล้ว อาทิ ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  เป็นศูนย์ที่ผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ พัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุแบบสหวิชาชีพ

ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีเป้าหมายในการพัฒนาต้นแบบและมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้าย สร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมการดูแลสุขภาพเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศและเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดสากล 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี  ทยานศิลป์ อาจารย์ประจำ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า ในการเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ต้องเสริมแนวคิดใหม่เชิงรุก นอกเหนือนโยบายแบบตั้งรับเพื่อการแก้ปัญหาของผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ซึ่งไม่ทันกับสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น แนวคิดเชิงรุกได้แก่การสร้างผู้สูงอายุที่มีความสุขและสุขภาพดี (Thai Active Aging Smart, Happy,& Healthy)

160320934791

โดยเตรียมความพร้อมของคนทุกวัยเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า และเตรียมคนทุกวัยให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุกับเด็กทั้งสองวัยนี้เกี่ยวพันกันได้ ซึ่งโครงสร้างของครอบครัวไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ผู้สูงอายุกับเด็กต้องอยู่ร่วมกันและพึ่งพากันมากขึ้น เมื่อ ผู้สูงอายุและเด็ก ต่างคนต่างวัย ต่างสไตล์การใช้ชีวิตอายุยิ่งห่างกัน ยิ่งเกิดช่องว่างทางความคิดยิ่งต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย จนเป็นปัญหาใหญ่นำไปสู่การไม่ยอมรับของอีกฝ่าย

ซึ่งทางออกของปัญหาคือการจัดกิจกรรมระหว่างวัย สร้างความเข้าใจในความแตกต่าง ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับ และเคารพในความแตกต่าง แบ่งปันประสบการณ์และที่สำคัญคือ การร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ Happy Together Old and Young

160320937094

ขณะที่ เด็กชายสิรวิชญ์ สุบินมิตร อายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดสาลวัน  กล่าวว่า หลังจากได้ลองเข้ามาเรียนรู้ที่ชราแลนด์แล้ว ทำให้เข้าใจผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น และรู้ว่าผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง พร้อมทั้งยังได้เรียนรู้วิธีการดูแลคนแก่ว่าจะต้องทำอย่างไรให้พวกท่านมีความสุข และอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวได้แบบพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งตนจะเอาความรู้ที่ได้จากศูนย์การเรียนรู้ชราแลนด์กลับไปดูแลคุณย่าที่บ้าน และจะคอยช่วยเหลือคุณย่าให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่หาในห้องเรียนไม่ได้