10 บทเรียน ดูแลผู้สูงอายุในภาวะวิกฤติโควิด-19

10 บทเรียน ดูแลผู้สูงอายุในภาวะวิกฤติโควิด-19

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ถอด 10 บทเรียน การดูแลผู้สูงอายุในช่วงโควิด-19 จาก 7 ประเทศ หาทิศทางในการดำเนินงาน แนะ 4 ข้อเสนอ ปรับแนวคิดการจัดสวัสดิการ พัฒนาระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เสริมทักษะดิจิทัล และพัฒนาฐานข้อมูลง่ายต่อการช่วยเหลือ

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ในส่วนของผู้สูงอายุ ได้รับผลกระทบในหลายเรื่อง เช่น การดูแลตนเอง (การตัดผม การออกกำลังกาย) การซื้อข้าวของเครื่องใช้จ่ายตลาด การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวมไปถึงการเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย  และการจ้างงานและประกอบอาชีพ มีผู้สูงอายุที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.9 เป็นร้อยละ 6.6 ซึ่งกลุ่มที่ตกงานมากที่สุด คาดว่าคือกลุ่มรับจ้างทั่วไป/งานไม่ประจำ ซึ่งมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 9.6 เป็น ร้อยละ 6.6

ขณะเดียวกัน ในประเทศต่างๆ ที่เกิดการระบาดรวมถึงประเทศไทย มีบริบทในการบริหารจัดการระบบสวัสดิการแตกต่างกัน ทั้งในข้อกำหนดของแต่ละประเทศ รูปแบบสวัสดิการ และลักษณะบริการ ที่จะได้รับจากทางภาครัฐ

วันนี้ (29 กันยายน) ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เผยผลการศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศในการดูแลผุ้สูงอายุในช่วงวิกฤติ ภายในเวทีอภิปรายวันผู้สูงอายุสากล “การดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ...บทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคต”  จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมแมนดาริน โดยศึกษาจากการสืบค้นข้อมูล เอกสารงานวิจัย สัมภาษณ์เชิงลึก และเก็บข้อมูลภาคสนาม ระยะเวลา 5 เดือน โดยศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี แคนาดา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เนื่องจากมีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง รวมถึงศึกษาในไทย เพื่อหาทิศทางในการดำเนินงานต่อไป จากการศึกษา พบ 10 บทเรียน ได้แก่

  • “บทเรียนที่ 1 ระบบสวัสดิการของประเทศที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดระบบดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติโรคระบาด

พบว่า มีความแตกต่างกันทั้งใน “ข้อกำหนดของประเทศ” ได้แก่ กฎหมาย พระราชบัญญัติ มาตรการ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติ ฯลฯ “รูปแบบสวัสดิการ” อาทิ Welfare State ,  East – Asian Welfare State , Work Fare , Social Insurance และ Social Protection และ “ลักษณะบริการ” ทั้งถ้วนหน้า และไม่ถ้วนหน้า ซึ่งผู้สูงอายุมีกฎหมายเฉพาะ ตามสิทธิประกันสังคม รวมถึงลักษณะสงเคราะห์เฉพาะหน้า

  • “บทเรียนที่ 2 ศูนย์ปิดแต่บริการไม่ปิด การดำเนินงานศูนย์กลางวันสำหรับผู้สูงอายุช่วงวิกฤติโรคระบาด

ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา แม้สำนักงานจะปิด แต่ยังมีบริการสำคัญ เช่น อาหาร ยารักษาโรค การให้คำปรึกษาผู้สูงอายุ ให้บริการออนไลน์ 24 ชั่วโมง รวมถึงมีกรมผู้สูงอายุ ได้ออกข้อแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุแก่ศูนย์ ทั้งบริการ จัดหาอุปกรณ์ป้องกันจากกองทุนต่างๆ ขณะเดียวกัน สภาผู้สูงอายุแห่งชาติอเมริกัน NCOA ออกแนวปฏิบัติแก่ศูนย์ทั้งหลายทั่วประเทศ การจัดสถานที่ วิธีการ บุคลกากร กิจกรรม เงื่อนไขการเข้าร่วม เช่น สามารถเข้าร่วมได้ไม่เกิน 10 คน อายุไม่เกิน 70 ปี ไม่มีโรค บางศูนย์เกิดกิจกรรมออนไลน์ ศูนย์เสมือนจริง และสิ่งสำคัญคือ ทุกศูนย์จะเตรียมผู้สูงอายุให้เข้าถึงระบบดิจิทัล เปิดคลินิกดิจิทัล สอนการใช้งาน และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้

