นปช. ในวันที่กลับมาลงถนน 'ให้น้องเป็นผู้นำ พวกเราเป็นผู้ตาม'

นปช. ในวันที่กลับมาลงถนน 'ให้น้องเป็นผู้นำ พวกเราเป็นผู้ตาม'

สิ้นสุดไปแล้วสำหรับการชุมนุมของกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” 19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพรวมตลอด 2 วันที่ผ่านมา

 แม้จะกลุ่มผู้ชุมนุมจะยังไม่ได้รับชัยชนะเต็มตัว แต่การที่สามารถดึงให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมได้ประมาณครึ่งหนึ่งของสนามหลวง ทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจมองข้ามไปไม่ได้

ภาพหนึ่งที่ปรากฏขึ้นภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง คือ การกลับมาของสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือ คนเสื้อแดง” ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อแดงที่มีข้อความกลางอกเสื้อ คำว่า “ไพร่” หรือ การนำธงสัญลักษณ์เสื้อแดงมาประดับตามเต็นท์ หรือแม้แต่ภาพของอดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’

หากมองย้อนกลับไปดูท่าทีของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ก็ยิ่งตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญกับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้นำธงของคนเสื้อแดงขึ้นไปโบกบนรถหกล้อกลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ภายหลังสามารถเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ

โดยระหว่างนั้นมีแกนนำประกาศกลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ว่า “ขอบคุณคนเสื้อแดงที่เสียสละเสียชีวิต ขอให้นอนตายตาหลับได้แล้ว”

ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์และที่มาของกลุ่มคนเสื้อแดง ต้องยอมรับว่าการเกิดขึ้นของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผลมาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 และมีจุดเริ่มต้นการชุมนุมที่สนามหลวงเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้ามองในแง่ของอุดมการณ์แล้ว ทั้งสองกลุ่มระหว่างกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯและนปช.ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การต่อต้านเผด็จการ

 

ตลอดการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา อดีตสองแกนนำ นปช.ทั้ง ‘พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ และ วรชัย เหมะ ได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม และแลกเปลี่ยนความคิดกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ได้มาตั้งเต็นท์อำนวยความสะดวก ต่างได้เห็นการปรากฏขึ้นอีกครั้งของสัญลักษณ์ นปช.บนสนามหลวง และบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นเวลาที่นักศึกษาต้องนำและพวกเราต้องตาม

พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่า “เวลานี้ต้องให้น้อง ๆ เป็นผู้นำ และนปช.เป็นผู้ตามและคอยสนับสนุน ภาพของการชุมนุมที่เกิดขึ้นถึงจะถูกมองว่ามีบุคคลที่ประกาศตัวเองเป็นคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก แต่ถามว่าจะทำให้เป็นการชุมนุมของ นปช.หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ใช่ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าเราต้องให้พวกน้องๆเขาได้นำ”

“ทั้ง นปช.และน้อง ๆ ต่างมีอุดมการณ์เดียวกัน คือ ความรักในประชาธิปไตย ต่างฝ่ายต่างเป็นผู้ถูกกระทำ และถูกกดขี่ข่มเหงเหมือนกัน จึงเรียกได้ว่าเราทั้งสองกลุ่มเชื่อมโยงกันด้วยอุดมการณ์”

พิพัฒน์ชัย ระบุอีกว่า การชุมนุมในอนาคต ถ้าต้องการให้สัมฤทธิ์ ผลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชุมนุมปักหลักอยู่ยาว ไม่ใช่แค่ชั่วคราว แต่การจะทำเช่นนั้นจะต้องมีการวางแผน และการจัดการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน และการสื่อสารระหว่างกันระหว่างแกนนำกับผู้ชุมนุม ไปจนถึงรายละเอียดอื่นๆ เช่น การหาที่อยู่ หาที่กิน หรือแม้แต่การหาที่ขับถ่าย

“สถานการณ์มันมาถึงจุดสำคัญแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้องที่มีผลต่อคนจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้น การต่อสู้ในระยะยาวจะต้องมีการวางแผนและการจัดการที่ดีเป็นสำคัญ” พิพัฒน์ชัย สรุป

ด้าน วรชัย เหมะ’ มีมุมมองไม่ต่างกันว่า “คนเสื้อแดงและน้องนักศึกษาอยู่ในสภาพที่อึดอัดไม่ต่างกัน เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด แต่ครั้นสถานการณ์เช่นนี้จะให้ นปช.ออกมานำเหมือนในอดีต ก็คงทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะเป็นวาระการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ เพียงแต่พวกเรามีจุดร่วมเหมือนกัน คือ การไม่เอาการรัฐประหาร”

ใครๆ ก็ตามที่เป็นผู้รักประชาธิปไตย ก็ถือว่าเป็นคนร่วมอุดมการณ์กับคนเสื้อแดงด้วยกันทั้งนั้น เราต้องปล่อยให้เด็กกำหนดอนาคตของตัวเขาเอง ซึ่งเวลานี้พวกเขาทนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คนรุ่นผมคงนำไม่ได้แล้ว เพราะเป็นเรื่องอนาคตของเด็ก อนาคตเป็นของเขา เขาจึงย่อมรู้ดีกว่าเรา วรชัย กล่าว