นายกฯสั่งดัน"อีอีซี"ปลุกเศรษฐกิจประเทศ

นายกฯสั่งดัน"อีอีซี"ปลุกเศรษฐกิจประเทศ

นายกฯลงพื้นที่อีอีซี ประชุมร่วมเอกชนย้ำเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ เล็งดันแหลมฉบังเป็นท่าเรือนานาชาติเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ด้านดับบลิวเอซเอ เสนอตั้ง“ทีมเฉพาะกิจ”รัฐเอกชนดึงทุนนอกเข้าไทย ด้านพีทีทีจีซีลุยลงทุนอีอีซีเพิ่ม

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลเพื่อยกระดับประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต แต่หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระลอกแล้วระลอกเล่าทำให้ อีอีซี กำลังถูกตั้งคำถามถึงอนาคต กระทั่งวานนี้ (1 ต.ค.2563)พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรีเพื่อประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูง (CEO ) จากบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีและรับมอบรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก สายสีชมพูฯ - สายสีเหลืองฯที่เตรียมความพร้อมให้บริการประชาชนในปี 2565

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการประชุมหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารเอกชน นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนักลงทุนที่เชื่อมั่นและมีการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก 

โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมในอีอีซี จำนวน 277 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง54% ของคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ทั้งนี้ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในอีอีซีทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด รวมทั้งโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรม EECi ที่จังหวัดระยอง ได้ผู้ชนะการประมูลครบถ้วนแล้ว

สำหรับโครงการที่ต้องเร่งรัดและสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มเติมคือโครงการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติโดยพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ประกอบไปด้วย ท่าเรือบก (Dry Port) ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางถนน ลดความคับคั่งของท่าเรือ ด้วยการขนส่ง 2 ระบบ โดยเฉพาะทางราง โครงการเชื่อมโยงอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Land Bridge ด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งไทยเชื่อมด้วยถนน Motorway ราง และรถไฟ เพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ การขนส่งของประเทศและสามารถขยายศักยภาพเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและเอเชียใต้ และโครงการสะพานไทย 

โดยหลักการสำคัญที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับในการศึกษาทั้ง 3 โครงการนั้น ต้องสร้างความเชื่อมโยง ให้เห็นความคุ้มค่าในการลงทุน และเกิดผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจระหว่างทางด้วย โดยใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP เพื่อประหยัดงบประมาณเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ได้กำชับว่า การดำเนินการทุกอย่างโปร่งใส ไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ ทุกหน่วยงานต้องเร่งทำงาน ใช้ช่วงโควิด-19 เตรียมพร้อมประเทศ เสริมความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่สามารถเปิดรับเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านได้ทันที

160155808796

นายกฯรับข้อเสนอเอกชน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ในการประชุมฯกลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมได้นำเสนอแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลัก ๆ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. แนวทางการเปิดให้นักลงทุนเข้ามาเจรจา และลงนามสัญญาซื้อที่ดินในนิคมฯ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญช่างเทคนิคไม่สามารถเข้ามาติดตั้งเครื่องจักร และซ่อมบำรุงเครื่องจักรไม่ได้ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็ยืนยันจะไปหารือกันหน่วงยงานที่เกี่ยวข้องหาช่องทางที่เหมาะสมต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ต้องมีแนวทางรัดกุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ภายในประเทศ ส่วนข้อเสนอที่2. การหาช่องทางความร่วมมือประสานงานภาคอุตสาหกรรม ระหว่างรัฐบาลและเอกชน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่าใน ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ก็มีภาคอุตสาหกรรมอยู่ด้วยทำให้สามารถร่วมกันลงไปดูรายละเอียดและให้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมมีการหารือกันมากขึ้น เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญของการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนจากต่างชาติ จึงควรเร่งดึงดูดการลงทุน ซึ่งศบศ. จะเข้ามาช่วยดูในกลุ่มนี้ให้

3. การตั้งทีมเฉพาะกิจในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เพื่อออกไปดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา เพื่อร่วมกันเป็นทีมเดียวกันระห้างรัฐและเอกชน ซึ่งจะไปประสานงานหาแนวทางร่วมกันต่อไป โดยจะต้องมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.)ร่วมในทีมนี้ด้วย เพื่อออกไปดึงดูดนักลงทุนต่างชาติโดยตรง 

“นอกจากนี้ได้ข้อให้พิจารณาถึงเรื่องการขึ้นค่าน้ำขอบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ กับภาคอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนของประเทศ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดท่านนายกรัฐมนตรีก็จะลงไปดูในรายละเอียดเพื่อแก้ปัญหานี้”

160155810614

พีทีทีจีซี โอดอีอีซีที่ดินแพง

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า บริษัท มีนโยบายเดินหน้าขยายการลงทุนในอีอีซีต่อเนื่อง แม้ว่า 3 โครงการหลัก ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท คือ 1.โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) 2.โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) และ3. โครงการโพลีออลส์ (Polyols) จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างล่าช้าไปจากแผนไปประมาณ 2 เดือน เพราะผู้เขี่ยวชาญจากต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้แต่ขณะนี้ทั้ง 3 โครงการเริ่มทยอยเสร็จ และจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ปีนี้

“โครงการ ORP เริ่มคอมมิชชั่นนิ่งทดสอบเดินเครื่อง ส่วนโครงการPO ก็สตาร์ทแล้ว ขณะที่โครงการ Polyols ก็ผลิตของได้แล้ว ทั้ง 3 โครงการเกิดตามแผนแน่นอน”

นอกจากนี้ บริษัท ยังเดินหน้าศึกษาโอกาสขยายการลงทุนในอีอีซี เพิ่มเติม เพื่อต่อยอดโครงการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง          นอกจากนี้ สามารถตอบสนองนโยบาย New S-Curve ของภาครัฐ โดยในส่วนของโครการใหม่ๆ ก็เดินหน้าตามแผนงาน และศึกษาร่วมทุน เช่น แผนศึกษาร่วมทุนเม็ดพลาสติกมูลค่าเพิ่มสูง วงเงินประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เป็นต้น คาดว่า การลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น น่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่ ประมาณ 300-400 คน ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่ส่งเสริมการจ้างงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายคงกระพัน กล่าวอีกว่า บริษัท ในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในอีอีซี เตรียมเสนอนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แก้ไขปัญหาการจัดหาที่ดินภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้พื้นที่เต็ม และค่าเช่านิคมอุตสาหกรรมมีราคาสูง รวมถึง การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในระยะยาว ลดผลกระทบภัยแล้งที่เป็นปัญหาสำคัญด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการต่างๆเดินหน้าขยายการลงทุนในอีอีซ๊ต่อเนื่อง

บริษัทฯยังมีโครงการร่วมลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงใน 2 โครงการ ได้แก่ PA9T 13,000 ตันต่อปี และ HSBC 16,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2565 สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเกรดพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) และ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด (KGC) มูลค่าโครงการประมาณ 15,000 ล้านบาท

160155812314