'ไออาร์พีซี' หันดึงนวัตกรรม พัฒนาองค์กรสู้โลกเปลี่ยน

'ไออาร์พีซี' หันดึงนวัตกรรม พัฒนาองค์กรสู้โลกเปลี่ยน

“นวัตกรรม” แปลว่าการทำหรือสรรสร้างสิ่งใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่บังเกิดสิ่งใหม่คือโรคโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่วิถีชีวิต นิว นอร์มอล

“นวัตกรรม” แปลว่าการทำหรือสรรสร้างสิ่งใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่บังเกิดสิ่งใหม่คือโรคโควิด-19  ซึ่งนำไปสู่วิถีชีวิต นิว นอร์มอล แม้จะยังไม่บทสรุปที่ชัดเจนทั้งเรื่องโรคระบาดหรือแม้แต่วิธีใหม่ แต่การนำนวัตกรรมมาสู่องค์กรธุรกิจคือคำตอบขององค์กรขนาดใหญ่อย่างไออาร์พีซี

นพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไออาร์พีซี ได้มุ่งเน้นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป จึงได้มุ่งไปสู่การผลิตเม็ดพลาสติก เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยใช้ฐานการผลิตในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้ครบวงจร

โดยล่าสุด ได้เร่งวิจัยผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษเพื่อผลิตผ้า Melt-blown ซึ่งเป็นแผ่นกรองอากาศที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งในขณะนี้มีไม่กี่ประเทศที่ผลิตได้ เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนอาเซียนยังไม่มีประเทศใดผลิตได้ หาก ไออาร์พีซี ผลิตได้ก็จะทำให้ไทยสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ทั้งหมด คาดว่าในช่วงต้นปีหน้าจะผลิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“การที่ไทยสามาสรถผลิตชิ้นส่วน Melt-blown ได้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อวงการสาธารณสุขของประเทศที่สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ทั้งหมดภายในประเทศ แต่ ผ้า Melt-blown นี้ ตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก"

160224248856

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คาดว่าจะยังคงอยู่กับทุกประเทศทั่วโลกอีกนาน จึงเป็นโอกาสของไออาร์พีซี ในการขยายตลาดไปสู่อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้วิจัยผลิต Kleanteq Mask หรือหน้ากากอนามัยที่มีมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย ต้านการเกิดไฟฟ้าสถิตย์ทำให้ป้องกันไม่ให้อนุภาคฝุ่นให้มาเกาะบนพื้นผิว และสามารถซักนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง โดยยังคงยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียได้ เคลือบสารกันน้ำ จึงป้องกันละอองน้ำที่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน และสวมใส่สบาย ซึ่งได้นำเทคโนโลยีกราฟีนมาเคลือนพื้นผิว โดยอนุภาคกราฟีนจะมาเกาะรวมกันที่ผนังเซลล์ทำให้การทำงานที่ผนังเซลล์เกิดความผิดปกติ และทำให้ผนังเซลล์ของแบคทีเรียแตกและตายในที่สุด รวมทั้งยังป้องกันฝุ่นขนาด 0.1 ไมครอนได้มากกว่า 70% ทำให้ป้องกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ 100% แต่ยังสามารถหายใจได้อย่างสะดวก ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์

ในส่วนของการผลิตชุดป้องกันไวรัสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์นั้น ไออาร์พีซีได้ผลิต Polypropylene (PP) Spunbond หรือ ผ้าสปันบอนด์ เป็นผ้าใยสังเคราะห์ที่ผลิตจากไฟเบอร์ผ่านกระบวนการควบกลั่นของเม็ดพลาสติก Polypropylene หรือ PP เกรดพิเศษที่ใช้ทางการแพทย์ โดยผ่านกระบวนการนำเส้นใยไฟเบอร์มาเรียงรวมกันแล้วพิมพ์นูน ขึ้นรูปจนกระทั่งมีผิวสัมผัสเสมือนผ้า เพื่อนำไปผลิตเป็นชุด PPE รวมถึง หน้ากาก เครื่องแต่งกาย และถุงครอบรองเท้า สามารถช่วยป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรค และลดโอกาสการติดเชื้อ มีคุณสมบัติยืดหยุ่น แข็งแรง ฉีกขาดได้ยาก เมื่อนำไปเคลือบสารกันน้ำด้วยความหนาที่เหมาะสม จะทำให้ผ้าสปันบอนด์ ดูดซับของเหลว สารคัดหลั่งและเลือด แต่ไม่สามารถซึมผ่าน

