สปสช.ยกเลิกคลินิก-รพ.บัตรทองอีก 108 แห่ง

สปสช.ยกเลิกคลินิก-รพ.บัตรทองอีก 108 แห่ง

สปสช.ยกเลิก“คลินิก-รพ.บัตรทอง”อีก 108 แห่ง มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ มูลค่ารวม 198 ล้านบาท ย้ำทุกคนยังมีสิทธิบัตรทองเหมือนเดิม ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับบริการที่ศูนย์ฯกทม.69แห่ง คนไม่ป่วยได้สิทธิพิเศษรักษาทุกที่ช่วง 2 เดือน ลุยเอาผิดเจ้าของสถานพยาบาล-แพทย์

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แถลงข่าว “สปสช.สร้างความมั่นใจประชาชน แจงแนวทางบรรเทาผลกระทบประชาชนสิทธิบัตรทอง กทม. ก่อนยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเพิ่ม 30 ก.ย. นี้”ว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากกระบวการตรวจสอบในเรื่องของการดูแลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในกลุ่ม โรคเมตาบอลิกและตรวจพบความผิดปกติของการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมายังสปสช. และลงไปตรวจสอบมากขึ้นก็พบว่า 18 คลินิกมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการไม่เป็นไปตามสุจิรต จึงขยายผลตรวจสอบเชิงลึกมากขึ้น
      นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า การตรวจสอบในล็อตที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการดำเนินการ้องทุกข์แจ้งความกับกองปราบปรามนเรียบร้อยและส่งหนังสือยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งหมดจำนวน 108 แห่ง ครอบคลุมประชากรราว 1 ล้านคน ทั้งนี้ มีการยกเลิกก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ล็อต โดยล็อตที่1 จำนวน 18 แห่ง ล็อตที่ 2 จำนวน 64 แห่ง ซึ่งทั้ง 3 ล็อตครอบคลุมประชากรในแง่ของคนที่อยู่ในสิทธิบัตรทองประมาณ 2 ล้านคน แต่ครอบคลุมกลุ่มที่มีผลกระทบจริงต้องใช้บริการรักษาต่อเนื่องประมาณ 4-5 แสนคน รวมทั้ง 3 ล็อต จำนวน 190 แห่ง แยกเป็น รพ.เอกชน 10 แห่ง คลินิกทันตกรรม 5 แห่ง ที่เหลือเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น มูลค่าความเสียหายรวม 198 ล้านบาท ซึ่งสามารถเรียกคืนได้แล้วเล็กน้อยจำนวนหนึ่ง ที่เหลือใช้วิธีชะลอจ่ายงบฯอื่นๆให้กับหน่วยบริการเหล่านั้นแทน
      เลขาฯสปสช. กล่าวอีกว่า ในระยะเวลาสั้น สปสช.เร่งดำเนินการอำนวยควาสะดวกให้กับประชาชนมากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดของหน่วยบริการที่ขาดแคลน โดยให้สิทธิกับประชาชนที่ยังไม่เจ็บป่วยในลักษณะสิทธิพิเศษ ไม่ต้องลงทะเบียนหน่วยบริการประจำ หมายความว่าหากเจ็บป่วยจะไปใช้บริการในหน่วยบริการของรัฐที่ใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องมีใบส่งตัว เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือนในช่วงที่พยายามแก้ไขหน่วยบริการประจำ

       สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลนั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่จำเป็นจริงๆ ต้องนอนรพ. เช่น ผู้ป่วยล้างไต หรือรอผ่าตัด เป็นต้น สปสช.ได้ประสานสถานที่ต่างๆพร้อมเรียบร้อยแล้ว หากยังไม่ได้รับการประสานสามารถติดต่อเข้ามาที่สปสช.ได้ 2.กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ หรือกลุ่มที่รับยาสม่ำเสมอประสานเรียบร้อยแล้ว และ3.กลุ่มโรคเรื้อรัง มีความจำเป็นต้องได้รับยาสม่ำเสมอ พยายามจัดหน่วยบริการภาครัฐเพื่อให้มีความเชื่อมั่น เบื้องต้นสามารถไปรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครในพื้นที่ทั้ง 69 แห่ง
        “ เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะเขตกรุงเทพมหานคร และไม่กระทบกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทุกคนยังมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในหน่วยบริการพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้จำเป็นต้องดำเนินทางกฎหมายในการฟ้องร้องและยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการ ทำให้ไม่มีหน่วยบริการประจำ แต่คนที่ไม่ป่วยหากเกิดป่วยขึ้น สามารถไปรักษาที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองที่ใดก็ได้ รวมถึงในจังหวัดรอบข้าง เช่น นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ โดยใช้บัตรประชาชน และไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องนั้นได้มีการประสานจัดหาหน่วยบริการรองรับให้แล้ว ผู้ที่มีข้อสอบถามโทรได้ที่02-554-0500 อีก 80 คู่สายตลอด 24 ชั่วโมง”นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว
       นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ประชากรที่ครอบคลุมในการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการทั้ง 190 แห่งนั้น ราว 2 ล้านคน โดย 1.7 ล้านคน ไม่ได้กระทบอะไร เพราะฉะนั้นประชาชนที่ไม่ได้เจ็บป่วย ขอความกรุณาไม่ต้องรับไปลงทะเบียนใดที่หน่วยบริการ เพราะยังมีสิทธิบัตรทองอยู่เหมือนเดิมและเมื่อเจ็บป่วยไปใช้บริการที่ใดก็ได้ แต่หากเร่งไปลงทะเบียนที่หน่วยบริการ ทำให้ผู้ที่จำเป็นต้องรับบริการได้รับการบริการล่าช้า โดยอีกระยะหนึ่งสปสช.จะประกาศหน่วยบริการให้เลือกหน่วยบริการประจำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศรับสมัครหน่วยบริการที่จะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนพ.ย.นี้ แต่หากต้องการตรวจสอบสิ่งต่างสามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ของสปสช. www.nhso.go.th หรือ เฟซบุ๊คสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
160136867997
      ด้านนายจีรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ใสฐานประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้เป็นหน้าที่กองปราบปรามในการรวบรวมพยานหลักฐานว่าความผิดข้อหาใดบ้างแล้ดำเนินคดีในทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลทั้งหมด3 ล็อตรวม 190 แห่ง ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ 1. ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาต หรือเจ้าของ 2.ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม คือแพทย์ และ3.บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งหมด นอกจากนี้ ได้ส่งเรื่องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พิจารณาดำเนินคดีตามพรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ด้วย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าสบส.ได้พิจารณาแล้ว พบว่ามีความผิดเช่นเดียวกันและได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเช่นเดียวกัน
        “สิ่งที่ที่ตรวจสอบพบเป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจน จึงต้องดำเนินการ จะไม่ดำเนินการไม่ได้ เพราะที่ตรวจสอบพบทั้งหมด ไม่ใช่การผิดพลาดหรือการทำเอกสารผิดพลาดเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องเจตนาจงใจกระทำความผิด การสวมสิทธิ สร้างเอกสารเป็นเท็จมาเบิกงบประมาณของประเทศชาติ เป็นการทุจริตต่องบประมาณภาษีประชาชนโดยตรง และต้องยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการเหล่านั้น แต่ประชาชนยังมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นเดิม ส่วนหน่วยบริการที่ตรวจสอบพบความผิดหากยังเป็นเจ้าของเดิมที่เกี่ยวข้องจะไม่ให้กลับเข้ามาเป็นหน่วยบริการบัตรทองอีก แต่หากมีการเปลี่ยนเจ้าของ และผู้ดำเนินการใหม่ทั้งหมด ก็จะสามารถสมัครเข้ามาเป็นหน่วยบริการได้อีก”นายจีรวุสฐ์กล่าว
      นายจีรวุสฐ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ยังเป็นคำถาม คือ การกระทำเหล่านี้ที่เดิมเข้าใจว่าเป็นการกระทำที่เป็นเอกเทศน์ แต่ปรากฎว่าเมื่อตรวจสอบครบทั้งหมดแล้ว มีพฤติการณ์เช่นเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพฤติกรรมหรือหลักฐานต่างๆที่พบเป็นการสวมสิทธิ แก้ไขรายการ เพื่อให้เข้าเงื่อนไขของการเบิกจ่าย เป็นสิ่งที่จะต้องหาคำตอบต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้นกับคลินิกชุมชนนอบอุ่นถึงเกิดการกระทำเช่นนี้