ปักหมุด 9 จ.เส้นทางท่องเที่ยว'กัญชา'เชิงสุขภาพ

ปักหมุด 9 จ.เส้นทางท่องเที่ยว'กัญชา'เชิงสุขภาพ

มทร.พระนครพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว'กัญชา'เชิงสุขภาพ พาชมขั้นตอนต้นน้ำ-ปลายน้ำ นำร่อง 9 จ.ช่วงม.ค.-มี.ค.64 ก่อนขยายครบ 26 เส้นทางในปี64 เสริมเศรษฐกิจชุมชนชุมชน ช่วงเปิดประเทศหลังโควิด19 คาดสร้างรายได้ระยะต้นราว 90 ล้านบาท

นายณัฐ ชรัตน์กฤตธน ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า มทร. พระนครได้ขับเคลื่อนกิจกรรมกัญชาภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ภายใต้แนวคิดกัญชาทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์กัญชาไทยสร้างสุขภาพ ยกระดับแหล่งท่องเที่ยว เสริมเศรษฐกิจไทย กิจกรรมขับเคลื่อนไปสู่การสร้างผลผลิตหลัก 4 ด้านที่มีศักยภาพสูง คือ การรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ และวิชาการ เชื่อมโยงยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข 13 เขตบริการสุขภาพ จึงมีการวางแผนดำเนินงาน โครงการท่องเที่ยวสุขภาพวิถีใหม่ "26 เส้นทางท่องเที่ยวกัญชาเชิงสุขภาพ" (Cannabis New Normal @ Alternative Health Tourism) ซึ่งจะมีการนำเสนอแผนเพื่อให้คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(บอร์ดเมดิคัลฮับ)ให้ความเห็นชอบเส้นทางและบรรจุเป็นแผนงานเข้าอยู่ในยุทธศาสตร์เมดิคัลฮับต่อไป


แผนการดำเนินหากได้รับความเห็นชอบในราวเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 จะเปิดตัว ปักหมุด 9 เส้นทางท่องเที่ยวกัญชาเชิงสุขภาพ ประกอบด้วย 1.จ.นครราชสีมา 2.จ.บุรีรัมย์ 3.จ.สกลนคร 4.จ.ระยอง 5.จ.พัทลุง 6.จ.ภูเก็ต 7.จ.เชียงใหม่ 8 จ.ลำพูนและ 9.จ.กาญจนบุรี จากนั้น ภายในปี 2564 จะขยายอีก 17 เส้นทางเพื่อให้ครบทั้งหมดประกอบด้วย 1.เส้นทางเชียงใหม่-เวียงป่าเป้า 2. เส้นทางเชียงราย 3.เส้นทางพิษณุโลก-ชาติตระการ 4.เส้นทางพิษณุโลก-เพชรบูรณ์ 5.เส้นทางกรุงเทพฯ - นครปฐม 6.เส้นทางกรุงเทพฯ - ปทุมธานี 7. เส้นทางเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ 8. เส้นทางชลบุรี 9.เส้นทางขอนแก่น 10. เส้นทางอุดรธานี 11. เส้นทางนครพนม 12. เส้นทางหนองคาย 13. เส้นทางปากช่อง - เขาใหญ่ 14 เส้นทางสระบุรี-ปากช่อง 15.เส้นทางอุบลราชธานี 16. เส้นทางกระบี่ และ17. เส้นทางกรุงเทพฯ

160230920360
กิจกรรมและจุดขายที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เมดิคอลฮับ คือ ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางนี้ จะได้สัมผัสตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ ตั้งแต่การเยี่ยมชมรูปแบบพื้นที่ปลูกกัญชา การรับบริการคลินิกบริการการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยที่มีแพทย์ผู้มีใบประกอบวิชาชีพในการตรวจรักษาและวินิจฉัยก่อนการสั่งใช้ยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมซึ่งเป็นตำรับที่ผ่านการอนุญาตแล้ว การรับบริการที่คลินิกบริการกัญชาทางการแพทย์ซึ่งเป็นคลินิกของแพทย์แผนปัจจุบัน โดยจะมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตในการใช้กัญชาทางการแพทย์ในการวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาตามโรคที่ได้รับอนุญาตสั่งใช้ยาจากกัญชา รวมถึงการบริการและจำหน่ายผลิตกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายและการท่องเที่ยวไปในเส้นทางเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวเส้นทางอื่นที่กำหนด


"เมื่อประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศ(Reopen)หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด19 สามารถใช้นโยบายการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ควบคู่ไปกับการสร้างแผนงานและกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนกัญชาทั้งในระดับเขตสุขภาพ จังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชนทั้งการปลูกกัญชา การวิจัยและแปรรูปกัญชา การใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้การขับเคลื่อน นวัตกรรมการปลูกกัญชาสู่ศูนย์วิจัย 13 เขตสุขภาพ ในเส้นทางท่องเที่ยวกัญชาเชิงสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นได้และมีความมั่นคงในด้านการผลิตวัตถุดิบจากพืชสมุนไพรและกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ดูแลสุขภาพประชาชนการให้บริการกับกลุ่มนักท่องเที่ยวและเกิดความยั่งยืนในด้านการสาธารณสุขของประเทศ คาดว่าใน 1 คนที่เดินทางท่องเที่ยวเส้นทางนี้จะมีการใช้จ่ายขั้นต่ำ 10,000บาทต่อครั้ง แต่ละเส้นทางน่าจะมีนักท่องเที่ยว 1,000 คนต่อปี ระยะแรก9เส้นทางจะสร้างรายได้ราว 90 ล้านบาท"นายณัฐกล่าว

160230922312

อนึ่ง ปัจจุบันกัญชาเป็นพืชสมุนไพรตามพรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางนิรโทษกรรมให้กัญชาเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้เพื่อการวิจัยพัฒนาและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มีระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2562 - 2567 โดยผู้มีสิทธิ์ขออนุญาตการผลิตนำเข้าส่งออกจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง คือหน่วยงานรัฐ ผู้มีใบวิชาชีพ สถาบันการศึกษาเอกชน สหกรณ์การเกษตร และเกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมได้เร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชนแ ละใช้ผลงานจากการวิจัยไปทำการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ผลิตภัณฑ์กัญชาหรือสารสำคัญจากกัญชาเพื่อจำหน่าย และกิจกรรมต่อยอดไปสู่การสร้างมิติทางเศรษฐกิจอื่น เช่น การท่องเที่ยวกัญชาเชิงสุขภาพ และการผลิตสารสำคัญที่มีมูลค่าสูงจากพืชกัญชาเพื่อการส่งออก