'สุพัฒนพงษ์' โหมกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี เผยดูแลคนแล้วครึ่งประเทศ

'สุพัฒนพงษ์' โหมกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี เผยดูแลคนแล้วครึ่งประเทศ

“สุพัฒนพงษ์” กางแผนฟื้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ดันมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน 3 กลุ่ม สร้างเงินหมุนเวียน 1 แสนล้าน ชี้ฐานะการเงินการคลังแกร่ง มีงบเพียงพอฟื้นฟู พร้อมกู้หากมีระบาดรอบ 2

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ปี 2563 มีความจำเป็นต้องปิดล็อกดาวน์กิจกรรมที่มีความเสี่ยง และส่งผลให้จีดีพีติดลบ 12.2% 

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะดีกว่าปี 2563ซึ่งคาดว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จะต้องใช้เวลากว่า 2 ปีแต่ระยะเวลา 2 ปี ถือว่าเร็วกว่าการประเมินทั่วไปที่ประเมินอยู่ระดับ 3 ปี

รวมทั้งการออกมาตรการเศรษฐกิจต้องใช้ความระมัดระวังกรณีที่เกิดการระบาดรอบ 2 จะต้องมีเงินบางส่วนที่เอาไว้ให้ และไม่ต้องการว่าเมื่อใส่ทุกอย่างเข้าไปแล้วเมื่อพ้นโควิด-19แล้วไทยกลายเป็นประเทศที่อ่อนแอ และภารกิจนี้ต้องทำต่อเนื่องจับตามองอย่างไม่กระพริบตา

"ถ้าไม่มีการระบาดรอบ 2 ในประเทศ และหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ได้ถดถอยมากไปกว่านี้ มั่นใจว่าวงเงินที่มีอยู่เพียงพอทั้งจากงบประมาณและเงินกู้ที่มีอยู่ แต่สถานการณ์ทั่วโลกเจอเหมือนกันหมดคือมีความไม่แน่นอน"

ดังนั้นรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อม หากจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มเติมก็ต้องกู้เพราะระดับหนี้สาธารณะของไทยก็ไม่ได้สูงนักหากเทียบหลายประเทศที่เกิน 100% ไปแล้ว แต่ไทยต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้เงินมากที่สุดและพยายามรักษากรอบวินัยการเงินการคลังให้ดีที่สุด เพราะเมื่อพ้นจากโควิดแล้วประเทศไทยยังคงแข็งแรงอยู่โดยมีเสถียรภาพทางการเงินที่ใช้ได้ พร้อมที่จะกลับมาเติบโตและเข้มแข็ง

160095437878

สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในช่วงต่อไปรัฐบาลให้ความสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 

1.มาตรการด้านการจ้างงาน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเร่งด่วนและมีโจทย์ คือ ทำอย่างไรให้มีตำแหน่งงานกระจายไปทั่วประเทศให้มากที่สุด ทั้งการจ้างงานถาวรและการจ้างงานชั่วคราว โดยรัฐบาลปีเป้าหมายสร้างงานทั้งหมด 1 ล้านตำแหน่ง

รวมทั้งรัฐบาลเร่งรัดโครงการการจ้างงานที่ร่วมจ่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยจ้างงานเด็กนักเรียนและนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง และรัฐบาลมีวงเงินสนับสนุน 1.9 หมื่นล้านบาท โดยตำแหน่งงานทั้งหมดของภาครัฐและเอกชนจะเริ่มเปิดให้สมัครตั้งแต่ภายในงาน Job Expo Thailand 2020 ในวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ ที่ไบเทคบางนา 

2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เเม้เศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาเป็นลำดับหลังจากคลายล็อกดาวน์ โดยรัฐบาลพิจารณาว่าจะเพิ่มมาตรการใดบ้างและเพิ่มให้กลุ่มคนใด ซึ่งจะเร่งผลักดันลงไปในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นการช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวด้วยความไม่ประมาท แต่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน

ส่วนมาตรการนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ มาตรการสำหรับกลุ่ม “คนตัวเล็กมาก” คือคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะเพิ่มเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน เดือนละ 500 บาทต่อคน รวม 1,500บาท ซึ่งส่วนนี้จะใช้เม็ดเงินประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท 

กลุ่มต่อมา คือ มาตรการสำหรับ “คนชั้นกลาง” ที่มีกำลังซื้อมากกว่าคนกลุ่มแรก ซึ่งรัฐจะกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” ในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน และรัฐร่วมจ่ายคนละไม่เกิน 3,000 บาท รวมเป็น 6,000 บาท ซึ่งกำลังปรับปรุงรายละเอียด โดยจะเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนจากเดิมที่ ศบศ.กำหนดว่าให้ใช้ไม่เกินวันละ 100 บาท เพิ่มป็นวันละไม่เกิน 150 บาท โดยจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมฯ ครม.ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ 

