รัฐดันกำลังซื้อ 2 แสนล้าน 'ช้อปดีมีคืน' กระตุ้นไตรมาส 4

รัฐดันกำลังซื้อ 2 แสนล้าน 'ช้อปดีมีคืน' กระตุ้นไตรมาส 4

ศบศ.เคาะ “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 หมื่นบาทต่อราย กระตุ้นบริโภค 3.7 ล้านคน ชง ครม.สัปดาห์หน้า ปรับเที่ยวด้วยกันในจังหวัดได้ “สุพัฒนพงษ์” คาด 3 มาตรการดันบริโภคไตรมาสสุดท้าย 2 แสนล้าน

คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งทยอยปรับปรุงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและเพิ่มมาตรการใหม่ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบศ.วันที่ 7 ต.ค.2563 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มการบริโภคเพิ่มเติมภายใต้ชื่อมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและส่งเสริมการอ่าน 

ทั้งนี้ จะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการกับผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท มีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มผู้ประกอบการค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP 

มาตรการนี้จะไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน โดยจะครอบคลุมวันที่ 23 ต.ค.–31 ธ.ค.2563 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ณ มี.ค.2564 โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1.2 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนใช้สิทธิ์โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ โครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ศบศ.กล่าวว่า เดิมกระทรวงการคลังทำข้อมูลข้อเสนอลดหย่อนภาษีสำหรับโครงการช็อปดีมีคืนให้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 50,000 บาท แต่ที่ประชุมหารือว่า 30,000 บาทต่อราย เป็นจำนวนที่เหมาะสม และทำให้รัฐบาลไม่ต้องสูญเสียรายได้มากไป โดยกระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันจันทร์ที่ 12 ต.ค.2563

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเพิ่มกำลังซื้อและการบริโภคถือเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องทำต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศที่กำลังเริ่มฟื้นตัวปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ โดยเม็ดเงินจากมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศจะทยอยลงสู่ระบบเศรษฐกิจและหมุนเวียน 2 แสนล้านบาท โดยมาจาก 3 มาตรการ ได้แก่ 

1.มาตรการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน วงเงินรวม 2.1 หมื่นล้านบาท 

2.มาตรการคนละครึ่ง 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เม็ดเงินที่รัฐบาลช่วยจ่ายให้ประชาชน 3 หมื่นล้านบาท และเงินที่ประชาชนใช้จ่าย 3 หมื่นล้านบาท

3.มาตรการช็อปดีมีคืน ซึ่งประชาชนนำค่าใช้จ่ายจากการใช้จ่ายสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน โดยคาดว่าจะมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 3.7-4.0 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1.2 แสนล้านบาท โดยภาครัฐสูญเสียรายได้ 1 หมื่นล้านบาท

“ในส่วนมาตรการการลดหย่อนและคืนภาษีไม่เกิน 30,000 บาทต่อราย เป็นตัวเลขที่ภาคเอกชนสะท้อนว่าเหมาะสม และจูงใจให้ประชาชนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในขั้นสูงสุดที่จะได้รับการลดหย่อนของแต่ละบุคคล โดยถ้าได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด 20% ก็จะใช้จ่ายเท่ากับจำนวนที่ได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีของตัวเอง” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว