เปิดเกม รัฐซัดม็อบ “ชัตดาวน์” กทม. สกัดมวลชน “ดาวกระจาย”

 เปิดเกม รัฐซัดม็อบ “ชัตดาวน์” กทม.  สกัดมวลชน “ดาวกระจาย”

ผลพวงจากเหตุการณ์ 'สี่แยกปทุมวัน' ทำให้เกิดการชุมนุมในหลายจุดพร้อมกันในรูปแบบ 'ดาวกระจาย' เป็นแรงกดดันที่่ถาโถมมายังรัฐบาล

เป็นไปตามคาดเมื่อการชุมนุมยังคงมีต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. โดยสถานการณ์มามีจุดหักเหสำคัญ คือ การสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา แม้จะสามารถจับแกนนำการชุมนมได้บางส่วน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การชุมนุมในภาพใหญ่ยุติลงแต่อย่างใด ในทางกลับกันยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการชุมนุมมากขึ้นในหลายพื้นที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 17 ต.ค.ได้ทำการนัดชุมนุมที่จุดใหญ่ 3 จุด ได้แก่ ห้าแยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ แยกอุดมสุข ซึ่งล้วนเป็นจุดสำคัญของแต่ละมุมเมืองของกรุงเทพมหานคร กระทั่งลุกลามไปอีกหลายจุดในกทม. ทั้งแยกสามย่าน มหาวิทยาลัยรามคำแหงแยกแคราย ปริมณฑล

หน่วยงานภาครัฐอย่างตำรวจได้ออกมาเตือนและห้ามปรามการชุมนุมผ่านการแถลงข่าวเป็นระยะแต่ไม่ได้มีผลให้การชุมนุมลดลงแต่อย่างใด

การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรได้เริ่มเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ใน 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.การชุมนุมเป็นลักษณะดาวกระจาย เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าในจุดเดียว จนถูกสลายการชุมนุมเหมือนเมื่อวันที่ 16 ต.ค.และยังหวังลดทอนกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย เพราะมั่นใจว่าตำรวจไม่สามารถเข้าสลายการชุมนุมพร้อมกันทั้ง 3 จุดได้ และ 2.การชุมนุมแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน หากใครถูกจับก็ตาม การชุมนุมก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ 

ขณะที่ ภาครัฐ กลายเป็นฝ่ายตั้งรับทำได้แต่เพียงการพยายามตัดระบบการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้ามหานครทุกเส้นทาง โดยตอนแรกมีการปิดบางสถานีเท่านั้นแต่ต่อมาเมื่อคณะราษฎรประกาศสถานที่นัดชุมนุมชัดเจน จึงได้มีการสั่งปิดทุกเส้นทางในเวลาต่อมา จนส่งผลกระทบต่อการสัญจรของคนในกทม.และยังส่งผลให้ธุรกิจการค้าในย่านเศรษฐกิจต้องปิดบริการในเวลาต่อมา ชนิดที่เรียกได้ว่าชัตดาวน์ กรุงเทพมหานครชั่วคราว เพื่อไล่ล่าการชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร 63 ที่กระจายตัวกันไปตามจุดต่างๆ

นอกจากนี้ ผลพวงของการสลายการชุมนุมที่นำมาสู่การชุมนุมต่อเนื่อง เริ่มทำให้มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้กำลังจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม เริ่มตั้งแต่กลุ่มคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการเจรจา เพื่อป้องกันการสูญเสียและลดความรุนแรง 8 องค์การ-สโมสร มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ร่วมประณาม ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม เป็นต้น 

เช่นเดียวกับ กลุ่มภาคประชาสังคม จากทุกวงการ มากกว่า 100 คน นำโดย พลเอกสายหยุด เกิดผล วิทยากร เชียงกูล สมชัย ศรีสุทธิยากร ร่วมลงชื่อขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกตามรัฐธรรมนูญ และให้มีการคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่มีเวลาการบริหารประเทศช่วงเวลาหนึ่งพร้อมกับจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ดังนั้น ในภาพรวมตลอดทั้งวันจึงเป็นลักษณะที่รัฐบาลกำลังถูกดดันอย่างหนัก และเริ่มมีข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความรับผิดชอบกับความรุนแรงด้วยการเสียสละทางการเมือง 

ต้องรอดูท่าทีของนายกรัฐมนตรี หลังจากมีคำตอบ เมื่อ 16 ต.ค.ว่า "ไม่ออก" พร้อมทั้งถามกลับว่า ขณะนี้บ้านเมืองไม่สงบเพราะใคร แล้ววันนี้ผมทำความผิดอะไรหรือ ผมผิดอะไรหรือ”อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

เพราะการไล่ตามหลังม็อบรุ่นใหม่ ของรัฐบาล โดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่มักถูกปรามาสว่าม็อบโซเชียลได้ออกมาท้าทาย การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลยังไม่เกรง

หากสถานการณ์ยังขยายวงรุนแรงขึ้นย่อมหลีกเลี่ยงความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางการเมืองไม่พ้น นั่นอาจหมายถึงหายนะของรัฐบาลกำลังเริ่มต้น