พาณิชย์เผยเอฟทีเอ 'อาเซียน-แคนาดา' ดันเศรษฐกิจไทยโต 1.97%

พาณิชย์เผยเอฟทีเอ 'อาเซียน-แคนาดา' ดันเศรษฐกิจไทยโต 1.97%

"พาณิชย์" เร่งนำผลศึกษาการทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนตัดสินใจก่อนเดินหน้าเจรจา ส.ค.64 ชี้ ส่งผลดันจีดีพีไทยโต 1.97%

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างการสัมมนา “โอกาสขยายตลาดใหม่ ผ่านเอฟทีเอ อาเซียน – แคนาดา” ว่า ตลาดแคนาดาถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทยและอาเซียนโดยมีประชากรกว่า 35 ล้านคนและสังคมยังคงเปิดกว้างมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่สำคัญมีชาวเอเชียอาศัยอยู่ในแคนาดากว่า 6 ล้านคน จึงถือเป็นตลาดที่เหมาะสำหรับการขยายการค้าและการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแคนาดา ซึ่งแคนาดาเป็นคู่ค้าของไทยที่ไม่มีเอฟทีเอรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยในปี 2562 การค้าไทย-แคนาดา มีมูลค่าการค้ารวม 2,552 ล้าดอลลาร์ โดยไทยส่งออกมูลค่า 1,588 ล้านดอลลาร์ นำเข้ามูลค่า 963 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ส่งออกสำคัญของไทย คืออาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่แคนาดาซึ่งไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในแคนาดาเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน

ทั้งนี้จากผลการศึกษาของ ERIA (feasibility study) ในภาพกว้างเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา พบว่า จะส่งผลให้จีดีพีของอาเซียนเพิ่มขึ้น 1.6 % หรือเพิ่มขึ้น 39,361 ล้านดอลลาร์ โดยในส่วนของประเทศไทยจะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.97% หรือเพิ่มขึ้น 7,967 ล้านดอลลาร์ และภายใน 7ปี มูลค่าการค้า ระหว่างอาเซียนกับแคนาดา จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 11,000 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการค้าในปัจจุบันที่ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ โดยผลการศึกษาทั้งหมดจะสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและแคนาดาได้ภายในเดือนส.ค. ปี 2564 เพื่อพิจารณาตัดสินใจในเรื่องการจัดทำความตกลงเอฟทีเอ อาเซียน – แคนาดา อย่างเป็นทางการ

ส่วนข้อกังวลว่าประเทศแคนาดาอยู่ไกลจะมีปัญหาด้านการขนส่งสินค้านั้น คงไม่เป็นอุปสรรค เมื่อเปรียบเทียบกับเอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ ที่ประเทศนิวซีแลนด์ตั้งอยู่ขั้วโลกใต้ การเดินเรือส่งสินค้าใช้เวลา 45 วัน ขณะนี้ประเทศแคนาดาอยู่ขั้วโลกเหนือใช้เวลาเดินเรือไม่ต่างกันมาก หากเราวางแผนการค้าได้ดี ระยะทางก็ไม่เป็นอุปสรรค รวมถึงความกังวลเรื่องภาษีที่มองว่าไทยอาจไม่ได้ประโยชน์จากภาษีนั้นเพราะต้องมองว่าไทยและแคนาดาพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก็คงไม่ใช่ประเด็นหลักเพราะหากเจรจาเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา แน่นอนว่าเราจะได้ประโยชน์เรื่องภาษีสินค้า

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆและขยายไปหลายประเทศให้มากขึ้น เพราะประเทศอาเซียนที่เป็นคู่แข่งของเรา เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ มีการทำเอฟทีเอจำนวนมาก โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นสมาชิกซีพีทีพีพีแล้ว ทำให้มีความได้เปรียบทางการค้ามาก ผู้ลงทุนก็เลือกลงทุนในเวียดนาม ดังนั้นไทยจะอยู่รอดได้หรือไม่ในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและต้องถามตัวเองว่าไทยจะอยู่ได้หรือไม่โดยไม่พึ่งการส่งออก ถ้าคิดว่าอยู่ได้ก็ไม่ต้องทำเอฟทีเอ แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องเร่งทำเอฟทีเอหรือเจราจากรอบความตกลงการค้าต่างๆ

ทั้งนี้ เอฟทีเอมีทั้งประโยชน์และผลกระทบต่อเกษตรกรไทย แต่เราก็ต้องปรับตัวให้พร้อมโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กต้องปรับตัวสร้างองค์ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยี อย่างหวังเพียงเงินจากกองทุนเอฟทีเอ เพราะเงินใช้แล้วก็หมด ทั้งนี้เอกชนอยากให้มีการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้แต้มต่อจากการค้าหลังจากโควิด-19 แม้แคนาดาไม่ใช่ประเทศใหญ่แต่ก็มีศักยภาพทางการค้า ในส่วนซีพีทีพีพีก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าไทยจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่ ขณะที่เอฟทีเอไทย-อยู่ก็อยู่ระหว่างการเจรจา

นายเติมศักดิ์ บุญชื่น รองประธานสภาเกษตรจังหวัดนครราชสีมา สภาเกษตกรแห่งชาติ กล่าวว่า เกษตรกรจะได้รับผกระทบจากการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี หมู ซึ่งอาจทำให้ราคาตกต่ำเพราะเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะหมู ซึ่งแคนาดา นำมาบริโภคภายในประเทศ ส่วนที่เหลือที่เป็นพวกเครื่องในสัตว์ ก็จะส่งเป็นสินค้าส่งออก เมื่อทำเอฟทีเอ เครื่องในหมูพวกนี้ก็จะส่งออกมาขายในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่นิยมบริโภคเครื่องในหมู หากนำเข้ามาจริงแน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและจำหน่ายเครื่องในสัตว์ เนื่องจากราคาถูกกว่าของไทย