จับตาความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์...จากนโยบายสะสมสต็อกของจีน

จับตาความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์...จากนโยบายสะสมสต็อกของจีน

ล่าสุดในเดือนกันยายน 2563 จีนได้มีการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อการวางกลยุทธ์ของประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) ที่จะเริ่มใช้ในปี 2564

โดยเฉพาะในประเด็นการกลับมาเร่งสะสมสต็อกสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเน้นไปที่เรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ดังนั้น การกลับมาเร่งสะสมสต็อกสินค้าโภคภัณฑ์อาหารของจีนเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรของจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นแรงผลักสำคัญต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ในขาขึ้นระลอกใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้น (ปี 2564-2566) คาดว่า จะเกิดผลของอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรส่วนเพิ่มที่พุ่งขึ้นจากการใช้นโยบายของจีน (Policy-led Demand) ซึ่งจะเป็นการนำเข้าเพื่อนำไปใช้เป็นสต็อกในประเทศในระดับที่เพิ่มขึ้นจากเดิม จนสามารถเพิ่มสัดส่วนปริมาณสต็อกให้แตะระดับร้อยละ 90.8 ของความต้องการใช้สินค้าโภคภัณฑ์เกษตร แสดงถึงความมั่นคงด้านอาหารของจีนอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะมีผลให้ในช่วงนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรจะเร่งตัวขึ้นแรง แต่คงเป็นเพียงผลในระยะสั้นเท่านั้น จากนั้น คาดว่า จีนน่าจะยืนรักษาระดับอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรส่วนเพิ่มต่อเนื่องไปอีกราว 5 ปี (ปี 2567-2571) เพื่อสร้างความมั่นใจด้านอาหารต่อไปอีกสักระยะ ทำให้ราคาน่าจะสามารถทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ดีได้

สำหรับในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป คาดว่า จีนจะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (Self Sufficiency) ส่งผลต่อความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนที่ลดลง กระทบต่ออุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่อาจลดลงด้วย ทำให้เห็นภาพของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่อาจปรับตัวลดลงได้ในระยะยาว

จีนนับเป็นประเทศผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลก จึงเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยล่าสุดในเดือนกันยายน 2563  จีนได้มีการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อการวางกลยุทธ์ของประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) ที่จะเริ่มใช้ในปี 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญที่จะให้มีการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในประเทศ การสร้างเทคโนโลยีที่สำคัญมากขึ้น รวมถึงการให้มีการกลับมาเร่งสะสมสต็อกสินค้าโภคภัณฑ์[1] ด้วยการเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันดิบ โลหะเชิงกลยุทธ์ และสินค้าเกษตรจำนวนมาก โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร  (Food Security) ได้รับความสนใจจากสังคมจีนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากจีนได้ถอดบทเรียนจากวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อจีนเป็นอย่างมาก รวมถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่ไม่แน่นอนระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ทำให้ในระยะข้างหน้า จีนต้องเร่งสร้างความมั่นใจต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ด้านอาหารในประเทศให้มีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการรักษาความปลอดภัยของเสบียงอาหาร และเป็นการป้องกันเศรษฐกิจของจีนเองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาที่อาจพบกับความไม่แน่นอนได้อีกจากภาวะแรงตึงเครียดต่างๆ จนกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร ดังนั้น การกลับมาเร่งสะสมสต็อกสินค้าโภคภัณฑ์อาหารของจีนเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นแรงผลักสำคัญ   ต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกให้ปรับตัวสูงขึ้นได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ โลกได้เผชิญกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์[1]ที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดครั้งใหญ่ในปี 2554 จากแรงผลักของราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้นมากและตามมาด้วยปรากฏการณ์ราคาพุ่ง (Price Surge) ของสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่มีลักษณะการจับกลุ่มกันเพิ่มขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน (Broad Based) ทั้งน้ำมัน โลหะ อาหาร และโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เร่งตัวขึ้นมาก และด้วยแรงหนุนสำคัญจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงปี 2555-2557 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จึงยังสามารถยืนรักษาระดับอยู่ในเกณฑ์ดีได้ จากนั้นตั้งแต่ปี 2558 ด้วยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลง ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนมากขึ้น จนถึงในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 จากหลากหลายปัจจัยกดดัน ตลอดจนปัจจัยที่ไม่แน่นอนเพิ่มเติมเข้ามาอย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกยังคงต้องหดตัวอยู่ในแดนลบ