สำหรับกลุ่มสุดท้าย คือ มาตรการ “คนตัวโต” หรือกลุ่มคนที่มีรายได้มากขึ้นมา โดยรัฐจะสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาช่วยสนับสนุน รูปแบบอาจคล้ายกับมาตรการช็อปช่วยชาติ โดยมาตรการนี้รัฐจะสนับสนุนน้อยกว่ามาตรการคนละครึ่งแต่จะสนับสนุนให้มีแรงจูงใจในการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้มากขึ้น

“ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 3 กลุ่มคนนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาทในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้”

160095442523

3.มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยที่ผ่านมามีข้อเสนอมาตรการในการผ่อนปรนให้กับลูกหนี้ของสถาบันการเงินโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มเติม เช่น มาตรการพักหนี้ หรือมาตรการขอผ่อนปรนการจ่ายดอกเบี้ยในสัดส่วนที่ลดลง รวมทั้งการขอขยายมาตรการสินเชื่อหลายรูปแบบ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้สำหรับภาคธุรกิจ “DR BIZ” การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง (โครงการดีอาร์บิส) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจกลุ่มที่ยังมีศักยภาพแต่ประสบปัญหาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งสถาบันการเงินได้เจรจายืดหนี้และลดดอกเบี้ยบางส่วนให้กับลูกค้าที่มีแผนธุรกิจชัดเจน มีประวัติการชำระหนี้ดี 

สำหรับแนวทางนี้สามารถไปใช้กับเอสเอ็มอีตามข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งหากเป็นลูกหนี้ที่ได้รับเครดิตและการยอมรับจากในสมาคมธุรกิจเดียวกันก็จะได้รับการช่วยเหลือส่วนนี้ ขณะที่มาตรการการผ่อนปรนเรื่อง LTV จะหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ว่า ธปท.คนใหม่

4.มาตรการด้านการท่องเที่ยวและการเปิดประเทศ เพื่อผ่อนปรนให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมาตรการนี้จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เร็วๆนี้ โดยมีการพิจารณาทยอยเปิดและปลดล็อกให้คนต่างชาติเข้ามาได้อย่างระมัดระวัง มีการตรวจหาเชื้อโควิดตั้งแต่ต้นทางและใช้มาตรการในการกักตัวแบบเดียวกับที่ใช้กับคนไทยในต่างประเทศที่กลับมาไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเข้ามาพำนักในไทยระยะยาว รวมทั้งกลุ่มที่จะเข้ามาลงทุน 

สำหรับมาตรการนี้จะมีการทดลองเปิดและหากประสบความสำเร็จก็จะเริ่มเปิดในเชิงธุรกิจมากขึ้นโจะเชื่อมโยงกับโอกาสของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ภาคธุรกิจได้เสนอต่อรัฐบาลว่ายังมีดีมานต์จากต่างประเทศซึ่งในส่วนนี้จะมีการปรับปรุงวีซ่าให้นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้นแต่ต้องมีการตัดเลือกอย่างดีเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีความชัดเจนภายใน 3 เดือนนี้เช่นกัน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลและช่วยเหลือประชาชน ได้แก่การให้ความช่วยเหลือประชาชนในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ครอบคลุมประชาชน 33.5 ล้านคนซึ่งใช้งบประมาณไป 4-5 แสนล้านบาท

รวมทั้งมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายลดค่าครองชีพประชาชน เช่น มาตรการลดค่าน้ำและค่าไฟฟ้า การคืนเงินค่ามิเตอร์น้ำและไฟรวมถึงมีมาตรการเสริมสภาพคล่อง เช่น มาตรการสินเชื่อผู้มีรายได้น้อยสินเชื่อเอสเอ็มอี 

“เราดูแลคนเกินครึ่งประเทศ มีการใช้เม็ดเงินไปพอสมควร มีการออก พ.ร.ก.กู้เงินแต่สถานะการเงินของไทยยังอยู่ในระดับดี มีความมั่นคงสถานะทางการเงินของรัฐบาลแข็งแรง ปัจจุบันเรามีเงินคงคลังอยู่ 2.6 แสนล้านบาท โดยส่วนนี้ยังไม่รวมกับเงินรายได้จากภาษีที่จะทยอยเข้ามาหลังจากเลื่อนชำระมาในเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมาซึ่งไทยได้สะสมความเข้มแข็งไว้แต่สิ่งที่ดีกว่าการสะสมความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจคือประชาชนและภาครัฐร่วมมือกันดีในช่วงระบาดทำให้เราควบคุมการระบาดได้และได้รับการยอมรับเป็นอันดับ 1 ของโลก"