ความหวัง ‘กลไกรัฐสภา’ ‘กุญแจดอกแรก’ ฝ่าวิกฤติชาติ

ความหวัง ‘กลไกรัฐสภา’  ‘กุญแจดอกแรก’ ฝ่าวิกฤติชาติ

ในที่สุดการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็เกิดขึ้น ท่ามกลางข้อสงสัยว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการเมืองได้จริง หรือจะเป็นแค่เวทีทะเลาะกันของฝ่ายการเมือง

สถานการณ์การเมืองที่กำลังคุกรุ่น จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมคณะราษฎร63 ที่แตกตัวกลายเป็น “ม็อบดาวกระจาย” ด้วย3ข้อเสนอหลัก ณ เวลานี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบในเร็ววัน

 เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนว่าหลายฝ่ายจับตาไปที่การใช้ “กลไกรัฐสภา” เปิดเวทีเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกในการฝ่าวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้น

ล่าสุดมีความชัดเจนมาจากทางฝั่งรัฐบาล ในการตราพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภาในการหาทางออกของประเทศ

ทั้งนี้มาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าอภิปรายดังกล่าวเป็นการอภิปรายทั่วไปโดย “ไม่ลงมติ”

เช่นนี้แน่นอนว่า ทุกฝ่ายจับตาและฝากความหวังไว้ที่ “สมาชิกรัฐสภา” ทั้ง750คน ที่จะต้องลดทิฐิ ลดลาวาศอก วางความต้องการส่วนตัว ความต้องการเฉพาะพรรคการเมืองบางพรรค หรือกลุ่มคนบางกลุ่ม เพื่อหันหน้ามาทางทางออกร่วมกันในเรื่องนี้

เมื่อ “รัฐสภา” กลายเป็นความหวังของวิกฤติครั้งนี้ ดังนั้นการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าที่แม้จะไม่มีการลงมติ

แต่การเปิดสภานัดพิเศษรอบนี้ ถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ มีการตอบโต้ ดีเบตกันด้วยเหตุผลมากกว่าจะเป็น “สงครามน้ำลาย”  เหมือนการอภิปรายหลายๆครั้งที่ผ่านมา

จริงอยู่ที่ “คำตอบของรัฐบาล” ณ วันนี้อาจจะยังไม่ใช่ความต้องการของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะข้อเรียกร้องทั้งการ “ยุบสภา”  หรือให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก หรือการ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่แม้แต่ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านอาทิ “สุทิน คลังแสง” ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(ประธานวิปฝ่ายค้าน) ยังบอกเองว่า “ทางรัฐสภาไม่สามารถพูดได้โดยตรง”

แม้ล่าสุดจะมีข้อเสนอจาก “ปิยบุตร แสงกนกกุล”   เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้ง “กมธ.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ก็ตาม

“สุทิน” ยังมองว่า หากมีการการตั้งเวทีนอกสภาขึ้นมาและเปิดโอกาสให้พูด ก็ต้องตีโจทย์ให้ได้ว่า การปฏิรูปเรื่องนี้คืออะไร? ต่างจาก “การล้มล้าง” หรือไม่? และต้องการปฏิรูปอะไร?  

ส่วนจะ “ทำได้” หรือ “ไม่ได้” สังคมจะมีคำตอบเอง!

นาทีนี้ข้อเรียกร้องที่พอจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้างคือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่ล่าสุดมีท่าทีมาจาก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับก่อนรับหลักการ ซึ่งบอกว่า คณะกมธ.ฯจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ให้เสร็จภายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ จากเดิมที่ของขยายเวลาพิจารณา15วัน ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนพ.ย. ซึ่งต้องมารอลุ้นสภาจะตอบรับข้อเรียกร้องของ “ม็อบดาวกระจาย” โดยเฉพาะการ "ปิดสวิชต์ส.ว." มากน้อยเพียงใด

 แต่อย่างน้อยการใช้กลไกรัฐสภาในครั้งนี้ควรที่จะเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็น “กุญแจดอกแรก” ที่นำไปสู่การปลดชนวนที่ก่อให้เกิดวิกฤติการเมือง ณ ขณะนี้

ดังนั้นการอภิปรายที่ “สร้างสรรค์” ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นเปิดทางสู่การ “สะเดาะกุญแจ” เพราะไม่เช่นนั้นแทนที่จะเป็นเวทีฝ่าวิกฤติ จะกลับกลายเป็นการใช้เวทีสภาเพื่อปาหี่แทน