  • “บทเรียนที่ 3 การเตรียมการเชิงรุกช่วยให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูง

ในสหรัฐอเมริกา มีการจัดทำทะเบียนผู้สูงอายุทุกคนที่เป็นสมาชิก บางศูนย์มีมากถึง 1,700 คน ก่อนการระบาดใหญ่ ได้มีการปรับข้อมูลอย่างรวดเร็ว สำรวจความสามารถในการสื่อสาร ว่าผู้สูงอายุอยู่กับใคร ความต้องการ ภาวะเจ็บป่วย โทรศัพท์ใช้การได้หรือไม่ มีอุปกรณ์ดิจิทัลอะไรบ้าง เชื่อมต่อสัญญานอินเทอร์เน็ตและอื่นๆ จัดเตรียมสถานที่วางอาหาร และจุดรับอาหารในชุมมชน หากไม่สามารถออกจากบ้านได้จะมีคนเอาอาหารไปให้ถึงบ้าน

  • “บทเรียนที่ 4 การให้ข้อมูลที่เน้นการพึ่งตนเอง ช่วยให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น

ออสเตรเลีย มุ่งให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ที่บ้าน จัดทำคู่มือสำหรับบริการสำหรับผู้สูงอายุทั้งรูปเล่ม หรือ คอมพิวเตอร์ เว็บไซน์กรมพัฒนาชุมชน  มีบริการครอบคลุมบริการทุกประเภท ทั้งสายด่วนโควิด ข้อมูลบริการผู้สูงอายุ (My Aged Care) เครือข่ายที่ปรึกษา จัดหาผู้ดูแล ภาวะฉุกเฉิน บริการผุ้ที่มีความยากลำบากทางการเงิน คำนึงถึงทุกกลุ่มวัฒนธรรม มีข้อมูลสำหรับชาวอะบอริจิน  มีคลื่นวิทยุ 63 ภาษา มีข้อมูลบริการให้ความช่วยเหลือกลุ่ม LGBTIQ

ขณะที่ สิงค์โปร์ มุ่งให้อยู่อย่างแข็งแรงและปลอดภัย เกิดข้อแนะนำการปฏิบัติตัวในที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ โดย National university Hospital โดยแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ควบคุมภาวะโรค คงการติดต่อกับครอบครัว/เพื่อน คงงานอดิเรก รวมถึงการดูแลเท้า รองเท้าที่เหมาะสม การจัดบ้านให้ปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการรับประทานอาหาร เป็นต้น

  • “บทเรียนที่ 5 การกระจายงบประมาณอย่างเร่งด่วนลงสู่ชุมชน ช่วยให้เกิดบริการที่รวดเร็วตรงกับปัญหา

แคนาดา มีโครงการ New Horizons for Seniors Program (NHSP) ซึ่งเป็นกองทุนผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน ช่วยให้เกิดบริการที่รวดเร็วตรงกับปัญหา โดยให้ทุนสนับสนุน 2 ระดับ คือ 1. การสนับสุนนทุนระดับประเทศ (Pan Canada Grants and Contributions) และ 2. การสนับสนนุทุนในระดับชุมชน (Community Grants) ซึ่งแคนาดาให้ความสำคัญ โดยปรับโครงการที่อนุมัติไปแล้วเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในผู้สูงอายุ 2,166 โครงการ โดยมีขอบเขตของงาน 5 ประการ คือ จัดหาอุปกรณ์หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ให้แก่ผู้สูงอายุ , เน้นกิจกรรมที่คงความสัมพันธ์ กับครอบครัว ชุมชน เช่น การจัดหาอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล , ช่วยผู้สูงอายุ ออกไปพบแพทย์ , จ้างพนังกานปฏิบัติงานแทนอาสาสมัคร และให้ข้อมูลการดูแลตนเองแก่ผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ รัฐบบาลได้เพิ่มทุนเข้าไปในโครงการอีก 20 ล้าน CAD โดยติดต่อกับองค์กรที่เคยรับทุน 1-2 ปีก่อน ให้ช่วยดำเนินการ รวมถึง เพิ่มชนิดกิจกรรมที่ควรดำเนินงาน ได้แก่ การป้องกันผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ดูแลเรื่องสุขภาพจิต เพิ่มศักยภาพใช้คอมพิวเตอร์ และโปรแกรมเสมือนจริง อบรมผู้สูงอายุ เตรียมการใช้ชีวิตหลังคลายล็อกดาวน์  

