‘เด็กไทย’ Genใหม่เลือกเรียนยังไง? หาคำตอบกับ ‘โดม TCAS Coach’

‘เด็กไทย’ Genใหม่เลือกเรียนยังไง? หาคำตอบกับ ‘โดม TCAS Coach’

"เด็กไทย" ตกงาน เพราะเลือกเรียนไม่ตรงสายที่ตลาดแรงงานต้องการ จริงหรือไม่? "โดม-คมจักร คริมาธัญสร" วิทยากรและกูรูการศึกษา ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาด้านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลับมองว่ามายาคติชุดนี้ไม่เป็นความจริง

‘การศึกษา’ คือรากฐานแห่งชีวิต เมล็ดพันธุ์จะเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ ต้องถูกเติมเต็มจากระบบการศึกษาที่ดีทั้งสิ้น แต่สำหรับการศึกษาในประเทศไทยนั้น พูดถึงเมื่อไหร่.. นักวิชาการด้านการศึกษาเป็นต้องมีอาการเหมือนกลืนยาขมเมื่อนั้น เพราะปัญหาในแวดวงการศึกษามีซุกใต้พรมมากมายนับไม่ถ้วน

ปัญหาการตกงาน ก็เป็นหนึ่งในผลกระทบลูกโซ่ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า สถาบันการศึกษาไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง!

ไม่ใช่เด็กเขาไม่คิด แต่เขาคิดแล้วว่าเขาจะเข้าคณะอะไร จบมาทำอาชีพอะไรที่ตลาดแรงงานต้องการ แต่เมื่อเขาเรียนจบตลาดตรงนี้กลับไม่ต้องการพวกเขาแล้ว"

คมจักร คริมาธัญสร วิทยากรแนะแนวการเข้าศึกษาต่อที่เด็กๆ มัธยมปลายล้วนรู้จักกันในนาม ‘พี่โดม TCAS Coach’ กล่าวถึงการเลือกคณะเข้าเรียนต่อของเด็กมัธยมปลายในช่วง 3 ปีหลังว่า การที่กล่าวว่าเด็กเลือกเรียนแต่ที่ตนเองชอบ ไม่คิดถึงสายที่ทำงาน ไม่เป็นความจริงอย่างที่ทุกคนคิด

160313748120

  • TCAS Coach คืออะไร

ก่อนจะพูดถึงการเลือกคณะหรือวิธีการเทรนด์อาชีพให้ "เด็กรุ่นใหม่" หลายคนคงสงสัยว่า TCAS Coach คืออะไร? คำถามนี้ โดม ตอบว่าเราคือผู้สื่อสารด้านการศึกษา โดยเฉพาะระบบการสอบเข้าที่เรียกว่า TCAS

ประเทศไทยมีระบบการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยหลายระบบ แต่ละช่วงปีแตกต่างกันไป ซึ่งมีตั้งแต่ระบบ Entrance, Admissions และระบบล่าสุดที่ใช้กันคือ TCAS หรือเรียกชื่อเต็มว่า Thai University Central Admission System

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเข้าศึกษาต่อแบบใหม่ การเรียนรู้ต่อระบบนั้นจึงสำคัญ แต่ในเงื่อนไขของภาษาราชการที่เข้าใจยาก ทำให้เด็กๆ ที่เป็นบุคคลที่ต้องใช้ระบบนั้นหันหน้ามาพึ่ง กูรูทางด้านการศึกษา ที่สามารถตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับระบบให้พวกเขาเข้าใจได้

“ผมทำงานด้านการศึกษามาเป็นปีที่ 11 แล้ว โดยเริ่มจากบรรณาธิการข่าวการศึกษา แล้วผันตัวมาเป็นวิทยากรการศึกษาทั้งในเว็บไซต์ บรรยายในโรงเรียน เปิดบล็อกเกอร์ถามตอบ ในปี 2563 นี้ก็มาทำหน้าที่วิทยากรให้กับโครงการ Sahapat Admission ครั้งที่ 23”

เด็กแต่ละสมัยจะจำโดมในแบบต่างกัน ทั้งพี่โดม Eduzone พี่โดม AdmissionPremium.com และ โดม TCAS Coach ถึงชื่อเรียกจะต่างกัน แต่ภาพจำของการเป็นกูรูผู้ตอบสารพัดปัญหาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่เคยเปลี่ยน

