ก.ล.ต.ชงแก้กม.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดช่องลูกจ้างกู้เงินออม

ก.ล.ต.ชงแก้กม.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดช่องลูกจ้างกู้เงินออม

ก.ล.ต.เสนอกระทรวงคลังแก้กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จ่อเปิดช่องให้ลูกจ้างสามารถกู้เงินจากเงินออมยามจำเป็นได้ หวังบรรเทาผู้ที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าปัจจุบันสำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงการคลังในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายหรือพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อเปิดช่องให้ลูกจ้างที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสามารถกู้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนที่เป็นการออมของฝั่งลูกจ้างเพื่อนำมาใช้เมื่อยามจำเป็นได้ ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลังจากผู้ประกอบการบางรายมีการลดการจ้างงานหรือลดเงินเดือน และทำให้ลูกจ้างหลายรายเกิดความเดือดร้อน

ทั้งนี้มองว่ากฎหมายในปัจจุบันยังไม่เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ จึงทำให้ที่ผ่านมาสำนักงานก.ล.ต.ทำได้เพียงเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกประกาศให้ลูกจ้างรวมทั้งนายจ้างสามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เป็นการชั่วคราวจนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนธ.ค.2563 โดยฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างที่ไม่ได้นำส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบในช่วงนี้ให้ถือว่าสถานภาพยังคงอยู่ และนับต่อเนื่องไปได้

ขณะที่รูปแบบการเปิดให้ลูกจ้างสามารถกู้เงินจากกองทุน PVD ได้นั้น เบื้องต้นพบว่ามีตัวอย่างในต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ที่เปิดให้ลูกจ้างที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสามารถทยอยนำเงินออกจากกองทุน PVD ได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของความคืบหน้านั้นหากกระทรวงการคลังเห็นด้วยในหลักการแล้วจะมีการกำหนดรายละเอียดต่อไป

“เราอยากเห็นความยืดหยุ่นของพรบ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น เพราะทุกวันนี้คงไม่มีใครทำงานที่เดียวตลอดชีวิต ซึ่งทำให้กฎเกณฑ์ต้องมีความยืดหยุ่นทั้งการต่อเชื่อมการออมของกองทุนต่อได้และเรื่องของการคิดเรื่องภาษี รวมถึงการทยอยนำเงินออมออกไปใช้ก่อนได้ ซึ่งในต่างประเทศเขาก็มีการเปิดให้ทำได้”


นางสาวรื่นวดี กล่าวต่อว่านอกจากนี้ก.ล.ต.เตรียมเสนอปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับที่ 7 (ฉบับใหม่) โดยมีประเด็นที่ต้องแก้ไขในหลายส่วน อาทิ ผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี, การจัดตั้งสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, การเสนอขายหลักทรัพย์ดิจิทัล, ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย, การคุ้มครองพยาน, ผู้ถือหุ้นรายใหญ่, ตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์, โครงสร้างองค์กรกำกับดูแลตลาดทุน และกองทุนเยียวยาผู้ลงทุน โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ในช่วงไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ของปี 2564

นางแขขวัญ โรจน์วัฒนกุล ผู้อำนวยการสายการตลาด ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่าสำหรับประเด็นดังกล่าวเชื่อว่ามองได้ 2 มุม ซึ่งในส่วนของมุมมองแรกเชื่อการแก้กฎหมายดังกล่าวอาจสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบันได้ โดยเลือกวิธีการกู้เงินจากกองทุนแทนการยกเลิกหรือลาออกจากกองทุน PVD ซึ่งอาจเสียโอกาสในการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณหรือเงื่อนไขเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง

ขณะที่มุมมองที่สองคืออาจมีคนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงหาโอกาสจากช่องทางนี้เอาเงินอนาคตไปใช้ก่อน ซึ่งผิดกับวัตถุประสงส์หลักของกองทุน PVD ที่ให้สมาชิกออมไว้ใช้ยามเกษียณหรือตอนออกจากงาน ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ก.ล.ต.กำหนดว่าตรวจสอบผู้ที่เข้ามาขอใช้สิทธิว่าตรงตามจุดประสงส์ในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้มากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตามคาดว่าหากมีการแก้กฎหมายดังกล่าวจริงก็อาจมีผลกระทบต่อเงินกองทุน PVD ให้มีขนาดเล็กลงบ้าง แต่เชื่อว่าคงไม่มากมายนัก เพราะเปิดให้ใช้สิทธิกู้เฉพาะคนที่จำเป็นจริงๆและคนที่กำลังคิดจะยกเลิกกองทุนเพื่อเอาเงินไปบรรเทาความเดือดร้อนก็สามารถมากู้ได้โดยไม่ต้องลาออกจากกองทุน ขณะที่ปัจจุบันกองทุน PVD ทั้งหมดมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท จากสมาชิกทั้งหมด 3.1 ล้านคน และในส่วนของบลจ.ทิสโก้ มีมูลค่ากองทุนกว่า 1.9 แสนล้านบาท จากนายจ้าง 4,600 ราย และจำนวนสมาชิกรวมกว่า 6 แสนกว่าคน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดทั้งในแง่ของขนาดกองทุน,จำนวนนายจ้างและสมาชิก

“มองว่าโครงการนี้หากสามารถคัดกรองคนที่มีความจำเป็นจริงๆได้ก็ถือว่าโอเค เพราะสามารถช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนได้จริงๆ ซึ่งคาดว่าสมาคมบลจ.จะประชุมกันเรื่องนี้ในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า”