จัดระเบียบ เปิดโรดแมพ รับอนาคต 'ยานยนต์ไฟฟ้า'

จัดระเบียบ เปิดโรดแมพ รับอนาคต 'ยานยนต์ไฟฟ้า'

เปิด 8 แนวทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ปรับข้อกฎหมาย ยอดจะทะเบียน แปลงเกณฑ์รับจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นำร่องใช้งาน EV

แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ “อีวี” ยังต้องใช้เวลาอีกนาน จึงจะเรียกได้เต็มปากว่ามีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ และตลาดรถยนต์ไทย แต่ด้วยความทั้งโลกมุ่งหน้าไปในทิศทางนี้ ทำให้ทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่สามารถจะตกขบวนได้เช่นกัน 

ปัจจุบัน ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ มีมาตรการส่งเสริมการใช้งาน ด้วยอัตราภาษีสรรพสามิตพิเศษ การส่งเสริมให้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ขณะที่ภาคเอกชนก็เดินหน้าสร้างการรับรู้ พร้อมกับส่งสินค้าเข้ามาเจาะตลาดมากขึ้น โดยปัจจุบันมีนับสิบรุ่น แม้ว่ายังมีขนาดที่ยังเล็กมากแต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ระบุว่าปีนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. มียอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า 3,591 คัน ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วทั้งปี โดยแบ่งเป็นรถยนต์ 2,571 คัน รถจักรยานยนต์ 966 คัน รถโดยสาร 2 คัน และสามล้อ 52 คัน 

แม้ว่ายอดจำหน่ายยังน้อยมากจนไม่สามารถคิดเป็นสัดส่วนการขายต่อตลาดรวมได้ แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็มองว่า เราก็ต้องเตรียมความพร้อมรับกับอนาคนที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต 5 ปี 10 ปี หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้

กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมฯ คนใหม่ กล่าวในงานแถลงนโยบายของคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีวาระการทำงานระหว่างปี 2563 ถึง 2565 ว่า จะยังคงเดินหน้าตามแนวทางของสมาคมฯ ต่อไป โดยอยู่ภายใต้ 8 แนวทางหลัก คือ

1. การจัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV Roadmap) แบบบูรณาการ

2. พิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ เช่น ให้รถสามล้อไฟฟ้าเเละรถรับจ้างไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนได้อย่างเสรี

3. ส่งเสริมการใช้งาน เช่น ส่งเสริมให้ประชาชนซื้อรถในราคาที่เหมาะสมผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การลดภาษีส่วนบุคคล นิติบุคคล

4. ส่งเสริมการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

5. ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเเละการผลิต

6. จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง

7. เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน

8. ส่งเสริมพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งทั้ง 8 ข้อ มีหัวข้อย่อยลงไป โดยมีทั้งที่คืบหน้าและยังไม่คืบหน้า สิ่งที่คืบหน้าค่อนข้างจัดเจน เช่น ด้านข้อกฎหมาย ทั้งการผลักดันให้จดทะบียนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ท่ี่เห็นว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมอีวีในอนาคต หรือ การจดทะเบียนแยกประเภทระหว่าง รถไฮบริด (เอชอีวี) กับ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (พีเอชอีวี) ซึ่งท่ี่ผ่านมาการรวมตัวเลขทำให้ไม่มีข้อมูลที่แท้จริงว่ารถที่ต้องการสถานีชาร์จมีจำนวนเท่าไร 

นอกจากนี้ในหัวข้อ การส่งเสริมการใช้งาน ก็เริ่มมีความคืบหน้าเรื่องของการส่งเสริมป้ายทะเบียนเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ที่สมาคมฯ ทำงานร่วมกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อผลักดันให้มีป้ายทะเบียนที่แตกต่าง ซึ่งจะทำให้สังเกตได้ง่าย หากอนาคตมีมาตรการส่งเสริมการใช้งาน อีวี อื่นๆ นอกจากเรื่องภาษี เช่น การให้สิทธิพิเศษในช่องทางเดินรถพิเศษ ที่จอดรถรองรับ หรือแม้กระทั่งใช้ทางพิเศษฟรี เป็นต้น ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายๆ ประเทศใช้เป็นแรงจูงใจที่ได้ผลอยู่ในขณะนี้

160188026494

กฤษฎากล่าวว่า นอกจากนี้การที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐนำร่องใช้อีวี สัดส่วน 20% เพราะห็นว่าการเริ่มต้นที่ภาครัฐจะเป็นการนำร่องให้ตลาดเติบโตในอนาคต แต่ด้วยความที่อีวี เป็นสิ่งใหม่ ยังไม่เคยมีในบัญชีการจัดซื้อจัดจ้าง จึงต้องมากำหนดกฎเกณฑ์กันใหม่ โดยสมาคมฯ เข้าไปมีบทบาทในการให้ข้อมูลในการแปลงเกณฑ์เดิม เช่น ขนาดซีซี และแรงม้าของเครื่องยนต์ มาเป็นหน่วยของ อีวี ซึ่งคาดว่าจะสามารถกำหนดเกณฑ์ใหม่ออกมาได้เร็วๆ นี้ ทำให้การจัดซื้อ อีวี ในภาครัฐ เดินหน้าได้ 

ส่วนสิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการจากนี้ไป มีหลายเรื่อง และสิ่งที่เข้มข้นมาก ซึ่งมาจากการสำรวจผู้บริโภค คือ ความสะดวกในการใช้งาน เพราะหากระบบสาธารณูปโภคไม่ดีพอ ก็จะขาดแรงจูงใจในการซื้อรถ ซึ่งสมาคมก็จะส่งเสริมการติดตั้งสถานีชาร์จ และความสะดวกในการใช้งาน ในโครงการ “ชาร์จจิ้ง คอนซอร์เทียม” เพื่อให้สามารถชาร์จข้ามเครือข่ายได้ ลดความยุ่งยากลง 

“แต่ละค่ายมีระบบที่แตกต่างกันไป ผู้บริโภคก็ต้องเข้าระบบนั้นหรือโหลด แอพพลิเคชั่นของแต่ละผู้ให้บริการ ซึ่งยุ่งยากเพราะต้องโหลดหลายแอพฯ แต่โครงการนี้จะผลักดันให้มีแอพฯ เดียว แต่สามารถใช้บริการได้ทุกเครือข่ายที่เป็นพันธมิตร” 

รวมไปถึงการร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ให้แพร่หลายมากขึ้นกว่าปัจจุบัน รวมถึงโครงการแบตเตอรี สวอป หรือการเปลี่ยนแบตเตอรีลูกใหม่แทนลูกเดิมที่ไฟหมด ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาชาร์จไฟ และขณะเดียวกันก็จะส่งผลดีต่อราคารถ ที่ไม่สูงนัก เพราะลูกค้าซื้อแต่รถไปใช้ แต่แบตเตอรี เป็นลักษณะการเช่าใช้ ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะผลักดัน มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้ในอนาคต 

“สมาคมมีสมาชิกกว่า 190 ราย ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มีประสบการณ์และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เราทำงานเพื่อให้การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมส่งเสริมการใช้เเละพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ลดมลพิษและปัญหาสิ่งเเวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้” กฤษฎากล่าว