“ด้วยภาษาของระเบียบการต่างๆ จากกระทรวง หรือจากมหาวิทยามันเข้าใจยากมาก เขียนภาษาเป็นทางการมากจนเด็กไม่เข้าใจ แล้วเรื่องการเรียนต่อมันสำคัญ เด็กก็เลยต้องการคนย่อยข้อมูลเหล่านี้ให้พวกเขาเข้าใจ นั่นก็คือหน้าที่ของผมและทีม เราก็นิยามตัวเองว่าเป็นสื่อได้ คือให้ข้อมูล พร้อมกับช่วยตอบปัญหาคาใจไปด้วย”

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา จากประสบการณ์ 11 ปี โดมมองว่า ระบบการศึกษาไทยมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และเด็กไทยไปไกลได้กว่าที่เราคิด ยิ่งเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ

  • เด็กยุคใหม่ต้องเป็นเป็ดที่บินได้

“คนยุคเก่าต้องเก่งด้านใดด้านหนึ่ง แต่ปัจจุบันมันต้องมีการบูรณาการ เคยได้ยินวลีที่บอกว่า 'เป็ดที่บินได้' ไหม? นั่นแหละคือสิ่งที่เด็กยุคใหม่เขาต้องเป็น ต้องเก่งหลายด้าน มีทักษะที่ต้องต่อยอดได้ไกล”

160318324952

ผู้ประกอบการเรียกร้องสกิลการทำงานที่หลากหลายขึ้น ภาษาก็ต้องได้ ไอทีก็ต้องได้ ดังนั้นเด็กต้องเก่งรอบด้านมากขึ้น ซึ่งมันกลายเป็นเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือเด็กอาจจะเหนื่อยกับการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่อีกด้านมันคือเรื่องดี เพราะสกิลต่างๆ มันต่อยอดได้เยอะขึ้น อย่างสมัยก่อนเราเรียนบัญชี ก็เน้นตัวเลขอย่างเดียว แต่ปัจจุบันไม่ได้แล้วต้องมีการฝึกภาษา ฝึกวิเคราะห์ข้อมูล ฝึกการสื่อสาร งานที่ออกมาถึงจะดีเยี่ยม ซึ่งเท่าที่ผ่านมาพวกเด็กเขาก็ทำได้

  • ปัจจัยการเลือกเรียนของเด็กยุคใหม่ อยู่ที่อะไร?

การเลือกเรียนในคณะหรือสายอาชีพในช่วงปีล่าสุดของเด็กมัธยมปลาย สิ่งที่สังเกตได้ชัดที่สุดคือปัจจัยทางด้านตลาดแรงงาน หรือปัจจัยด้านเศรษฐกิจ

“พวกเขาก็คิดนะว่าจบมาแล้วจะมีงานทำไหม ช่วงเดือนธันวาคมปี 2562 คณะเกี่ยวกับการบินยังติดอันดับที่คนสมัครมากอยู่เลย แต่พอมาปี 2563 คณะการบินคนสมัครน้อย เพราะโรคระบาดโควิด-19 มันเข้ามาทำให้น้องๆ ไม่เลือกที่จะเข้าการบิน หันไปหาคณะอื่นกันมากขึ้น”

นอกจากเรื่องจบไปจะทำอาชีพอะไรแล้ว น้องๆ ยังคำนึงถึงว่าคณะที่ตนเรียนนั้นมันต่อยอดได้แค่ไหน เมื่อก่อนถ้ายังจำได้คณะที่ติดหูคนทั่วไปก็จะเป็นครุศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แต่ในปัจจุบันคณะกลับหลากหลายขึ้น สัดส่วนในการสมัครแต่ละรอบก็ขึ้นลงไม่เท่ากัน

“มายาคติที่บอกว่าบัณฑิต "ตกงาน" เพราะเลือกงานบ้าง เรียนไม่ตรงสายบ้าง เรียนไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานบ้าง จริงๆ เวลาเด็กเขาเลือกเข้าคณะ เขาก็เลือกสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดนะ แต่เมื่อจบออกมาเทรนด์อาชีพมันเปลี่ยน ความต้องการมันเปลี่ยน อันนี้มันอยู่ในส่วนหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบถึงการรองรับแรงงานหรืออื่นๆ แล้ว ไม่ใช่ส่วนที่ต้องมาโทษเด็ก”