  • “บทเรียนรู้ที่ 6 การทำงานแบบบูรณาการสร้างกระจายบริการอย่างทั่วถึง  

ออสเตรเลีย มีการเชื่อมโยง (เชิงคลินิก) โดย CAHOOTS CONECT ทำหน้าที่ประสานกับองค์กรบรรเทาทุกข์หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อดูสิทธิของผู้รับบริการ และร่วมกับร้านค้าต่างๆ ธุรกิจค้าปลีก ธนาคารต่างๆ บริการจัดซื้อสิ่งของ ยา อาหาร สำหรับกลุ่มผู้เปราะบาง 65 ปีขึ้นไป โดยเก็บเงินกับองค์กรที่ผู้สูงอายุมีสิทธิ ให้บริการช่วยเก็บ แกะ สินค้าจัดวางภายในบ้าน

แคนาดา มีการประสานงาน (เชิงองค์กร) โดยมีการกระจายบริการถึงชุมชน ดำเนินงานโดองค์กรชุมชนที่หลากหลาย ขณะที่ สหรัฐอเมริกา มีองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งอาหาร คือ Feeding America , Food Bank , Meal on Wheels ซึ่งเป็นโครงการอาหารในสหรัฐอเมริกา มีการกระจายบริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 57.1 ล้านคนในช่วงโควิด-19 จาก 40 ล้านคนก่อนหน้านี้ โดยมีการแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันทรัพยากร วัสดุ จัดระบบกระจายอาหาร จัดการภายใต้องค์กรเดียว โดยผู้สูงอายุที่แข็งแรงให้มารับเอง หากร่างกายไม่แข็งแรงจะมีคนไปส่งถึงบ้าน

“บทเรียนรู้ที่ 7” การเสริมสร้างทักษะเทคโนโลยี ดิจิทัล ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการได้โดยง่าย

เนื่องจากผู้สูงอายุ มีทักษะการใช้อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ดิจิทัล ค่อนข้างน้อย การเพิ่มทักษะ ในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลจึงมีความจำเป็น โดยบทเรียนจาก สิงคโปร์ พบว่า มีการพัฒนาความรู้ทักษะการใช้งาน ดิจิทัล แก่ผู้สูงอายุ สร้างหลักสูตร ปรับเนื้อหา การสอนใหม่ โดยการพัฒนารายการโชว์ทางทีวี “เรียนรู้ร่วมกัน” (Learning Together with me) สอนการใช้โปรแกรมต่างๆ จัดเป็นซีรีย์ 8 ตอน โดยเชิญดาราอาวุโสมาเป็นพิธีกร รวมถึงมีคอร์สพัฒนาทักษะดิจิทัล เนื้อหาสั้นๆ 40 ตอน สอนทีละขั้นตอน สัปดาห์ละ 2 วัน โดยผู้สูงอายุ สามารถสอบถามหลังรายการได้ พร้อมเปิดคลินิกดิจิทัล ออนไลน์ ให้คำปรึกษา มีทั้งภาษาอังกฤษ มาเล แมนดาริน และ ทามิล

ออสเตรเลีย ให้ยืมแท็บเล็ต และอุปกรณ์อื่นๆ สร้างแพลตฟอร์ม รายการที่หลากหลาย สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย ขณะที่ สหรัฐอเมริกา มีการแบ่งปันดิจิทัล (Digital Divide) เข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีอุปกรณ์ เพิ่มทักษะ เพิ่มรายการ สำหรับผู้มีรายได้ต่ำใช้ฟรี และจัดหาให้แก่ผู้มีรายได้ต่ำ

  • “บทเรียนรู้ที่ 8” ภาวการณ์ตายและมาตรการปิดเมือง สร้างปัญหาสุขภาพจิต แก่ผู้สูงอายุ

สำหรับ ประเทศอิตาลี ความเหงา การเสียชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน สร้างความหดหู่ใจและสิ้นหวังแก่ผู้สูงอายุที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยผู้สูงอายุที่อิตาลีระบุว่า “ชีวิตของฉันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มันยากมากที่จะรับมือกับสิ่งนี้โดยลำพัง” รวมถึงช่วงกักตัว ครอบครัวไม่สามารถไปเยี่ยมได้ นำไปสู่ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น สภาท้องถิ่นจึงได้จัดบริการ สายด่วน Hotline มีอาสาสมัครที่เป็นเยาวชนทำหน้าที่ส่งยารักษาโรค เครื่องอุปโภคบริโภค หนุ่มสาวในอพาร์ทเมนต์ รับผิดชอบผู้สูงอายุในอาคารที่ตนอาศัยอยู่ มีการนำภาพยนตร์เก่าๆ มาลงออนไลน์ให้ผู้สูงอายุดูฟรี

