‘ครู’ กับจิตวิญญาณความเป็นครู

‘ครู’ กับจิตวิญญาณความเป็นครู

เมื่อมีระบบโรงเรียนแบบตะวันตกเข้ามา แม้ครูมีวุฒิการศึกษาตามกระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนเป็นครูที่ดีได้ บางคนเรียนเก่งมากแต่สอนไม่เป็น บางคนอาจไม่เก่งมากแต่ถ่ายทอดได้ดี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ครูต้องมีคือ จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอยู่ในหัวใจ

ผมเขียนเรื่องครู โรงเรียน ตลอดจนเรื่องนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กและเยาวชน รวมถึงเรื่องเด็กเก่งเด็กไม่เก่ง เป็นบทความลง นสพ.หลายต่อหลายครั้ง บางทีแวะเวียนเข้าไปดูก็พบว่าถูกนำไปอ้างอิงในบทความอื่นๆ ทั้งส่วนตัวและหน่วยงานหลายแห่ง รู้สึกดีที่มีคนเห็น แม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด

เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อไม่กี่วันนี้ ทำให้สังคมกลับมาวิพากษ์เรื่องการจัดการศึกษาระดับโรงเรียนของเราอีกครั้ง ผมฟังทั้งจาก รมช.ศึกษาฯ ผอ.สำนักงานการศึกษาเอกชน รวมถึงความเห็นของแพทย์ นักจิตวิทยา นักการศึกษา ที่แสดงความเห็นกันหลากหลาย ก็เป็นมุมมองของท่านในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องเด็กๆ การเรียนการสอน การดูแลพฤติกรรมของเด็กวัยต่างๆ

ผมเองก็มีมุมมองของตัวเอง อย่างที่ผมเคยบอก แม้จะไม่ได้เป็นนักการศึกษา แต่รอบตัวผมตั้งแต่คุณพ่อ คุณแม่ น้องสาวอีกสี่คน และแม้กระทั่งผมเองก็เป็นครูอาจารย์ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนถึงมหาวิทยาลัย เรียกว่ามีความเป็นครูอยู่ในสายเลือด

จากประสบการณ์ที่เห็นทุกวัน และจากการศึกษาพบปะพูดคุยกับครูอาจารย์มากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ผมพบว่าจุดประสงค์และเป้าหมายของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก ในสมัยก่อน ก่อนมีระบบการศึกษาในโรงเรียน เราพัฒนาแบบธรรมชาติ เรียนรู้จากพ่อแม่ ผู้ใหญ่ เรียนรู้จากผู้รู้ เรียนที่วัดเรียนกับพระ จากผู้มีภูมิปัญญา พอเรามีระบบโรงเรียนแบบตะวันตก เรามีกระทรวงศึกษาธิการ เด็กๆ ถูกจัดเข้าระบบการศึกษาแบบตะวันตก ครูผู้สอนมีวุฒิทางการศึกษา การเรียนการสอนวิชาการต่างๆ เป็นไปตามที่ประเทศตะวันตกกำหนด จึงเกิดปรากฏการณ์ว่าคนทุกคนเป็นครูที่ดีไม่ได้ทุกคน

ทำไมหรือครับ...บางคนเรียนเก่งมาก แต่สอนไม่เป็น สอนไม่ได้ สอนไม่รู้เรื่อง เด็กๆ ไม่สนุกกับการเรียนกับครูแบบนี้ ในขณะที่คนที่อาจไม่เก่งมาก แต่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดี เด็กๆ เรียนรู้อย่างเข้าใจและสนุกกับการเรียนรู้ ผมจึงมองว่าการสอนเด็กให้เรียนรู้สร้างสมประสบการณ์ได้ดีนั้น ครูที่สอนน่าจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่ผมเรียกว่า...จิตวิญญาณ...ของความเป็นครู

แน่นอนว่าคนที่เรียนครูต้องเรียนวิชาบังคับหลายวิชาที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน การทดสอบ การแนะแนว จิตวิทยาเด็ก และอื่นๆ นอกเหนือจากวิชาการเฉพาะ หรือวิชาเอก แต่ถ้าคนที่เรียนครูไม่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอยู่ในหัวใจ ก็คงปฏิบัติตัวเพียงเท่าที่ครูจะต้องทำในฐานะครูหรือข้าราชครูเท่านั้น ส่วนเด็กจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่ตัวเด็กเองเป็นหลัก

เด็กทุกคนมาจากครอบครัวที่ต่างกัน บริบททางสังคมต่างกัน นอกเหนือจากเรื่องสติปัญญาที่ต่างกัน ดังนั้น แม้จะมีมือมีเท้าเหมือนกัน แต่ก็คงมีศักยภาพต่างกัน สิ่งที่ครูจะต้องลงไปทำก็คือการเข้าถึงจิตใจของเด็ก เข้าใจเด็ก และพัฒนาเด็กแต่ละคนในชั้นเรียน คนจะทำอย่างนี้ได้ไม่ใช่ทุกคน ต้องมีใจรัก มีจิตวิญญาณ

