สนพ.เผยโควิด-19 ดับฝันเอกชนนำเข้า 'แอลเอ็นจี' ปี 63

สนพ.เผยโควิด-19 ดับฝันเอกชนนำเข้า 'แอลเอ็นจี' ปี 63

สนพ. เผย เอกชนผู้คว้าใบอนุญาตจัดหาและนำเข้า LNG รายใหม่ อดนำเข้าก๊าซปีนี้ เหตุโควิด-19 ฉุดดีมานด์การใช้ก๊าซฯ เล็งปรับ 5 แผนพลังงานปีหน้ารวบเหลือฉบับเดียว ตามข้อเสนอสภาพัฒน์

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโย บายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สนพ.ได้รายงานถึงความคืบหน้าแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ ให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับทราบ โดยยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาให้เกิดความชัดเจน และไม่กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะการเกิดภาระไม่ใช้ก๊าซฯก็ต้องจ่าย(Take or Pay) เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางปรับโครงการก๊าซเสรี และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) พิจารณา ก่อนนำเสนอเข้าสู่การอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ต่อไป

 

“ก็ต้องคุยกับทุกฝ่ายให้ตกผนึกในทุกประเด็นที่รัฐมนตรีฯ ยังมีข้อสักถาม เช่น ถ้าเกิด Take or Pay จะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นแน่ และตามระเบียบ กกพ.ก็ต้องเป็นผู้เข้าไปดูแล ก็ต้องดูว่า จะมีกติกาอย่างไร เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นแน่ หากนำเข้าก๊าซฯเกิดกว่าที่กำหนด”

 

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ คาดว่าคงจะไม่เห็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ของผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) รายใหม่ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้า(ดีมานด์)ในประเทศลดลง หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อดีมานด์ก๊าซฯที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง แต่ทั้งนี้ ในปีถัดไปเชื่อว่ายังมีโอกาสนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นได้ในส่วนของ Shipper รายใหม่ เพราะหากพิจารณาปริมาณก๊าซฯส่วนเกินจากสัญญาซื้อขายก๊าซหลักที่เอกชนได้ลงนามไว้กับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) แต่จะมีปริมาณเท่าไหร่นั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมทั้งปริมาณ และจังหวะในการนำเข้า LNG

 

อีกทั้ง ปัจจุบัน ราคา LNG ระยะสั้นในตลาดจร (Spot LNG) ล่าสุด ในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับกว่า 6.6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวทำให้จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้น ดังนั้น ระดับราคา LNG ดังกล่าวยังไม่น่าจูงใจให้เกิดการนำเข้าในช่วงปลายปีนี้

 

สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ปัจจุบัน มี 5 ราย แบ่งเป็น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 2 ราย คือ ปตท. และกฟผ. และอีก 3 รายเป็นผู้ประกอบการเอกชน คือ กัลฟ์ฯ ,หินกองฯ และ บี.กริม ซึ่งเอกชนทั้ง 3 รายยังไม่มีการนำเข้า LNG เกิดขึ้น

ทั้งนี้ สนพ.เตรียมเดินหน้าปรับปรุงรายละเอียดใน 4 ร่างแผนพลังงาน หลังผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2561–2580 (AEDP 2018) แผนอนุรักษ์พลังงาน 2561-2580 (EEP 2018) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ 2561-2580 (Gas Plan 2018)

 

โดยให้ทบทวนการดำเนินงานทั้ง 4 แผนฯ ให้เป็นไปตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ) เสนอความเห็นไว้ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงเสนอให้มีการจัดทำแผนพลังงานในอนาคตโดยให้รวมเป็นแผนเดียว จากปัจจุบันมี 5 แผน คือ แผน PDP,แผน AEDP แผน EEP แผนGas Plan และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งอาจจะเรียกชื่อเป็น แผนพลังงานหลักของประเทศ และให้จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการในระยะ 5 ปี เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน จะมีจัดทำแผนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ เพื่อปรับแผนฯให้สอดรับผลกระทบโควิด-19 และจัดรับฟังความคิดเห็นในปีหน้า จากนั้นคาดว่า จะประกาศเป็นแผนพลังงาน ฉบับใหม่ในปี 2565 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – ก.ย. 2563) รวมทั้งสิ้น 129,932 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าภาคหลวง จำนวน 38,725 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ จำนวน 15 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย จำนวน 12,903 ล้านบาท ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต จำนวน 7,050 ล้านบาท รวมถึงภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง จำนวน 71,239 ล้านบาท โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปี 2563 ลดลง 21.88% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

 

โดยในช่วงปีงบประมาณ 2563 มีสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศที่ดำเนินการอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ โดยแบ่งเป็นแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลง และแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง โดยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ คิดเป็นปริมาณรวมอยู่ที่ 275.66 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งลดลง 7.86% เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

 

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมและปริมาณการผลิตปิโตรเลียมที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันตกต่ำ รวมถึงความต้องการใช้ปิโตรเลียมก็ลดลง

 

ขณะเดียวกันคาดว่าการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในปีงบประมาณ 2564 น่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันขณะนี้เริ่มทรงตัวในระดับที่ดีขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