สำหรับ ไออาร์พีซี ยังได้วิจัยผลิตเม็ดพลาสติกเกรดทางการแพทย์ เพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สายน้ำเกลือ หลอดฉีดยา ฝาครอบตา ถุงน้ำเกลือ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าทางการแพทย์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทำให้มีความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไทยผลิตได้ตั้งแต่เม็ดพลาสติกก็จะทำให้การผลิตมีความครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำลดการพึ่งพาต่างชาติได้มาก

นภดล กล่าวว่า ไออาร์พีซี ยังได้มุ่งไปสู่การผลิตชิ้นส่วนพลาสติก เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์อื่น ๆ โดยได้ร่วมลงทุนกับบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นตั้งบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตชิ้นส่วนรถยนต์กลาสติกป้อนให้กับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ตามสูตรพิเศษที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ต้นทุนของลูกค้าต่ำลง ซึ่งในอนาคตรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องการชิ้นส่วนพลาสติกมากขึ้น เพื่อให้รถมีน้ำหนักเบา แต่ยังมีความคงทนแข็งแรง

นอกจากนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสังคม โดยล่าสุด ไออาร์พีซี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จากงาน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563” จากพลาสติกนวัตกรรมเพื่อคนพิการ ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยร่วมกับ “มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” โดย ไออาร์พีซี เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก Polypropylene Copolymer 3340H เพื่อมอบให้มูลนิธิขาเทียมฯ นำไปผลิตเบ้าขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาด ด้วยคุณสมบัติโปร่งแสง มีความยืดหยุ่น และมีความเรียบลื่น ทำให้มองเห็นเบ้าขาด้านในขณะทดลองสวมใส สามารถปรับแต่งให้พอดีมากยิ่งขึ้น จึงช่วบลดแรงกระแทกและการเสียดสี และลดแผยถลอกจากการสวมใส่ขาเทียม จึงทำให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีชึ้น

“นับตั้งแต่ได้ร่วมวิจัยกับมูลนิธิขาเทียมฯ เป็นเวลา 10 ปี ไออาร์พีซี ได้บริจากเม็ดพลาสติกสูตรพิเศษไปแล้วกว่า 20 ตัน ผลิตขาเทียมไปแล้วกว่า 2 หมื่นขา และจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น"

รวมทั้งยังได้ขยายการวิจัยไปสู่การผลิตแขนเทียม โดยเฉพาะการวิจัยผลิตเซ็นเซอร์ตรวจจัดสัญญาณไฟฟ้าจากเส้นประสาทที่แขนจับความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เพื่อผลิตแขนเทียมที่สามารถหยิบจัดได้ทดแทนแขนที่ขาดไป ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ต้องใช้เวลาการวิจัยอีกระยะ

ไออาร์พีซี ยังได้ผลิตนวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก HDPE เกรดพิเศษสีเทา มีคุณสมบัติช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ได้ถึง 5-8 องศาเซลเซียส ทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้ามีคุณภาพสูงขึ้น และยังทนต่อแสงยูวี ทนต่อแรงกระแทก รับประกันอายุการใช้งานถึง 25 ปี และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถนำมารีไซเคิลได้ โดย ไออาร์พีซี ได้นำทุ่นโซลาร์ลอยน้ำชนิดนี้ นำมาผลิตไฟฟ้าขนาด 12.5 เมกะวัตต์ ในบ่อน้ำดิบสำรองของบริษัทฯ บนเนื้อที่ 200 ไร่ ในเขตประกอบอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 10,510 ตันต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกป่า 1 หมื่นต้นต่อปี