ปัจจุบัน โรงเรียนและสถาบันการศึกษาของเราได้ก้าวขึ้นมาเป็นรูปแบบใหม่ นั่นคือธุรกิจทางการศึกษา ไม่ใช่แค่โรงเรียนเอกชน แต่รวมถึงระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันเอกชน เมื่อเป็นธุรกิจก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนและกำไร โรงเรียนเอกชนจึงมีการจัดรูปแบบที่เน้นช่องทางการตลาด ตั้งแต่โรงเรียนเอกชนธรรมดาๆ มาเป็นโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเน้นภาษาต่างประเทศ โรงเรียนธุรกิจ โรงเรียนวิชาชีพ และอื่นๆ อีกมากมาย

โรงเรียนสมัยใหม่เน้นการอยู่รอด ผลกำไร การขยายกิจการ เจ้าของโรงเรียนแบบดั้งเดิมที่เน้นการเรียนการสอนให้เด็กเป็นทั้งคนดีคนเก่ง กลายเป็นโรงเรียนสมัยใหม่เน้นให้เป็นคนเก่งเป็นหลัก แข่งขันสอบเข้าสถาบันที่มีการแข่งขันสูงๆ ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยินดีจ่ายไม่อั้นเพื่อให้ลูกหลานของตัวเองขึ้นไปเหนือคนอื่น

การบริหารจัดการโรงเรียนก็ฉีกแนว จัดระดับครูและบุคลากรของโรงเรียนต่างกัน มีครูบริหาร ครูสอนวิชาการ ครูประจำชั้น ครูพี่เลี้ยง รวมถึงนักการต่างๆ ที่ทำหน้าที่เฉพาะเรื่องเตรียมอาหาร ทำความสะอาด รวมทั้งเรื่องที่พักที่อาศัย ที่นอน ที่เล่นและอื่นๆ วิธีการเช่นนี้ทำให้การบริหารโรงเรียนต้องลงลึกในรายละเอียดเรื่องต้นทุน การจัดการเรื่องต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนเด็ก

ผมมองเห็นปัญหาเหล่านี้ทั้งโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน ผิดกันแค่โรงเรียนของรัฐได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจากงบประมาณแผ่นดิน แต่โรงเรียนเอกชนก็ได้จากค่าเทอมและเงินพิเศษต่างๆ ที่เรียกเก็บ เพื่อพัฒนาเด็กให้เก่งเท่าหรือเก่งกว่าเด็กอื่น ก็ตรงนี้แหละที่เป็นต้นกำเนิดของการการกระทำที่ไม่ชอบ เกิดการทุจริตในเรื่องต่างๆ และกลายเป็นช่องทางให้คนจากภายนอกเข้ามาแสวงหาประโยชน์ จนเป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่เห็นๆ กัน 

ส่วนเรื่องของความเป็นครู หรือจิตวิญญาณของความเป็นครูก็ลดน้อยลง เหลือเพียงการทำหน้าที่ตามที่กำหนด ตามระเบียบ ตามเกณฑ์ ตามเงินเดือนค่าตอบแทน และตำแหน่งหน้าที่ เรื่องของจิตวิญญาณ ความรัก ความเมตตา สงสารห่วงใย ทุ่มเทเพื่อให้เด็กพัฒนาตัวเองกลายเป็นเรื่องรอง ไม่ใช่เรื่องหลักอีกต่อไป

ผมสนใจการศึกษาระดับโรงเรียนในหลายประเทศ ซึ่งมีระบบการศึกษาต่างกัน บางประเทศการเรียนการสอนเข้มงวดมากเช่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ขณะที่บางประเทศเน้นเรื่องการพัฒนาเด็กที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนในชั้นเรียน เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน การพัฒนาเด็กเป็นเรื่องของแต่ละคน ไม่เหมารวมทุกคนเหมือนกันหมด อย่างเช่นฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ แน่นอนว่าระดับของความเข้มข้นย่อมต่างกัน แม้แนวคิดจะไปในแนวทางเดียวกัน

โลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนนอกห้องเรียนต่างจากในชั้นเรียนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ กิจกรรมของเด็กนอกห้องเรียนที่สามารถสื่อสารกันได้กว้างไกล ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ แม้ว่าจะอยู่คนละพื้นที่ก็เกือบจะไม่เป็นอุปสรรค

ผมคิดว่าการศึกษาของเราได้ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว วัตถุนิยมรวมถึงเทคโนโลยี ทำให้การเข้าถึงกันเป็นเรื่องง่าย ในขณะเรื่องจิตวิญญาณกลายเป็นเรื่องที่ถดถอยลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จิตวิญญาณของความเป็นครู (Spirit of teachers) ในอดีต ก็เปลี่ยนเช่นกัน