บสย.เล็งแก้กฎหมายค้ำลงทุนนอก หวังเอื้อธุรกิจไทยเติบโต

บสย.เล็งแก้กฎหมายค้ำลงทุนนอก หวังเอื้อธุรกิจไทยเติบโต

บสย. เผย มีแนวคิดขยายเพดานการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับธุรกิจคนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศนอกเหนือจากการค้ำประกันในประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจคนไทย โดยจะต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดทางการทำธุรกิจดังกล่าว

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.มีแนวคิดที่จะขยายเพดานการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับธุรกิจคนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจคนไทย

เขากล่าวว่า บางอุตสาหกรรมของคนไทยในประเทศ อาจถูกเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรม Sun set เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า แต่เชื่อว่า ยังสามารถมีโอกาสในตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดของ CLMV ดังนั้น เราไม่ควรปล่อยให้ธุรกิจเหล่านั้นที่ถูกเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรม sun set ต้องล้มหายตายจากไป ทั้งที่ยังมีโอกาสอยู่ในที่อื่น

“เราจำเป็นต้องดึงตัวเอง ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะมิฉะนั้นอุตสาหกรรมที่ไม่มีอนาคตในประเทศ อาจต้องปิดตัวเองลงและกระทบต่อการจ้างงานในประเทศหลายล้านคน แต่อุตสาหกรรมเหล่านั้น ยังมีโอกาสในต่างประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานที่ยังต่ำกว่าไทย”

การทำ Cross boarder Guarantee สำหรับสินเชื่อของคนไทยที่อาจไปลงทุนใน CLMV จะช่วยให้นักธุรกิจที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายของบสย.ที่ปัจจุบันจำกัดเฉพาะการกู้เงินในประเทศและลงทุนในประเทศเท่านั้น

การแก้ไขกฎหมายของ บสย.โดยจะกำหนดให้กรณีที่นักธุรกิจคนไทย กู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศไทย เพื่อนำไปลงทุนใน CLMV สามารถมาขอค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.ได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้อยู่ที่การพิจารณาของ กระทรวงการคลัง

เขากล่าวว่า การเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ที่ต้องการไปลงทุนในต่างประเทศ บสย.อาจไม่จำเป็นต้องรับความเสี่ยงของการค้ำประกันไว้ทั้งหมดก็ได้ เพราะสามารถทำ Re-insurance ได้ เช่น หาก บสย.เก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันได้ 2 บาท อาจจะ re-insurance ไปให้คนอื่น 1 บาท ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงออกไป จากปัจจุบันที่ บสย.ซึ่งก็คือหน่วยงานของรัฐบาลรับความเสี่ยงเต็ม 100%

“หาก บสย.จะทำการค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ที่ลงทุนในต่างประเทศ ก็สามารถร่วมมือกับเอ็กซิมแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ ที่สนับสนุนการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศอยู่แล้ว เพื่อให้เอ็กซิมแบงก์เป็นกลไกในการช่วยดูแลร่วมกับ บสย.”

เขากล่าวอีกว่า ที่ผ่าน บสย.ดำเนินธุรกิจการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะปัจจุบันมา 30 ปี เหมือนเป็นการหาปลาในตลาดเดิมๆ ซึ่งในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมี บสย.ก็ได้ เพราะอาจมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอย่างอื่นที่ช่วยให้สถาบันการเงินลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้ได้ ยกเว้นในกรณีที่ต้องการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่มีปัญหาเท่านั้น แต่ในกรณีที่ธนาคาร ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ เช่นเป็นการลงทุนในต่างประเทศ ก็อาจขอให้ บสย.ช่วยค้ำประกันให้