บัตรทองต้องลุ้น VS ประกันสังคมไม่ครอบคลุม ...ทำไมต้องเลือก

บัตรทองต้องลุ้น VS ประกันสังคมไม่ครอบคลุม ...ทำไมต้องเลือก

เรื่องยกเลิกบัตรทองอาจฟังดูไกลตัวสำหรับคนที่มีสิทธิประกันสังคมหรือกลุ่มคนทำงานที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากบริษัท แต่จะเริ่มใกล้ตัวมากขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งเป็นวัยที่ค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้น !

ข่าวคราวเรื่องการยกเลิกบัตรทองช่วงนี้อออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศยกเลิกการเป็นคู่สัญญาของสถานพยาบาลที่พบว่ามีการทุจริตเพิ่มเติมอีก 108 แห่งในกรุงเทพฯ รวมแล้วในปีนี้มีการประกาศยกเลิก 190 แห่ง ส่งผลกระทบต่อประชาชนถึง 2 ล้านคน

เรื่องการยกเลิกบัตรทองอาจฟังดูไกลตัวสำหรับคนที่มีสิทธิประกันสังคมหรือกลุ่มคนทำงานที่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากบริษัทอยู่แล้ว แต่จะเริ่มใกล้ตัวมากขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งเป็นวัยที่ค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้น เนื่องจากสุขภาพร่างกายที่เริ่มถดถอยตามอายุ ในขณะที่สวัสดิการการรักษาพยาบาลที่เคยได้รับจากบริษัทหมดไป ส่วนสิทธิประกันสังคมนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะจ่ายเงินสมทบต่อหรือไม่ หากต้องการรับการคุ้มครองจากประกันสังคมอยู่ จะต้องจ่ายเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 5,184 ต่อปี และจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนอย่างสม่ำเสมอ หากไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือส่งเงินไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมอีกต่อไป

สำหรับบัตรทอง เดิมคือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทองเป็นสิทธิพื้นฐานสำหรับคนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิด โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิบัตรทองจะต้องไม่มีสิทธิประกันสุขภาพอื่นๆ จากภาครัฐ เช่น สวัสดิการข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม ซึ่งบัตรทองจะคุ้มครองตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (วางแผนครอบครัว ฝากครรภ์ ฉีดวัคซีน และการตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเป็นโรค)  การคลอดบุตร ทันตกรรม การตรวจ/การวินิจฉัย/การรักษาตั้งแต่โรคทั่วไปจนถึงโรคเรื้อรังหรือโรคเฉพาะทาง ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าอาหารและค่าห้องสามัญ การจัดการส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างหน่วยบริการ บริการแพทย์แผนไทย และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ซึ่งบัตรทองไม่จำกัดจำนวนครั้งและวงเงิน ต่างจากประกันสังคมที่มีข้อจำกัดพอสมควร เช่น ความคุ้มครองด้านทันตกรรมให้งบในการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนได้ไม่เกิน 900 บาท ประกันสังคมไม่ครอบคลุมการปลูกถ่ายไขกระดูก และการปลูกถ่ายไตหากเป็นโรคไตมาก่อน หรือแม้แต่การฟื้นฟูร่างกายหลังเข้ารับการรักษา มีเพียงเรื่องของการใช้ยาที่ระบบประกันสังคมจะสามารถใช้ยาได้ทั้งยาที่อยู่ในและนอกบัญชีหลักแห่งชาติ ในขณะที่บัตรทองจะสามารถใช้ได้แค่ยาที่อยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติเท่านั้น หากต้องใช้ยานอกบัญชีผู้ป่วยต้องดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นเอง ซึ่งหากพิจารณาเทียบความคุ้มครองระหว่างประกันสังคมกับบัตรทองแล้ว ถือว่าบัตรทองมีความคุ้มครองที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าระบบประกันสุขภาพเลย