เรื่องเทรนด์อาชีพ เด็กๆ ก็ไม่ได้ละเลยที่จะดึงเอามาเป็นปัจจัยในการเลือกคณะเรียนต่อ ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดที่สุดคือ เทรนด์อาชีพ DATA SCIENCE ที่หน่วยงานภาครัฐโปรโมทว่าตลาดแรงงานกำลังต้องการ เด็กก็หันมาสนใจในอาชีพนี้เยอะขึ้น

160313734868

  • ค่าเทอม : ปัจจัยที่ไม่พูดถึงไม่ได้

การเลือกเรียนของเด็ก Gen ใหม่ มีความแตกต่างกับเด็กยุคเก่าเยอะพอสมควร โดยเฉพาะค่านิยมของการเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น

“ค่าเทอมที่มันเฟ้อขึ้นมากในทุกๆ ปี ทำให้เด็กตัดสินใจไม่ยากที่จะไปเรียนเอกชน ค่าเทอมของรัฐบาลบางแห่งมีราคาสูงเกือบเท่ากับเอกชนอยู่แล้ว อย่างเช่นคณะนิเทศศาสตร์บางแห่ง ค่าเทอมของสังกัดเอกชนอยู่ที่ห้าหมื่นกว่าบาท แต่ขณะเดียวกันค่าเทอมของมหาวิทยาลัยสังกัดรัฐบาลก็อยู่ที่สี่หมื่นกว่าบาทแล้ว ราคาไม่ต่างกันมาก”

แม้ว่าจะยังมีมายาคติของพ่อแม่บางส่วนที่บอกว่าอยากให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยรัฐมากกว่า แต่ก็ยังแบ่งเปอร์เซ็นต์ไว้สำหรับพื้นที่มหาวิทยาลัยเอกชนด้วยเช่นกัน เพราะราคาที่ต่างกันไม่มาก ตัวผู้เรียนเองก็ไม่คาดหวังกับมหาวิทยาลัยรัฐมาก สอบได้ก็เรียน สอบไม่ได้ก็ไปเอกชน

“มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งก็มีมาตรฐานสูง ไม่น้อยหน้ามหาวิทยาลัยรัฐ ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่ เทคโนโลยีต่างๆ พร้อมทั้งทำการตลาดดึงดูดให้เด็กมาเรียน”

160313749456

  • ปัญหาการศึกษา จุดแรกเกิดจากครอบครัว

จุดเริ่มต้นของปัญหาด้านการศึกษาใดๆ ก็ตาม.. มักเริ่มต้นที่ "ครอบครัว" จากประสบการณ์ที่โดมแนะแนวน้องๆ มาหลายปีพบว่า ความกดดันที่พ่อแม่ไปกดดันต่อลูก ทำให้เด็กเหล่านั้นไปไม่ถึงจุดที่ขีดไว้

“ผมเคยเจอเคสที่เด็กไม่ประสบความสำเร็จในการสอบเข้าคณะที่พ่อแม่คาดหวัง แล้วเขาก็รู้สึกผิดกับตัวเองว่าทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เก็บเนื้อเก็บตัวไปเลยก็มี ส่งผลถึงสุขภาพจิต หรือว่าเคยมีเคสแบบลูกสอบไม่ได้ พ่อแม่เป็นลมไปพร้อมกับลูกเลยก็มี”

ถ้าลูกและพ่อแม่เปิดใจคุยกันให้มากขึ้น รู้ว่าลูกมีศักยภาพด้านไหน มันจะเข้าใจกันมากขึ้น เวลาขึ้นไปบรรยายกับผู้ปกครอง ก็จะเน้นย้ำเสมอว่าการเข้าใจลูกจะช่วยลดความกดดัน ลดความเครียดของลูกในสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญได้ ถ้าคุณเข้าใจว่าเขาต้องการอะไรแบบไหน ก็จะช่วยส่งเสริมเขาได้

“ความเฟลจากพ่อแม่ทำให้ลูกเสียกำลังใจ ไปต่อไม่ถูก บางคนสอบได้คะแนนดี แต่พ่อแม่ยังกดดันเรื่อยๆ หรือบางคนเลือกพ่อแม่ ก็อาจจะทำให้เสียโอกาสบางอย่างไปเหมือนกัน ความเข้าใจของพ่อแม่ต่อลูกจึงสำคัญมากๆ 

ผมต้องย้ำว่าคำว่า "สนับสนุน" กับ "กดดัน" มันต่างกันนะ ถ้าเข้าใจกันในครอบครัว มันก็จะดันให้เด็กไปต่อได้ไกลขึ้น” โดม คมจักร ทิ้งท้าย