ธปท.เปิดทางแบงก์พักหนี้ต่อ6เดือน

ธปท.เปิดทางแบงก์พักหนี้ต่อ6เดือน

ธปท.ออกประกาศสั่งแบงก์คงสถานะลูกหนี้ถึงสิ้นปี 63 หวังมีเวลาเจรจา  ชี้ ลูกหนี้รายได้ไม่ฟื้น เปิดทาง“แบงก์”พักหนี้ต่ออีก6 เดือนไม่เกิน มิ.ย.64 แนะลูกหนี้มีศักยภาพกลับมาชำระหนี้ปกติ  หวั่นหากเอสเอ็มอีพักหนี้ต่อทั้งหมด 9.5แสนล้านก ระทบสภาพคล่องแบงก์วูบปี

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า  หากดูเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินสินเชื่อ ไม่เกิน 100 ล้านบาท ที่เข้าสู่โครงการพักหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งสิ้น มีราว 1.05 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นยอดหนี้ 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้แบงก์รัฐ 4 แสนล้านบาท และลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ 9.5 แสนล้านบาท

เบื้องต้น ธปท.มีการออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์การจัดชั้นลูกหนี้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ถึงสิ้นปี 2563 (Stand stell) เพื่อให้ลูกหนี้สามารถใช้เวลาช่วงที่เหลือ หลังจากหมดมาตรการพักหนี้เอสเอ็มอีเป็นการทั่วไป 22ต.ค.นี้ ไปจนถึงสิ้นปี ในการเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ต่างๆกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยไม่ให้ลูกหนี้เหล่านี้กลายเป็นหนี้เสีย และเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้แบงก์เร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้

โดยหากลูกหนี้ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ หรืออาจจ่ายได้บางส่วน ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะกลับมามีรายได้เพิ่มขึ้น เพียงพอในการกลับมาชำระหนี้ระดับปกติได้ เช่นการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามความเหมาะสมของลูกหนี้แต่ละราย เพื่อไม่ใหม่กลายเป็นเอ็นพีแอล และอาจมีมาตรการอื่นๆตามความเหมาะสมต่อไป เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ 

ทั้งนี้ ท้ายที่สุด หากลูกหนี้ไปไม่ไหว รายได้ยังไม่กลับ ธนาคารพาณิชย์ก็สามารถพิจารณาพักหนี้ให้ลูกหนี้เป็นการเฉพาะเป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือนในเบื้องต้น นับจากสิ้นปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2564 ได้ แต่หากลูกหนี้มีรายได้ และมีกำลังในการชำระหนี้ ธปท.ก็อยากให้กลุ่มนี้กลับมาชำระหนี้ ไม่ควรพอกหนี้ไว้ เพราะจะมีภาระดอกเบี้ยอาจเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว

แต่อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า หากลูกหนี้เอสเอ็มอี ของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ที่ 9.5 แสนล้านบาท เข้าสู่โครงการพักหนี้ต่อ จากมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปที่จะหมด22.ต.ค. นี้ เชื่อว่า อาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินได้ เพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไประยะเวลานาน จะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระหนี้คืน และดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ หายไปถึง 2แสนล้านบาทต่อปี

ซึ่งสภาพคล่องที่ลดลง อาจทำให้แบงก์ไปเพิ่มต้นทุนในการกู้ยืมในอนาคตให้แพงขึ้นได้ เพราะแบงก์อาจบวกต้นทุนจากความไม่แน่นอน และความเสี่ยงของลูกหนี้เพิ่มขึ้น รวมไปถึง เมื่อสภาพคล่องของระบบธนาคารต่ำลง อาจทำให้การปล่อยสินเชื่อ หรือการให้สินเชื่อเพิ่มเติมในอนาคตอาจทำได้ยากมากขึ้น ดังนั้นอาจกระทบต่อคนหมู่มากในระบบเศรษฐกิจได้

“ทำไมเราถึงสนับสนุนให้แบงก์ออกมาตรการเฉพาะเจาะจง เป็นรายบุคคลมากกว่า การออกมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป เพราะเชื่อว่า หากลูกหนี้เข้าโครงการพักหนี้ไปนานๆ อาจยิ่งส่งเสริม ให้ลูกหนี้ไม่มีวินัยทางการเงินหรือ moral hazard ได้หากลูกหนี้มีพฤติกรรมแบบนี้เยอะ และหากลูกหนี้ที่ยังกลับมาจ่ายหนี้ไม่ได้ วันนี้แบงก์หามาตรการมารองรับที่เป็นมาตรการเฉพาะเจาะจงรองรับอยู่"

ทั้งนี้ จากที่ธปท.หารือกับธนาคารพาณิชย์ ราว 94% พบว่า มีเกินครึ่ง มีศักยภาพกลับมาจ่ายหนี้ได้ ดังนั้นที่มีคนกังวลว่าเราอาจเห็นลูกหนี้ตกหน้าผา เมื่อสิ้นโครงการ มีคนจำนวนมากที่ไปต่อไม่ไหว ก็อาจไม่ได้เป็นแบบนั้น และคาดว่าจะไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว หรือ Cliff effect หลังหมดมาตรการพักหนี้