'ปิยบุตร' ข้องใจมธ.ไม่มีเสรีภาพ หลังขวางแกนนำม็อบขึ้นเวที 6 ตุลา

'ปิยบุตร' ข้องใจมธ.ไม่มีเสรีภาพ หลังขวางแกนนำม็อบขึ้นเวที 6 ตุลา

'ปิยบุตร' ข้องใจมธ.ไม่มีเสรีภาพ หลังขวางแกนนำม็อบขึ้นเวที 6 ตุลา มั่นใจส.ว.ยอมถอยพร้อมโหวตตั้งส.ส.ร.

เมื่อเวลา 10.40 น. ที่ตึกไทยซัมมิท นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมที่จะเกิดขึ้น ว่า ตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะนิสิต นักศึกษากลุ่มนี้จัดการชุมนุมมาแล้วหลายครั้งและดำเนินการมาได้ด้วยดี พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาจัดการชุมนุมอย่างผู้มีวุฒิภาวะ อยากฝากไปยังรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ว่าคนที่ออกมาชุมนุมมีเสรีภาพและปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง ดังนั้นจึงควรยุติกระบวนการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ที่ออกหมายจับหลังปล่อยให้มีการชุมนุม หากรัฐบาลนี้เข้มแข็งจริงและทำผลงานได้ดีจริง ตัวรัฐธรรมนูญ 2560 เอื้อประโยชน์ต่อท่านขนาดนี้ ท่านคงไม่ได้ล้มไปได้ในเร็ววัน ดังนั้น ควรเปิดให้พวกเขาใช้เสรีภาพจะดีกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่า การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง นายปิยบุตร กล่าวว่า ในท้ายที่สุดการชุมนุมจะได้ผลอย่างไร ตนคิดว่าแบบม้วนเดียวจบ ไม่ชนะไม่เลิกนั้นไม่น่าจะใช้ไม่ได้ในยุคสมัยปัจจุบัน แต่ตนเชื่อว่าการชุมนุมแต่ละครั้งได้ทำลายความชอบธรรมของการมีอยู่ของรัฐบาลสืบทอดอำนาจไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว หากพี่น้องประชาชนออกมาแสดงพลัง อย่างน้อยผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะต้องขบคิดเหมือนกันว่าท่านจะครองอำนาจแบบนี้ต่อไปอย่างนั้น หรือคืนอำนาจให้กับประชาชนแล้วเริ่มต้นสร้างกติกาแบบใหม่ เพื่อให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความปกติอย่างนี้จะดีกว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิดถึงลูกหลานในระยะยาว ตนคิดว่าควรจะออกไปได้แล้วหมดเวลาของท่าน แล้วมันนานเกินพอแล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 2519 ควรจะนำมาเป็นบทเรียนอะไรบ้าง นายปิยบุตร กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งนั้นคือการชุมนุมของนิสิตนักศึกษารอบนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการพูดถึงสถาบัน แต่ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมตกขอบกล่าวหาโจมตีไปไกลถึงขั้นพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ล้มสถาบัน แต่สังคมไทยเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมและเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม เราพิสูจน์แล้วว่า เราพูดกันตรงไปตรงมาถึงสถาบัน แต่สังคมไทยก็ยังยินยอมรับฟัง ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีหากเราคิดว่าเส้นทาง 44 ปีที่ผ่านมาสอนอะไรกับเรา ตนคิดว่าเรื่องนี้เราช่วยกันได้เยอะในการประคับประคองสถานการณ์ ไม่ใช่การเข้าไปยุยง ปลุกปั่น ให้แรงมากขึ้นกว่าเดิม แต่ควรสร้างพื้นที่สาธารณะให้มีการถกเถียงกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาต 3 แกนนำของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขึ้นเสวนาในงานครบรอบ 6 ตุลา 2519 ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคียงคู่กับการเมืองไทยมาสม่ำเสมอ กล่าวกันว่าเป็นพื้นที่ที่ให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงออกในทุกๆ ความคิดและทุกๆรสนิยมทางการเมือง แต่ครั้งนี้กลับมีการปิดกั้นไม่ให้ 3 คนนี้เข้าร่วมเสวนา หากไม่ให้เขาทั้ง 3 คนอภิปรายพวกเขาก็มีพื้นที่อื่นทั้งผ่านทางออนไลน์ การชุมนุม หรือสถานที่อื่นๆ ที่ให้อนุญาต ตนก็ไม่เข้าใจว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องปฏิเสธเช่นนี้ ทำราวกับว่าทางมหาวิทยาลัยไม่อยากยุ่ง ไม่อยากเกี่ยว ถึงกีดกันพวกเขาออกไป ตนคิดว่าวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องควรเปิดพื้นที่ให้พวกเขาพูดดีกว่าเพราะคนพูดจะรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขาพูดอยู่แล้ว

ขณะที่ ประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนคิดว่าดูจากทิศทางแล้วน่าจะเป็นไปได้ที่ในท้ายที่สุดหลังจากที่เคลียร์กับส.ว.เรียบร้อยแล้วส.ว. อาจจะยอมลงมติให้ในวาระที่ 1 ในร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นตนไม่แน่ใจ

นายปิยบุตร กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญให้มีส.ส.ร. อย่างเดียวน่าจะไม่เพียงพอเพราะกว่าที่จะได้ ส.ส.ร. หรือกว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็กินเวลานานหลายปี หรือเผลอๆ รัฐบาลอาจจะอยู่ครบเทอม เท่ากับว่าเราจะต้องอยู่กับระบอบประยุทธ์ที่สร้างมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไปเรื่อยๆ ดังนั้นนอกจากจะมีการให้ตั้งส.ส.ร. ขึ้น จะต้องแก้ในบางมาตราเพื่อล้างระบอบประยุทธ์ออกโดยระบอบประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกค้ำยันด้วย 1. ส.ว. 250 คน 2. องค์กรอิสระต่างๆ และ 3.แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ จึงต้องเอาส่วนนี้ออกไป เพราะตนเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่เราใฝ่ฝันว่าจะร่างกันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบประยุทธ์ และคงจะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่าร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับที่อยู่ในชั้น กมธ. ควรจะลงมติรับรองหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่าส่วนตัวตนเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะเรื่องส.ส.ร. เท่านั้นแต่จำเป็นต้องจัดการเรื่องส.ว. ด้วยอย่างน้อยๆ จะต้องปิดสวิตช์ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะหากตั้งเฉพาะส.ส.ร.ในท้ายที่สุดอาจจะเข้าข่ายเป็นการซื้อเวลา เพราะในร่างของรัฐบาลมีการแต่งตั้งส.ส.ร. จำนวน 50 คนด้วย และภายใต้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ก็ไม่ทราบว่าผลการเลือกส.ส.ร.จะออกมาเป็นแบบใด และหากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็เกรงว่าจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 พลัส ที่แต่งหน้าทาปากให้ดูดีกว่าเดิมขึ้นนิดหน่อย