อย่างไรก็ตามข้อเสียในการรับบริการจากบัตรทองที่เรามักได้ยินคือ ระยะเวลาที่ต้องรอคอยเพื่อได้รับการรักษา เช่น การตรวจสุขภาพทั่วไป ต้องใช้เวลารอคิวนานพอสมควรกว่าจะได้รับบริการ โดยผู้รับบริการบางท่านอาจต้องไปรอตั้งแต่เช้ามืดเพื่อให้ได้รับการบริการ เรียกว่าแค่ตรวจสุขภาพ เจาะเลือดทั่วไป ก็เสียเวลาไปเกือบทั้งวัน ยังไม่นับรวมถึงกรณีเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคเฉพาะทางที่อาจต้องทำนัดล่วงหน้า รอคิวเพื่อพบแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งบางทีอาจต้องนัดล่วงหน้าเป็นเดือนหรือนานกว่านั้น

ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ต้องการใช้สิทธิไม่สามารถเข้าถึงระบบนี้ได้เท่าที่ควร โดยจากการรวบรวมข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประจำปี พ.ศ. 2562 พบว่า ในประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรต่อแพทย์ 1 คน อยู่ที่ 1,674 คน ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2561 แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูงพอสมควร และยังไม่พิจารณาแยกย่อยไปถึงจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับระบบบัตรทอง นั่นแปลว่า แพทย์ 1 คน จะต้องให้การรักษาผู้ที่ใช้บัตรทองจำนวนมากขึ้นกว่าตัวเลขข้างต้นอีก ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่สถานพยาบาลจำนวน 190 แห่งที่เพิ่งถูกยกเลิกสัญญา และทำให้ผู้ใช้บัตรทองต้องย้ายสถานพยาบาล ซึ่งแม้หน่วยงานภาครัฐจะแจ้งว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าใช้บริการในหน่วยบริการของรัฐฯ ได้เลย แต่นั่นก็หมายความว่าจำนวนสถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับระบบบัตรทอง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่จำกัดอยู่แล้วจะยิ่งอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ลงไปอีก

นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ถือเป็นความท้าทายของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย หรือ บัตรทอง โดยจากรายงานของกรมกิจการผู้สูงอายุระบุว่า ในปีหน้า (พ.ศ. 2564) ประเทศไทยจะเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Complete Aged Society) (20%) และในปี พ.ศ. 2578 ไทยจะเข้าสู่ภาวะ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) โดยคาดการณ์ว่าจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่า หากประชาชนในกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิจากประกันสังคม และไม่มีประกันสุขภาพ จะมีแนวโน้มที่จะมีประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบบัตรทองจำนวนมากขึ้นกว่าในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า หรือบัตรทอง แม้จะมีความครอบคลุมหลากหลายด้าน แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าถึงอยู่พอสมควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะมีประกันสุขภาพภาคสมัครใจ เพื่อที่เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้บริการทางการแพทย์เราจะสามารถเข้าถึงบริการได้ทันท่วงที ซึ่งประกันสุขภาพในปัจจุบันมีหลากหลายแบบให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นแบบเหมาจ่าย แบบเฉพาะโรค ซึ่งค่าเบี้ยไม่ได้สูงอย่างที่คิดเสมอไป ขึ้นอยู่กับความคุ้มครองที่ต้องการได้รับ ยกตัวอย่างเช่น ประกันมะเร็ง ที่ค่าเบี้ยยังอยู่ในหลักพัน แต่ให้ความคุ้มครองหลักล้าน และค่าเบี้ยบางบริษัทยังคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นตามอายุอีกด้วย นั่นหมายความว่ายิ่งทำตั้งแต่อายุยังน้อย ค่าเบี้ยต่อปีจะยิ่งถูก

ดังนั้น ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะหันมาพิจารณาถึงประกันสุขภาพก่อนจะถึงวันเกษียณที่สุขภาพเสื่อมถอยลงกว่าวันนี้ หรือก่อนที่จะเจ็บป่วยจนบริษัทประกันไม่รับ และต้องเลือกระหว่างประกันสังคมที่ยังต้องจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องกับบัตรทองที่อาจต้องรอคิวนานจนพลาดโอกาสรักษาในเวลาที่เหมาะสมไป จะดีกว่าไหมหากวันที่เกษียณเรามีประกันสุขภาพที่ทำให้เราสามารถเลือกรับบริการจากแพทย์และโรงพยาบาลที่เราเลือกเองได้อย่างทันท่วงที

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected]  I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPTTM Wealth Manager