เปลี่ยนพลาสติกเหลือใช้ เป็นถนนลาดยาง

เปลี่ยนพลาสติกเหลือใช้ เป็นถนนลาดยาง

พลาสติกเป็นวัสดุอเนกประสงที่ได้รับความนิยม ตลอดเวลาหกศตวรรษ การใช้พลาสติกเติบโตไปอย่างรวดเร็วกว่าโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการกับขยะพลาสติกหรือรีไซเคิล ก่อให้เกิดปัญหาขยะ และหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม

ย้อนกลับไปในปี 2560 “กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย” ถือเป็น 1 ในภาคเอกชน ที่ได้เริ่มพัฒนาโครงการถนนพลาสติกขึ้นแห่งแรกในประเทศอินโดนีเซีย และขยายโครงการไปในหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย ไทย สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ปัจจุบัน ได้ทำการสร้างถนนพลาสติกแล้วกว่า 90 กิโลเมตร ใช้ขยะพลาสติกไปกว่า 200 ตัน เทียบเท่าถุงพลาสติกจำนวน 50 ล้านใบ

และ ในปี 2561 ได้ร่วมกับ  “เอสซีจี” พัฒนาเทคโนโลยีทำถนนจากพลาสติกรีไซเคิลทดลองในพื้นที่เอกชนหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นต้น เพื่อขยายผลไปสู่ถนนภาครัฐ แก้ปัญหาพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม

160215930936

กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงคมนาคม กำหนดแนวทางในการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ โดยให้นำต้นแบบจากภาคเอกชนมาต่อยอดและปรับใช้ในการดำเนินโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันศึกษาพัฒนาริเริ่มการใช้ประโยชน์ สร้างคุณค่าให้พลาสติกเหลือใช้

นำมาซึ่งพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทาง” ระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทาวหลวงชนบท กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เอสซีจี และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ในการศึกษาและพัฒนาการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานก่อสร้างทาง เพิ่มความแข็งแรง และยืดอายุการใช้งานของถนน ตอบโจทย์การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดคล้องตามนโยบาย BCG Economy (Bio - Circular - Green Economy) ของรัฐบาล

160215931117

โครงการดังกล่าว ได้มีการศึกษางานวิชาการ รวมถึงผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมโดย “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ตลอดจนกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้เข้ามาร่วมศึกษาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งพบว่าการผสมพลาสติกเหลือใช้ 8-10% สามารถช่วยลดการใช้ยางมะตอย ลดต้นทุน และถนนมีความแข็งแรงทนทานเท่ากับหรือดีกว่าเดิม ซึ่งหากโครงการฯ สำเร็จ จะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยต่อไป และหากเป็นโครการระยะยาวจะลดต้นทุนไปได้หลายหมื่นล้านบาท

“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินตามนโยบายของทางรัฐบาล ระหว่างดำเนินการจะมีการเก็บข้อมูลงานวิจัย ติดตามอย่างน้อย 1 ปี หากผลออกมาใช้งานได้ดี จะมีการขยายผลต่อไป สิ่งสำคัญ คือ ความร่วมมือกับเอกชนและชุมชนในการเก็บรวบรวมพลาสติกเข้าสู่ระบบเพื่อมารีไซเคิล

160215930577

ด้าน “ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย” ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่า โดยการจัดเก็บเข้ามาในระบบ กลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy โครงการถนนพลาสติก มีความแข็งแรงทนทานกว่าการใช้ยางมะตอยตามปกติ และยังเป็นประโยชน์ต่อการจัดการขยะ สิ่งสำคัญ คือ ทำให้ประชาชนเห็นว่า หากเราคัดแยกขยะ ขยะเหล่านี้สามารถนำมาทำถนนได้ และไม่ต้องจบที่หลุมฝังกลบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคัดแยกขยะ ยิ่งคัดแยกที่ต้นทางได้ยิ่งดี เป้าหมายของดาว คือ หยุดขยะพลาสติกไม่ให้หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม การร่วมมือกับหน่วยงานที่มีแนวคิดแบบเดียวกันจะสามารถเพิ่มผลกระทบเชิงบวกได้

สำหรับในส่วนของ เอสซีจี ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการจัดหาเศษพลาสติกเหลือใช้ อาทิ ชนิดและคุณภาพ รวมทั้งวิธีการแปรรูป อาทิ การล้าง บดย่อย และบรรจุ เพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน และเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถนำขยะพลาสติกจากองค์กรและชุมชนมาใช้ประโยชน์ในโครงนี้ได้

160215930516

“รุ่งโรจน์  รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี อธิบายถึงกระบวนการเก็บรวบรวมขยะพลาสติก เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นถนนว่า หลักการ คือ ทำถนนที่ไหนก็ใช้ขยะจากบริเวณนั้น ถือเป็นความร่วมมือในระดับท้องถิ่นในการจัดเก็บ คัดแยก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ เพราะการเก็บรวบรวมเพื่อนำมาทำถนนทั่วประเทศค่อนข้างยาก หากเก็บจากบริเวณอื่นการขนส่งจะซับซ้อน ดังนั้น ภาคเอกชน ภาครัฐ จึงต้องทำงานร่วมกับท้องถิ่น ในการคัดแยกและจัดเก็บ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการต่อไป

ทั้งนี้ถนนจากพลาสติกรีไซเคิล 1 กิโลเมตร หน้ากว้าง 6 เมตร ใช้ขยะพลาสติกราว 3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติกเกือบ 900,000 ใบ ปัจจุบันเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคเอกชนทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต้นแบบที่มีพลาสติกเหลือใช้ เป็นส่วนผสม รวมความยาวถนน 7.7 กิโลเมตร สามารถนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้ รวม 23 ตัน

160215930861

--------------

  • ม.เชียงใหม่จัดการขยะครบวงจร

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกสู่ภาคประชาสังคม เน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติ และพัฒนาสู่การเป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะ พลังงานสะอาด สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ขยายผลสู่การพัฒนาชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน

“ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า ที่ผ่านได้จัดทำ “โครงการศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร” เพื่อจัดการปัญหาขยะมูลฝอย โดยใช้เทคโนโลยีแบบบูรณาการ (Integrated Solid Waste Management) เน้นการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ครบวงจร ปราศจากของเสีย (Zero Waste) ขยายผลในหน่วยงานและชุมชน แปรรูปขยะเป็นพลังงานทดแทน (Waste to Energy) พร้อมกับริเริ่มโครงการนำขยะพลาสติกที่เหลือจากโรงคัดแยกขยะต้นแบบของมหาวิทยาลัย มาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีต เพื่อการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงข่ายถนนในมหาวิทยาลัย ขณะนี้ มหาวิทยาลัยได้ลงทุนในส่วนของห้องปฏิบัติการและโรงงานผลผลิตไปแล้วบางส่วน