'พักหนี้-กำไรทรุด'ทุบแบงก์ โบรก แนะเลี่ยงลงทุน หวั่นเอ็นพีแอลพุ่ง   

'พักหนี้-กำไรทรุด'ทุบแบงก์  โบรก แนะเลี่ยงลงทุน หวั่นเอ็นพีแอลพุ่ง   

"หุ้นแบงก์"ดิ่งหนัก กังวลงบไตรมาส3 -4 ทรุด  เหตุ ต้องตั้งสำรองเพิ่ม หลังสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้ "กสิกรไทย" คาด 7 แบงก์ สำรองเพิ่ม 5.4 หมื่นล้าน โบรก ชี้ ราคาหุ้นถูก แต่ยังแนะเลี่ยงลงทุน จากไร้ปัจจัยบวกหนุน

วานนี้ (14ต.ค.2563) พบความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ปรับตัวลดลงนำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่วงลง 3.75% มาอยู่ที่ระดับ 64.25 บาท หรือลดลง 2.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 886 ล้านบาท,รองลงมาคือธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KBANK ร่วงลง 3.67% มาอยู่ที่ระดับ 72.25 บาท หรือลดลง 2.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,813 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ร่วงลง 2.23% มาอยู่ที่ระดับ 8.75 บาท หรือลดลง 0.20 บาท มูลค่าการซื้อขาย 217 ล้านบาท

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์  บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า คาดหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลงมา เพราะ นักลงทุนกังวลงบไตรมาส3 ปีนี้ ที่กำลังจะทยอยออกมานั้นไม่ดี ทำให้นักลงทุนขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงไปก่อน ซึ่งในวันนี้  TISCO จะเป็นแบงก์แรกที่จะประกาศงบออกมา โดยบล.กสิกรไทย คาดว่ากำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส3ปีนี้จะอยู่ที่ 24,800 ล้านบาท ปรับตัวลลง 9.6% จากไตรมาสก่อน และ ปรับตัวลดลง45.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  และ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลง เพราะ แบงก์เน้นให้สินเชื่อกับบริษัทเอกชน (คอร์ปอเรท)ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และยังต้องช่วยเหลือลูกค้าในการให้สินเชื่อที่ต่ำด้วยทำให้ผลการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองในปีนี้ลดลง  และสำรองอยู่ในเทรนด์ที่เพิ่มขึ้น จากที่จะสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้ 

     ทั้งนี้บริษัทคาดว่า ในไตรมาส3 /2563กลุ่มแบงก์ (7 แห่งไม่รวม KBANK)จะมีการตั้งสำรองอยู่ที่ 5.06 หมื่นล้านบาท และคาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.4 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส4 ปีนี้ แบ่งเป็น SCB จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท  KTB  จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท  , BAY  1  หมื่นล้านบาท , BBL 6 พันล้านบาท , TMB  อยู่ที่ 7 พันล้านบาท , KKP ประมาณ 1 พันล้านบาท และที่เหลือ TISCO      

   

 นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)  กล่าวว่า  หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลง จากความกังวลการสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้ วันที่ 22 ต.ค. นี้ ซึ่งหากไม่ต่ออายุมาตรการจะส่งผลกระทบให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPL)ของกลุ่มแบงก์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าสูงขึ้น โดยคาดว่าในไตรมาส4 ปีนี้  NPL ของแบงก์ต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าไตรมาส3ปีนี้  ทำให้จะต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มในช่วงไตรมาส4ปีนี้  และมีโอกาสที่ไตรมาส4 ปี2563 แบงก์มีการตั้งสำรองมากที่สุดของปีนี้    ซึ่งมีผลต่อผลการดำเนินงานไตรมาส4 ลดลง ประกอบกับภาพเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว กระทบต่อการขอสินเชื่อลดลง ทำให้ผลการดำเนินงานกลุ่มแบงก์ซบเซาต่อไปจนกว่าที่จะมีการตั้งสำรองจบ โดยคาดปีนี้กำไรกลุ่มแบงก์อยู่ที่ 96,870ล้านบาท ลดลง41%จากปี2562 ที่164,744ล้านบาท  ส่วน ปีหน้าคาดอยู่ที่97,732ล้านบาท  เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และปี2565คาอยู่ที่133,038 ล้านบาท เพิ่มขึ้น36% แต่ยังไม่เท่ากับก่อนโควิด-19ระบาด 

 ทั้งนี้แม้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์จะปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับต่ำแล้ว แต่บริษัทให้น้ำหนักลงทุนเท่ากับตลาด (Neutral) เพราะ ยังไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนให้ราคาหุ้นขึ้นได้ จึงแนะนำให้หันไปลงทุนหุ้นกลุ่มอื่นที่มีปัจจัยบวกหนุน

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นแบงก์ที่ปรับตัวลงนั้นมีหลายปัจจัยลบเข้ามากดดันทั้งในส่วนของกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้ข้อสรุปการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาจ่ายปันผลระหว่างกาลได้ เพราะยังต้องรอผลการจัดทำแบบทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ประกอบกับยังมีความวิตกกังวลกรณีโครงการพักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ที่จะหมดอายุมาตรการลงและยังไม่มีโครงการใหม่ที่ชัดเจนออกมา รวมถึงแนวโน้มผลประกอบการงวดไตรมาส 3ปี2563 ที่คาดว่าจะออกมาย่ำแย่

    ขณะที่นอกเหนือจากปัจจัยเฉพาะกลุ่มแล้ว กลุ่มแบงก์ยังมีแรงกดดันจากประเด็นการเมืองภายในประเทศที่เริ่มร้อนแรงและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางและอิงกับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลักได้รับผลพวงตามไปด้วย