‘นอนแบงก์’ ยืดเวลาอุ้มลูกหนี้ ‘เงินติดล้อ-ทิสโก้’ ขยายแคมเปญดอกเบี้ยต่ำถึงท้ายปี

‘นอนแบงก์’ ยืดเวลาอุ้มลูกหนี้ ‘เงินติดล้อ-ทิสโก้’ ขยายแคมเปญดอกเบี้ยต่ำถึงท้ายปี

ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ขยายแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษถึงท้ายปี หลังแบ่งเบาภาระลูกหนี้ เปิดทางเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้น “เงินติดล้อ” ยืดแคมเปญดอกเบี้ย 0.88% ต่อเดือนถึงสิ้นพ.ย.ด้าน“ทิสโก้ ออโต้แคช”ต่อแคมเปญ “60 วันพักก่อน ผ่อนทีหลัง”ถึงสิ้นปี

ช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ “ค่ายสินเชื่อจำนำทะเบียน” เริ่มขยายเวลาแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษต่อไปอีกถึงสิ้นปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบดอกเบี้ยต่ำสุด นำเงินไปใช้แก้ปัญหา ฟื้นฟูกิจการหรือช่องทางทำกินของตนเอง เพื่อให้ทุกชีวิตหมุนต่อได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกัน

“เงินติดล้อ” ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ขยายแคมเปญดอกเบี้ยสินเชื่อทะเบียนรถทุกชนิดทุกคัน เหลือ 0.88% ต่อเดือน ได้วงเงินสูง ไม่ต้องใช้คนค้ำประกัน รับเงินสดทันที ไปถึง 30 พ.ย.นี้ เช่นเดียวกับ “ทิสโก้ ออโต้แคช” ขยายแคมเปญ 60 วันพักก่อน ผ่อนทีหลัง ดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.49% ต่อเดือน ยืดจ่ายคืนงวดแรกนานสูงสุด60วัน กู้ง่าย ไม่ต้องค้ำ ได้เงินไว ไม่ต้องโอนเล่ม ไปถึง 31 ธ.ค. นี้

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจมีความเปราะบาง ส่งผลให้สถาบันการเงินอาจมีมาตรการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลถึงประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระอาจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนและให้ลูกค้าเดินต่อไปได้ในปีนี้ เราจึงขยายเวลาแคมเปญดังกล่าว

160251785780

สำหรับจำนวนลูกหนี้ที่ช่วยเหลือ ณ สิ้นเดือนก.ย. 2563 มีราว150,000 ราย มียอดหนี้รวม18,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน1% ของลูกหนี้ที่ขอความช่วยเหลือทั้งหมด เรายังให้การช่วยเหลือตามปกติ โดยลูกค้าไม่ได้มีการร้องขอความช่วยเหลือพิเศษเข้ามา ดังนั้นจะมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ คงต้องดูความต้องการของลูกค้าในช่วงไตรมาส4นี้ก่อน

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่า ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ยังไม่จำเป็นต้องเร่งรัดออกแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษมาแข่งขัน แม้ในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งนอนแบงก์และแบงก์จะขยายระยะเวลาแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษหรือพักหนี้ เนื่องจากปัจจุบันดอกเบี้ยที่เราให้อยู่แข่งขันได้และยังสามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระลูกค้าเป้าหมายของได้ตามแผนได้อยู่เช่นกัน

ดังนั้น ช่วงนี้ยังดูตลาดอีกระยะหนึ่งเพื่อประเมินการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร เพิ่งเริ่มเพาะปลูก หากหลังจากนี้ได้ผลผลิตและราคาดีมีรายได้เข้ามาจึงไม่น่ากังวล อีกทั้งปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ขอความช่วยเหลือกว่า80% ชำระหนี้ได้ปกติแล้ว มีสัดส่วนน้อยเพียง 20%พอร์ตลูกหนี้ ที่ยังชำระหนี้ล่าช้าและปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ยังต้องติดตาม จากมาตรการช่วยเหลือตามแนวทางธปท. 

สำหรับนอนแบงก์สิ้นสุด ณ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีลูกหนี้มาขอความช่วยเหลือ 200,000 ราย เป็นสัดส่วน 8%ของพอร์ตลูกหนี้รวม คิดเป็นมูลหนี้6,000 ล้านบาท

“เราเชื่อมั่นว่ายังสามารถเติบโตได้ตามนโยบายที่วางไว้ตั้งต้นปี โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายเติบโต 20-25% ทั้งกำไร ยอดปล่อยสินและสินเชื่อคงค้าง ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส3 นี้ยังอยู่ระหว่างการทำงบการเงิน เนื่องจากครึ่งหลังของปีมานี้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้เงินดีกว่าครึ่งปีแรกและคาดว่าจะคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ตามเป้าไม่เกิน2%”

นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า

ปัจจุบันเรายังสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้เต็มที่ และดอกเบี้ยที่เราให้ยังแข่งขันและดูแลลูกค้าของเราได้อยู่ ขณะเดียวกันตอนนี้สถานการณ์กลับมาดีกว่าที่เราคาดไว้เดิม แต่ด้วยนโยบายของกลุ่มในปีนี้ค่อนข้างระมัดระวังอยู่แล้ว ดังนั้นเรายังต้องรอประเมินสถานการณ์ต่างๆที่ชัดเจนก่อน ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและความสามารถชำระหนี้ หากฟื้นตัวดีขึ้นและความต้องการใช้เงินยังมี ก็พร้อมที่จะจัดแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อลดภาระลูกค้าและสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือระยะ2 ให้ลดค่างวดผ่อนชำระสูงสุด 30% ของค่างวดเดิม หรือให้พักชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) สูงสุด 3 เดือน มีลูกหนี้เข้ามาสัดส่วนน้อย 10%จากมาตรการแรก 650,000 ราย

ทั้งนี้ แนวโน้มหลายธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกรุงศรี ออโต้ ยังพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง พิจารณารายกรณี ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) และในช่วงไตรมาสสุดท้าย “สินเชื่อเพื่อคนมีรถ” ยังคงเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของผู้บริโภคที่ต้องการเสริมสภาพคล่องอยู่แล้ว เพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยกัน