อุตฯเผยอิเล็กฯโตรับ5จี โควิดดันอาหารขยายตัว

อุตฯเผยอิเล็กฯโตรับ5จี โควิดดันอาหารขยายตัว

กระทรวงอุตฯ เผยไตรมาส 3 อุตฯอิเล็กทรอนิกส์โต 1.9% รับเทคโนโลยี 5จี อุตฯยาโต 5.2% ระบุโควิด-19 ส่งผลบวกอุตฯอาหารสำเร็จรูป

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อเร็วๆนี้ ได้รับทราบรายงานแนวโน้มอุตสาหกรรมสาขาสำคัญไตรมาสที่ 3/2563 ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า จะมีดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2.9% และ 1.9% ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลบวกจากวัฏจักรของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G Data Center และผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ซึ่งทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น

ส่วน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คาคว่าจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และกำลังซื้อในประเทศที่ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2563 คาดว่า ภาพรวมการผลิต การส่งออก และการนำเข้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะขยายตัวได้จากการที่คู่ค้าต่างประเทศหลายแห่งสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ และเริ่มมีคำสั่งซื้อมายังประเทศไทย

ขณะที่ อุตสาหกรรมยา คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.25% ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกคาคว่าจะขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม กัมพูชา ญี่ปุ่น เมียนมา และสิงคโปร์ อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยลบอย่างวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลงจากปัญหาภัยแล้ง เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และมันสำปะหลัง ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิตของโรงงาน รวมทั้งการบริโภคในประเทศยังชะลอตัวจากการบริโภคของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ตามไทยน่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทูน่าและซาร์ดีนกระป๋อง) นม สิ่งปรุงรส และอาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวอย่างต่อเนืองตามความต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่ยังรักษาระดับความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งในประเทศที่ยังคงมีการระบาดรุนแรงและประเทศที่สถานการณ์การระบาดส่งสัญญาณดีขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้ดี