พม. ถอดบทเรียนโควิด เตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัย

พม. ถอดบทเรียนโควิด เตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัย

พม. ชี้โควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งด้านลบ และ บวก ทั้งเด็ก ครอบครัว คนพิการ กลุ่มเปราบาง และผู้สูงอายุ แนะพร้อมรับสังคงสูงวัยปลูกฝังการออม ปรับสวัสดิการ พัฒนาระบบข้อมูล ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ด้าน อธิบดี ผส. ย้ำ ประเด็นหลักฝ่าโควิด-19 ต้องตื่นตัว เตรียมพร้อม สร้างนวัตกรรม สร้างเครือข่าย ขับเคลื่อนการทำงานด้านผู้สูงอายุ

วานนี้ (29 กันยายน) นางจินตนา จันทร์บำรุง หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำเสนอผลการถอดบทเรียนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายในเวทีอภิปรายวันผู้สูงอายุสากล “การดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ...บทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคต” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมแมนดาริน เพื่อรวบรวมเหตุการณ์สำคัญ ผลกระทบ การบริหารจัดการ บทบาท ภารกิจการดำเนินงานของพม. ในการรองรับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อนำองค์ความรู้ รูปแบบ ตัวอย่างที่เกิดขึ้น ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการ การกำหนดนโยบาย การวางแผน ในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ในภาวะวิกฤติ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และนำผลการศึกษาที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนา มาตรการ กลไก แนวทาง กระบวนการทำงาน เพื่อให้ พม. เป็นองค์กรหลักในการแก้ไขปัญหาสังคม

จากการศึกษาพบว่า โควิด-19 ส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็น “ผลกระทบเชิงลบ” ทั้ง เด็กเยาวชน ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ขาดนมผง ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม โดนชักจูงจากสื่อด้านลบ เกิดความเครียด การพัฒนาไม่ต่อเนื่องจากการที่สถานศึกษาปิด ด้านสตรีและครอบครัว เสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น เกิดความเครียด ขาดรายได้ ตกงาน ความไม่สะดวกเดินทาง

ด้านคนพิการ ครอบครัวต้องรับการดูแล เด็กพิการที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ถูกรังเกียจและกีดกันทางสังคม ไม่มีรายได้ ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ด้านคนไร้ที่พึ่ง ผู้ทำการขอทาน ประชาชนเกิดความกลัว ไม่วางใจต่อกลุ่มเป้าหมาย ผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์ เมื่อเกิดล็อกดาวน์ เกิดความเครียด ข้อจำกัดด้านสถานที่ ผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือลดลง บุคลากรไม่เพยงพอต่อผู้รับบริการ

“ผลกระทบเชิงบวก” พบว่า ด้านเด็กและเยาวชน อุบัติเหตุลดลง เรียนรู้เทคโนโลยีมากขึ้น ใกล้ชิดผู้ปกครองมากขึ้น เรียนรู้ทักษะในการเพิ่มรายได้จากเทคโนโลยี ด้านสตรีและครอบครัว มีการวางแผนการบริหารจัดการเงินในครัวเรือน มีการดูแลสุขภาพมากขึ้น นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต

ด้านคนพิการ เกิดมาตรการช่วยเหลือ สวัสดิการต่างๆ มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการป้องกัน เช่น หน้ากากใส มีการจัดทำฐานข้อมูลที่มีความชัดเจน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และ ด้านคนไร้ที่พึ่ง ผู้ทำการขอทาน ได้รับความรู้ คำแนะนำ ในการดูแลตนเอง มีการจัดทำฐานข้อมูลการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ เกิดรูปแบบการทำงานใหม่ อาทิ บ้านปันสุข

  • ผลกระทบเชิงลบ / บวก ต่อผู้สูงอายุ

สำหรับ “ผู้สูงอายุ” ผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ การป้องกันตัวเองจากโรคไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ หรือไม่สามารถทำได้เลย ในกรณีที่เป็นผู้ป่วย ขาดการเข้าถึงสิทิและการรักษาพยาบาลติดเตียง เกิดภาวะเครียด เนื่องจากความวิตกกังวลว่าจะติดเชื้อ เกิดภาวะซึมเศร้า เนื่องจากต้องใช้ชีวิตตามลำพัง และไม่ได้เจอลูกหลานที่ทำงานไกลบ้านเป็นเวลานาน ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุเป็นหัวหน้าครอบครัว พบปัญหาการขาดรายได้ และไม่สามารถเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวได้ รายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ ถูกเลิกจ้าง ได้เงินสนับสนุนจากบุตรหลานน้อยลง ขาดคนดูแลผู้สุงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ มีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพิ่ม และ การบริจาคเงิน สิ่งของให้ผู้สูงอายุภายในศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุลดลง

