แมคคินซี่ย์ ชี้ 5 แนวทางหลักฟื้นธุรกิจ จากวิกฤติโควิด

แมคคินซี่ย์ ชี้ 5 แนวทางหลักฟื้นธุรกิจ จากวิกฤติโควิด

เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประเทศใดสามารถหนีผลกระทบจากโควิด-19 ไปได้ ขณะที่ความสามารถในการปรับตัวของแต่ละประเทศ แตกต่างกันออกไป

โดยประเทศที่กำลังพัฒนาในอาเซียน(ไทย,อินโดนีเซีย,มาเลเซีย,ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม)อาจมีความพร้อมที่น้อยกว่าในการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น และโควิด-19 ได้เข้ามาเพิ่มความท้าทายให้กับประเทศเหล่านี้ยิ่งขึ้นไปอีก 

โดยมีผลการคาดการณ์ออกมาว่าประเทศในกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงด้านการเติบโตและอาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นในอีกหลายปีต่อจากนี้

จากผลการวิจัยล่าสุดของแมคคินซี่ย์ พบว่ามี5แนวทางหลักที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้แก่ การสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิต ,การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (green infrastructure) ,การลงทุนด้านดิจิทัล ,การเพิ่มพูนทักษะแรงงาน, และการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงวางรากฐานเพื่อรองรับการเติบโตที่จะขยายตัวในอนาคต

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและอุตสาหกรรมการผลิต ผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลกมีแนวโน้มกระจายเครือข่ายโลจิสติกส์จากประเทศจีนไปยังประเทศอื่นในอาเซียนมากขึ้น

ในส่วนของไทย รัฐบาลได้ประกาศนโยบายที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในองค์กรรัฐและรัฐวิสาหกิจ ริเริ่มให้มีการใช้รถเมล์ไฟฟ้าและมอเตอร์ไซค์รับจ้างไฟฟ้า รวมถึงตั้งเป้าผลักดันการสร้าง 100 เมืองอัจฉริยะภายใน 20 ปีข้างหน้า โดยการให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวถือเป็นก้าวสำคัญสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่การเตรียมความพร้อมแรงงานอาเซียนสู่อนาคตแห่งยุคดิจิทัล งานวิจัยของแมคคินซี่ย์ในไทยเมื่อปี2562ด้านอนาคตของการทำงาน ชี้ให้เห็นว่า ภายในปี2573จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมากกว่าตำแหน่งที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร งานใหม่เหล่านี้จะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะใหม่ๆ โดยคาดว่าประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลกว่า7ล้านคน นับตั้งแต่ปี2558ไปจนถึงปี2573

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มุมมองที่มีต่อเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้ตอบโจทย์ด้านกลยุทธ์ กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินงานประจำวัน ธุรกิจต่างๆจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการทำงานระยะไกล รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลั่งไหลมาใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

สร้างความสามารถในการปรับตัวด้วยการเสริมความมั่นคงทางอาหาร การแพร่ระบาดครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารด้วยกัน3ด้านหลัก คือ การสูญเสียรายได้ การเปลี่ยนช่องทางการขนส่งที่ส่งผลให้รูปแบบอุปสงค์เปลี่ยนไป และการชะงักของอุปทาน โดยเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศที่มีรายได้สูง

รัฐบาลในกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาในอาเซียนควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตเกษตรกรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผลผลิตท้องถิ่นทางการเกษตร และขยายภาคการเกษตรไปสู่ห่วงโซ่คุณค่าที่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูป บรรจุภัณฑ์ และการขายปลีก

+++

ผู้เขียนจากแมคคินซี่ย์ แอนด์ คอมพานี ได้แก่ คอชิก แดส หุ้นส่วนอาวุโส และประธานแมคคินซี่ย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นพมาศ ศิวะกฤษณ์กุล หุ้นส่วนอาวุโส และประธานแมคคินซี่ย์ ประเทศไทย และ รีเบคก้า โหย่ว หุ้นส่วนรอง สำนักงานสิงคโปร์