Have Fund:กระจายลงทุนผ่าน5กองทุนระดับโลก

Have Fund:กระจายลงทุนผ่าน5กองทุนระดับโลก

คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่าโอกาสของการลงทุนในยุคปัจจุบันดูเหมือนจะอยู่ต่างประเทศมากกว่าในประเทศเสียแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มของบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งต้องยอมรับว่าในประเทศไทยยังมีให้เห็นน้อยเหลือเกิน

ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีในต่างประเทศกลับเติบโตและกลายมาเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและฐานลูกค้ากระจายไปทั่วโลก

หนึ่งในกองทุนที่น่าสนใจสำหรับการกระจายการลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเหล่านี้คือ การลงทุนผ่านกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล อัลฟ่า ฟันด์ หรือ MGA ซึ่งไม่ได้เลือกนำเงินไปลงทุนกับกองทุนใดกองทุนหนึ่งในต่างประเทศ แต่ใช้กลยุทธ์การกระจายเงินลงทุนไปยัง 5 กองทุน ได้แก่ BlackRock Global Funds – World Technology ซึ่งถือเป็นกองทุนหลัก ด้วยสัดส่วน 73.48%

ส่วนอีก 4 กองทุน ได้แก่ Polar Capital Funds – Global Technology สัดส่วน 7.98% Allianz China A Shares สัดส่วน 5.42% Wellington Global Quality Growth Fund สัดส่วน 4.82% และ Edgewood L Select US Select Growth I USD สัดส่วน 3.34% ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะใช้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

นโยบายหลักที่ MGA เลือกใช้เพื่อจัดสรรเงินลงทุน คือ การเน้นลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commission (IOSCO) หรือในประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE)

หากลองพิจารณาพอร์ตลงทุนของแต่ละกองทุน โดยในส่วนของ BlackRock และ Wellington รวมถึง Polar Capital ซึ่งเน้นการลงทุนไปในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี จะเห็นว่า 2 บริษัทหลักที่กองทุนเหล่านี้เลือกลงทุนคือ Apple และ Microsoft ส่วนหุ้นขนาดใหญ่อื่นๆ ที่แต่ละกองทุนเลือกลงทุนด้วยน้ำหนักที่แตกต่างกันออกไปเช่น Facebook, Amazon, Alibaba, Alphabet และ Tencent

ในขณะที่กองทุนอย่าง Edgewood L Select US จะเน้นการลงทุนไปในส่วนของ VISA, PayPal และ American Tower Corp ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มการเงิน แต่ก็มีความเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเช่นกัน และสุดท้ายคือ Allianz China A Shares เป็นกองทุนจีนที่ MGA สับเปลี่ยนเข้ามาแทนกองทุน Western Asset US Money Market ก่อนหน้านี้ เพื่อกระจายการลงทุนไปในหุ้นจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดี

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2562 กองทุนมีผลตอบแทนเป็นบวก 7 ปี และเป็นลบ 3 ปี โดยเฉลี่ยกองทุนให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.78% ต่อปี โดยที่กองทุนมีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลด้วย ส่วนผลการดำเนินงานระยะสั้นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนมีผลตอบแทน 39.77% เทียบกับค่าเฉลี่ยของกองทุนที่มีลักษณะใกล้เคียงกันที่ทำได้ 20.56% ส่วนผลตอบแทนนับแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 12.85% ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ไม่รวมเงินปันผล

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดคือ MSCI All Country World Net Total Return USD Index จะเห็นว่าส่วนมากแล้วผลตอบแทนรายปีของกองทุนจะทำได้ต่ำกว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าธรรมเนียมที่กองทุนจะต้องเสียให้แต่ละกองทุนที่นำเงินไปลงทุนด้วย ถือเป็นจุดด้อยที่นักลงทุนควรจะให้พิจารณาเช่นกัน

สำหรับความเสี่ยงของทุน MGA เคยมีผลขาดทุนสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ -24.42% ขณะที่ความผันผวนของผลการดำเนินงาน (Standard deviation) อยู่ที่ 13.01% ต่อปี โดยความเสี่ยงรวมของกองทุนอยู่ในระดับ 6 ซึ่งเป็นระดับเสี่ยงสูง จากทั้งหมด 9 ระดับ ส่วนค่าใช้จ่ายรวมที่กองทุน MGA เรียกเก็บอยู่ที่ 1.23% ต่ำกว่าเพดานที่กองทุนสามารถเรียกเก็บได้คือ 4.16% และมีค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน 0.25% ในกรณีที่ผู้ลงทุนถือครองต่ำกว่า 1 ปี

จุดเด่นของกองทุน MGA คือการกระจายลงทุนไปยังบริษัทระดับโลกได้ค่อนข้างทั่วถึง ด้วยการเลือกลงทุนในกองทุนใหญ่ถึง 5 กองทุน แต่ก็แลกมาด้วยค่าธรรมเนียมที่มากขึ้นซึ่งต้องจ่ายให้กับแต่ละกองทุน เท่ากับว่ากองทุนจะต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้ดีกว่าตลาดมาก เพื่อเอาชนะตลาดให้ได้ตามนโยบายแบบ Active management ที่ตั้งไว้