‘ในเวียง – เชียงคาน’ ที่เที่ยวไทยติด Top 100 ยั่งยืนโลก

"เชียงคาน" และ "ในเวียง" ขึ้นแท่นสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก ปี 2563 ครั้งแรกของประเทศไทย
ข้อมูลจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ระบุว่า หลังจากพยายามปั้นความยั่งยืนสู่รูปธรรม ด้วยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก และแนวนโยบายของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อผลักดันแหล่งท่องเที่ยวไทยชิง TOP 100 ปีละอย่างน้อย 1 แหล่ง
ล่าสุด (วันที่ 6 ตุลาคม 2563) เทศบาลตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ทั้งสองแหล่งผ่านเกณฑ์คัดเลือก ได้รับการจัดอันดับบรรจุเป็น 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 ประจำปี 2563 ครั้งแรกของประเทศไทย หลังจากมีการปรับปรุงเกณฑ์การตัดสินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับครั้งนี้คือ ได้สร้างการรับรู้ในแบรนด์หรือชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวรอง นักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้รู้จักและเข้าสู่รายชื่อการเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางระดับคุณภาพ
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า เชียงคาน จังหวัดเลย และ ในเวียง จังหวัดน่าน อพท. ได้พัฒนาโดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ควบคู่ไปกับการนำ 4 นโยบายของ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ ความปลอดภัย ความสะอาด ความเสมอภาคเป็นธรรม และความยั่งยืน รวมถึงแนวนโยบายการบริหารงานของ อนันต์ ชูโชติ ประธานกรรมการ อพท. เข้าไปพัฒนาในรูปแบบบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาคเอกชน ทำให้เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในครั้งนี้ และนับเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมอีกขั้นหนึ่งของภารกิจ อพท. ในด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
สำหรับ “TOP 100” หรือ “Sustainable Destinations TOP 100” เป็นอันดับที่มอบให้แก่แหล่งท่องเที่ยวที่มีความพร้อมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดโดยหน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก ITB (Internation Tourism Borse) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
- เกณฑ์การตัดสินสุดหินกว่าจะติด Top 100
เกณฑ์การตัดสินแหล่งท่องเที่ยวแบ่งเป็นคะแนนจากการดำเนินการตามเกณฑ์บังคับ 30 ข้อและคะแนนจากการนำเสนอ Good Practice Story โดยในส่วนของ Good Practice Story แหล่งท่องเที่ยวต้องบอกเล่าหรือแสดงถึงเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ต้องการจะพัฒนา แสดงถึงการใช้นวัตกรรม หรือการนำนวัตกรรม หรือแนวทางปฏิบัติที่เคยมีอยู่แล้ว มาปรับใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และสุดท้ายแหล่งท่องเที่ยวนั้นจะต้องเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้แก่แหล่งท่องเที่ยวอื่น เรียนรู้และนำไปปรับใช้ต่อได้
ดังนั้นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการบรรจุสู่ "Sustainable Destinations TOP 100" เป็นการแสดงให้เห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวนั้น มีคุณภาพพอที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าคุณภาพ มีการกระจายรายได้ให้คนท้องถิ่น มีการปกป้องประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิต และปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ผู้ไปเที่ยวก็สบายใจ ชุมชน ประชากรที่อาศัยในแหล่งท่องเที่ยวก็สบายใจ
อย่างไรก็ตามทั้ง "เชียงคาน" จังหวัดเลย และ "ในเวียง" จังหวัดน่าน ทั้ง 2 แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว มีจุดเด่นคือความเข้มแข็งทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต เมื่อ อพท. ได้นำแนวทางการปฏิบัติของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก
ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านการบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงความปลอดภัย มิติด้านสังคม-เศรษฐกิจ ที่ต้องเติบโตไปพร้อมกัน มิติด้านวัฒนธรรม มีความงดงามในแบบวิถีชีวิตและมีคุณค่าของการสืบสาน และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่นอกจากการท่องเที่ยวจะใช้อย่างคุ้มค่า แล้วยังต้องเกิดการฟื้นฟูและรักษาให้คงอยู่ต่อไป
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021
เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%