ด้าน ผลกระทบเชิงบวก ทำให้ได้ข้อมูลผู้สูงอายุที่ตกหลานหรือเข้าไม่ถึงสิทธิ์ มีการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุ ทำให้เกิดนวัตกรรม มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุ การเผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้ คู่มือด้านการดูแลและป้องกันผ่านทางเว็บไซต์ ทำให้การทำงานร่วมกันด้านสังคมและสุขภาพ โดยใช้องค์ความรู้ด้านสังคมและสุขภาพเน้นกลุ่มติดเตียงหรือ 5 โรค ในกลุ่มคนอายุ 70 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังเกิดมาตรการเยียวยาผู้สูงอายุ ลดผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลและเอาใจใส่มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ มีการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุ มีการถ่ายทอดภูมิปัญญา เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ผ่านทางออนไลน์ และ มีการส่งเสริมการฝึกอาชี การทำงาน และการประกอบอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พม. มีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้สูงอายุ อันได้แก่ ปรับการสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบากจาก 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท , เงินช่วยเหลือค่าจัดการศพผู้สูงอายุจาก 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท , จัดทำคู่มือมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 , การช่วยเหลือผู้สูงอายุในศูนย์ฯ , จัดที่รองรับผู้สูงอายุที่ตกงาน , การพักชำระหนี้ผู้สูงอายุ กว่า 4 หมื่นราย , ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ , ประสาน อพม. และ ทีม One Home พม. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ , ดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามกรณี , สื่อสารตรามสถานการณ์โควิด-19 และการเตรียมความพร้อมรับมือ และ จ่ายเงินเยียวยาผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 3.9 ล้านคน

สำหรับตัวอย่างที่ดี ที่ได้ดำเนินการมา ได้แก่ สถานดูแลผู้สูงอายุต้นแบบ บ้านบางแค , การสร้างเครือขายความร่มมือขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ เพื่อให้คนพิการและผู้สูงอายุ ได้รับบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ทันสมัย โดยเฉพาะการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ (New Normal) , จัดทำคู่มือมาตรการป้องกันโควิด-19 , แนวทางการดูแลผู้สูงอายุออนไลน์ , แนวทางการดูแลผู้สูงอายุในช่วงโควิดแบบอีบุ๊ค , สอนอาชีพออนไลน์ผ่านยูทูป 10 อาชีพ และโรงรเยนผู้สูงอายุทางอากาศออนไลน์ รวมถึง อบรมเยาวชน เพื่อเป็นอาสาสมัครไปเยี่ยมผู้สูงอายุตามบ้านอีกด้วย

นางจินตนา กล่าวต่อไปว่า สำหรับ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนั้น 1. ควรพัฒนาข้อมูลด้านผู้สูงอายุ เนื่องจากปัญหาที่พบมากที่สุดคือข้อมูล และควรทำทุกกลุ่มไม่เพียงแค่ผู้สูงอายุ เพื่อง่ายต่อการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม 2. ขับเคลื่อนนโยบาย ความร่วมมือ เพื่อพัฒนางานสังคม โดยการลงพื้นที่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทาง พม. ได้ทำการลงพื้นที่ร่วมกับกรมอนามัย และ กระทรวงแรงงาน ต้องดูว่าต่อไปว่าจะพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพื่อพัฒนาผู้สูงอายุในไทย

3. การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ โดยควรปลูกฝังเรื่องการออม ตั้งแต่วัยเด็ก 4. การส่งสเสริม และพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ โดยปัจจุบัน มีโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ 5. ระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ช่วยเหลืออย่างยั่งยืน ดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และ 6. การขับเคลื่อนมาตรการระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งครอบคลุมทั้ง การสร้างระบบคุ้มครอง และสวัสดิการ การทำงานสร้างรายได้ ระบบสุขภาพรองรับสังคมสูงวัย ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนให้ปลอดภัย การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่เตรียมพร้อมทุกมิติ และธนาคารเวลา

ด้าน นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำงานของกรมฯ ที่ผ่านมา สิ่งที่บอกเสมอ คือ การตื่นตัว เป็นความสำคัญประการแรก สร้างความตระหนัก โดยไม่ให้เกิดความตระหนก ทั้งบุคลากรและผู้รับการดูแล ผู้สูงอายุต้องเข้าใจว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ต้องเปิดกว้างรับข่าวสารต่างๆ ในสังคม และปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นแนวทางในการป้องกันตนเอง

ถัดมา คือ การเตรียมการ ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตนอย่างไร ทำความสะอาดสถานที่ เตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน บุคลากรปฏิบัติตัวอย่างไร การวัดไข้ เว้นระยะห่าง จัดอาหาร เตรียมการตามมาตรการ ที่กระทรวงกำหนดไว้ รวมถึงประสานเครือข่าย เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน จัดทำคู่มือ ให้ความรู้ในการดูแล ตนเอง ดูแลความสะอาด การปฏิบัติตนในครอบครัว รวมถึง ด้านนวัตกรรม ซึ่งได้มีความร่วมมือกับ วช. ในการพัฒนา เทคโนโลยี ดูแล ลดการสัมผัสโดยใช้เทคโนโลยี หุ่นยนต์ ในการส่งยา โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว คาดว่าจะสามารถลดความเครียด ให้แก่ผู้สูงอายุได้อีกด้วย

“นอกจากนี้ กรมฯ ยังสนับสนุนในการพัฒนาด้านระบบการคิด โดยเรามองว่า ในสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสเรามีระบบของการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ ดูแลซึ่งกันและกัน เป็นจุดที่น่าจะดึงให้เกิดพลังในสังคม เป็นวิถีใหม่เพื่อขับเคลื่อนภารกิจในอนาคต ทางกรมฯ ได้ทำงานร่วมกับสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในการขับเคลื่อน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นกำลังเสริม ดูแล ให้ความรู้ ประสานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้กำลังใจ แบ่งปันในชุมชน เพราะการอยู่โดยลำพังไม่อาจทำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าและขยายผลต่อไป”