ในที่นี้ ขอวิเคราะห์ถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในส่วนที่เป็น Soft Commodity ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยในปี 2562 สัดส่วนมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออกของไทยคิดเป็นราวร้อยละ 9 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด และจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของไทยด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 28.1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย ดังนั้น ไทยน่าจะได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งมีจีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในการกำหนดราคาในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ได้ส่งสัญญาณปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายรายการ แม้จีนจะต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 อย่างหนัก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง สะท้อนถึงความต้องการสินค้าเกษตรของจีนที่ยังมีอยู่ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อระดับสต็อกของสินค้ากลุ่มนี้ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ในระยะถัดไป ซึ่งน่าจะทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าเกษตรของจีนที่เพิ่มขึ้นด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการที่จีนได้ส่งสัญญาณในการจะเริ่มกลับมาสะสมสต็อกสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรในปี 2564 ทำให้มุมมองต่อไปข้างหน้าในระยะสั้น (ปี 2564-2566) คาดว่า จะเกิดผลของอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรส่วนเพิ่มที่พุ่งขึ้นจากการใช้นโยบายของจีน (Policy-led Demand) เพิ่มเติมจากอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดการนำเข้าเพื่อนำไปใช้เป็นสต็อกในประเทศในระดับที่เพิ่มขึ้นจากเดิม (เทียบกับตอนไม่มีนโยบาย) จนสามารถเพิ่มสัดส่วนปริมาณสต็อกให้แตะระดับร้อยละ 90.8 ของความต้องการใช้สินค้าโภคภัณฑ์เกษตร เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า (ปี 2558-2563) ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 75.8 แสดงถึงความมั่นคงด้านอาหารของจีนอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะมีผลให้ในช่วงนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรจะเร่งตัวขึ้นแรง แต่คงเป็นเพียงผลในระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ดี คงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ยังต้องติดตามผลของการใช้นโยบายอื่นๆ ของจีนในระหว่างทางที่อาจกระทบต่อระดับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรในช่วงนี้ได้ จากนั้น คาดว่า จีนน่าจะยืนรักษาระดับอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรส่วนเพิ่มต่อเนื่องไปอีกราว 5 ปี (ปี 2567-2571) เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจด้านอาหารต่อไปอีกสักระยะ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรน่าจะสามารถทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ดีได้

ส่วนในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป คาดว่า จีนจะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (Self Sufficiency) โดยจะเป็นการผลิตเพื่อใช้เองในประเทศ และลดการนำเข้า ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรมากขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนลดลง ส่งผลต่ออุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรปกติที่อาจลดลงด้วย (เนื่องจากผลิตเองได้แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องสต็อกไว้เพื่อบริโภคในประเทศระดับสูง ซึ่งจะเป็นการเบียดบังสต็อกให้ลดลงด้วย) นอกจากนี้ ยังส่งผลต่ออุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรส่วนเพิ่มให้หายไปด้วยจากผลของนโยบายกระตุ้นการสะสมสต็อกที่อาจหมดไป จึงมีความเป็นไปได้ที่ระดับสัดส่วนสต็อกต่อความต้องการใช้ในประเทศจะทยอยปรับลดลงเรื่อยๆ จนใกล้เคียงกับระดับ Optimal Stock ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่อาจปรับตัวลดลงได้ในระยะยาว   

ท้ายที่สุด แม้ในระยะสั้น ไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในระลอกใหม่นี้ โดยเฉพาะในรายการส่งออกหลักของไทยที่ไปจีนอย่างยางพารา มันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาลทราย เป็นต้น และเนื่องจากไทยสามารถผลิตเพื่อบริโภคและส่งออกสินค้าเกษตรได้เป็นจำนวนมาก จากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร จึงมีความมั่นคงในด้านอาหารระดับหนึ่ง พิจารณาได้จากค่าดัชนีความเปราะบางด้านอาหาร[1] (Food Vulnerability Index: FVI) โดยค่า FVI ยิ่งสูงแสดงว่ายิ่งมีความเปราะบางในด้านอาหาร พบว่า ในปี 2562 ไทยอยู่ในอันดับที่ 76 (FVI = 99.6) ขณะที่ลิเบียมีความเปราะบางที่สุด (FVI = 7) และนิวซีแลนด์มีความมั่นคงด้านอาหารสูงที่สุด (FVI = 98.2) ส่วนจีนมีความเปราะบางอยู่อันดับที่ 46 (FVI = 100.2) แต่ในระยะยาว ไทยอาจเสียประโยชน์จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง และแม้ว่าน้ำหนักของดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในหมวดสินค้าเกษตรจะมีน้ำหนักไม่มากนักคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.3 แต่วัตถุดิบการเกษตรนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำเพื่อนำไปผลิตต่อในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญในการบริโภคอย่างอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาล

 

ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างภาคเอกชน (ผู้ประกอบการส่งออก) รวมถึงภาครัฐ ควรต้องเร่งตระหนักถึงอิทธิพลของนโยบายของทางการจีนที่จะมีผลต่อแนวโน้มความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในระยะข้างหน้า จึงต้องเตรียมรับมือด้วยการเร่งพัฒนาขีดความสามารถของการผลิตในภาคเกษตร ทั้งการปรับปรุงระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การวางแผนการผลิตและการเพาะปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานอย่างสมดุล รวมถึงการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นเพื่อผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ และยังเป็นการป้องกันแนวโน้มความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่มีมากขึ้นอีกด้วย