ขณะที่ จีน กรรมการสุขภาพของจีน จัดให้มีบริการด้านสุขภาพจิต โดยอบรมนักจิตวิทยาและผู้ปฏิบัติงาน จัดทำแผนปฏิบัติการบริการสุขภาพจิต จัดทำคู่มือสุขภาพจิตแห่งชาติ เพิ่มบริการออนไลน์และสายด่วน พร้อมออกข้อเสนอแนะในการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุสำหรับผู้ดูแลอีกด้วย

  • "บทเรียนที่ 9" วิกฤติด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Crises) ที่เกิดการบริการ  

สำหรับในประเด็นด้านข้อจำกัดของเตียงโรงพยาบาล ทำให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มสุดท้านที่ได้รับการรักษา เช่น ประเทศอิตาลี เมื่ออายุ 80 ปีขึ้นไป ยังไม่ต้องรักษา ต้องรอให้เตียงว่าง แม้กระทั้ง ญี่ปุ่น พบว่าบางเคสต้องว่ารอเตียงเป็นเวลานาน ขณะที่ ประเทศไทย พบปัญหาด้านการจัดบริการโดยผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ  และผู้สูงอายุที่พึ่งพิงตนเองไม่ได้ ไม่สามารถเข้าถึงบริการ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการห้ามเปิดเผยข้อมูลของผู้รับบริการ ซึ่งกระทบต่อสวัสดิการผู้ให้บริการ เช่น ญี่ปุ่น ที่มีกลุ่มนักวิชาชีพออกมาโวยวายเนื่องจากไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุโดยที่ไม่ทราบว่าติดโควิด-19  

  • "บทเรียนที่ 10" การจัดการของประเทศไทย

ประเทศไทย มีการจัดการในรูปแบบให้ความช่วยเหลือ/สงเคราะห์ ศูนย์หรือชมรมส่นใหญ๋ หยุดกิจกรรมชั่วคราว การให้ข้อมูลแก่ผู้สูงอายุเน้นประเด็นด้านสุขภาพ แต่กลับมีข้อมูลด้านบริการสังคมน้อยมาก ขาดองค์กรกลางทำหน้าที่จัดการบริการสังคม สำหรับผู้สูงอายุ และ ขาดข้อมูลผู้สูงอายุ ที่เป็นปัจเจกเชิงลึก   

ศ.ศศิพัฒน์ เสนอแนะถึงแนวทางการจัดบริการสังคม สำหรับผู้สูงอายุในภาวะวิกฤติ ว่า ในสังคม New Normal เป็นยุคของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อปกป้องตนเองจากภัยคุกคาม และคาดหวังว่าจะกลายเป็นฐานวิถีชีวิตใหม่หรือความประพฤติใหม่ ดังนั้น การใช้ชีวิตในสังคมปกติใหม่ของผู้สูงอายุ ในวัยก่อน 60 ปี จะสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตและเทคโนโลยีอย่างง่ายดาย

ขณะที่ ในกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป พบข้อจำกัดสำคัญในการใช้ชีวิตยุคปกติใหม่ เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรม ได้แก่ ความมั่นคงทางการเงินลดลง การขาดความรู้ และอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์ และความมั่นคงทางจิตใจลดลง ดังนั้น แนวทางการจัดบริการสังคมสำหรับผุ้สูงอายุในภาวะวิกฤติ ควรเป็นการบริหารจัดการบริการสังคมแบบบูรณาการ ได้แก่

1. ปรับแนวคิดการจัดสวัสดิการใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุใน พรบ.ผู้สูงอายุ , คงแนวคิด Social Safety Net , คงแนวสวัสดิการเชิงคุ้มครอง (Protective Welfare) , เพิ่มแนวคิด สวัสดิการเชิงผลิตภาพ (Productive Welfare)  และ สร้างความเข้าใจต่อวิถีชีวิตผู้สูงอายุ ในสังคมปกติใหม่

2. พัฒนาระบบการจัดการในศูนย์บริการกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ ปรับฐานคิดของชุมชน ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ สู่แนวคิดศูนย์บริการครบวงจร และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ

3. เสริมสร้างทักษะความรู้ทางคอมพิวเตอร์แก่ผู้สูงอายุ โดยปรับเนื้อหาในหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ และแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนากิจกรรมจาหน่วยงานภาครัฐ เอกชน

4. พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน โดยมีฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่มีตัวชี้วัด สุขภาพ เศรษฐานะ ที่เป็นจริง ปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน อยู่ตลอดเวลา และสร้างระบบการแบ่งปันข้อมูล