15 ปี เอฟทีเอ อาเซียน-จีน ดันการค้าพุ่ง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

15 ปี เอฟทีเอ อาเซียน-จีน ดันการค้าพุ่ง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

พาณิชย์ เผย เอฟทีเอ อาเซียน-จีน 15 ปี ดันมูลค่าขยายตัว 345 % ขณะที่การค้าไทย-จีนก่อนหน้า พุ่ง 420 % หนุนผู้ประกอบการลุย หลังจีน ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า 95 % เตรียมประชุมทูตพาณิชย์เดือนต.ค.ปรับแผนการส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยระหว่างการสัมนา “1 ทศวรรษ เอฟทีเอ อาเซียน – จีน … ก้าวต่อไปของเอกชนไทยในแดนมังกร” ว่า ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ (FTA) อาเซียน-จีน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งภายใต้ความตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าว จีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าให้ไทยแล้วกว่า 95% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผัก ผลไม้ เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม สต๊าร์ชมันสำปะหลัง เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และน้ำยางธรรมชาติและสังเคราะห์ เป็นต้น

ส่วนไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าให้กับสินค้าจากจีนแล้ว 89% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผัก ผลไม้ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ส่งผลให้การค้าสองฝ่ายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน นับตั้งแต่ก่อนมีเอฟทีเอ ในปี 2547 จนถึงปี 2562 ขยายตัวถึง 420% มูลค่ารวม 8.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ได้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ฉบับนี้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง ทุเรียน ฝรั่ง มะม่วง มังคุด รถยนต์เอสยูวี และสตาร์ชมันสำปะหลัง

ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 79,440 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 16.46% ของการค้าไทยกับโลก ซึ่งจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 29,169.5 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีน 50,270.6 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

                ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 51,723.89 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.26% โดยไทยส่งออกไปจีน 19,625.27 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากจีน 32,098.63 ล้านดอลลาร์ ในปี 2562 การค้าระหว่างอาเซียน – จีน มีมูลค่า 641,470 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.1% จากปี 2561 โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน

                สำหรับเอฟทีเออาเซียน-จีน ตั้งแต่ปี 2548 -2562 มีมูลค่าการค้า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ขยายตัว 345 % โดยมีเป้าหมายการค้าอาเซียน-จีน คือ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการค้า ทำให้อาจจะต้องมีการปรับเป้าหมายการค้าใหม่

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ว่า ตลาดจีนถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น และมีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศอื่นยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกรมวางแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของจีนที่สำคัญคือ เร่งสร้างหุ้นส่วนพันธมิตรกับมณฑลไห่หนาน คาดว่าปลายปีหน้าจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม               

สำหรับกิจกรรมช่วงวิกฤตโควิด กรมจะผลักดันตลาดสินค้าและบริการยุคนิวนอร์มอล (New normal) โดยเน้นย้ำกลุ่มสินค้าด้านอาหารปลอดภัยและอาหารเพื่อสุขภาพ (Food Safety & Functional Food) กลุ่มสินค้าเกษตร ผ่านกิจกรรม sourcing และจับคู่การค้าออนไลน์ รวมทั้งเจาะตลาดผ่านการค้าออนไลน์ ทั้งแพลตฟอร์มพันธมิตร การเจรจาธุรกิจแบบออนไลน์ รวมทั้งใช้ KOL ในการแนะนำสินค้าไทย

                นายหยาง ซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า เอฟทีเออาเซียน-จีน ถือข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกของจีนและอาเซียน ซึ่งเป็นการยกระดับความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนและอาเซียน โดยไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกสำคัญของอาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาครั้งนี้ และยังเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้าเกษตร ก่อนหน้าเอฟทีเอ มูลค่าการค้าของจีนและไทยมีมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ และหลังจากเอฟทีเอมีผลบังคับใช้เกิดมูลค่าการค้าถึง 5 .2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 8.5 % และในปี 2562 มูลค่าการค้าสูงถึง 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้ในปีนี้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลค่าระหว่างจีนและไทยก็ยังเพิ่มขึ้น