‘ทิปโก้แอสฟัลท์’ ปิดโรงกลั่น   สะเทือนราคา-กำไรหนักกว่าคาด

 ‘ทิปโก้แอสฟัลท์’ ปิดโรงกลั่น    สะเทือนราคา-กำไรหนักกว่าคาด

อาการราคาหุ้นดิ่งเป็นฟลอร์เป็นวันที่ 2 ของบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO สะท้อนผลกระทบที่ยังคาดการณ์ได้ไม่ชัดเจนว่ามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นจะหายไปเท่าไร หลังเผชิญปัจจัยลบต้องปิดโรงกลั่นสำคัญที่ประเทศมาเลเซีย

ราคา TASCO ปรับตัวลดลงรุนแรงท้ายสัปดาห์ก่อนจนราคาหลุด 25 บาท จนมาปิดที่ 17.40 บาท (15 ก.ย.) เช่นเดียวกับบริษัทแม่ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO ที่ถือหุ้นอยู่ 23% ราคาหลุดระดับ 7 บาท และมาปิด 5.68 บาท (15 ก.ย.)

ด้วยข่าวที่ TASCO ประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงเย็นวันที่ 11 ก.ย. ต้องทำการปิดโรงกลั่น KBC ที่เมือง Kemaman ประเทศมาเลเซีย ซึ่งรับน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาและคิดเป็น 90 % ของปริมาณน้ำมันดิบที่ใช้ทั้งหมด

ประกาศดังกล่าวมีผลต่อรายได้หลักทันทีเพราะน้ำมันดิบหลังมีการกลั่นมีการนำมาผลิตเป็นสินค้าปิโตรเคมีและเป็นยางมะตอยส่งขายทั่วโลก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ TASCO ที่สร้างรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังไม่สามารถระบุระยะเวลาที่ชัดเจนได้ว่าจะกลับมาเปิดโรงกลั่นได้เมื่อไร 

โดยบริษัทให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าช่วง ธ.ค. 2562 สถานฑูตสหรัฐได้เริ่มสอบถามการซื้อน้ำมันทางบริษัท เนื่องจากก่อนหน้านี้สหรัฐประกาศคว่ำบาตรเวเนซูเอลา ที่มีประธานาธิดี นิโกลัส มาดูโร เป็นผู้นำตั้งแต่ปี 2560

จากนั้นเดือน ส.ค. 2563 สหรัฐร้องขอให้บริษัทหยุดซื้อน้ำมันจากเวเนซุเอลา จนในที่สุดมีการระบุให้บริษัทหยุดซื้อน้ำมันภายในเดือน พ.ย. 2563 เพื่อไม่ให้เจอมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ และนำมาสู่ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง

ผลกระทบดังกล่าวยังมีปัจจัยลบซ้ำเติมจากคลังน้ำมันที่ใช้สำรองน้ำมันดิบจะสิ้นสุดสัญญาเดือนก.พ. 2564 เท่ากับบริษัทจะเจอแรงกดดันจากการต้องการหาแหล่งน้ำมันดับแห่งใหม่ พร้อมกับการบริหารสต็อกน้ำมันดิบในอนาคต

ท้ายที่สุดบริษัทจะประกาศแผนการบริหารความเสี่ยงสำหรับกรณียกเลิกซื้อน้ำมันดิบจากเวเรซูเอลา 2 รูปแบบ คือ 1. การหาซื้อน้ำมันดิบจากรายอื่นมาทดแทน ทั้งผู้ผลิตและบริษัทที่เทรดดิ้ง 2. บริษัทเตรียมจัดหายางมะตอยจากโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ภายในไทย จีน เกาหลีใต้ เพื่อรองรับธุรกิจเทรดดิ้งในตลาดต่างประเทศของบริษัท

ปัจจุบันมีกำลังผลิตโรงกลั่นจาก KBC 30,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความสามารถผลิตยางมะตอยทั้งบริษัท 2 -2.2 ล้านตันต่อปี ซึ่ง กว่า 50 % มาจากโรงกลั่นดังกล่าว ดังนั้นหากประเมินเบื้องต้นเท่ากับบริษัทต้องหาแหล่งโรงกลั่นเพื่อผลิตยางมะตอยที่หายไปไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันต่อปี

รวมไปถึงการจัดหาคลังเก็บน้ำมันแห่งใหม่ หากสิ้นสุดสัญญาดังกล่าว ด้วยบริษัทต้องการตุนน้ำมันดิบไว้รองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันคลังน้ำมันดิบบริษัทอยู่ที่ราว 12.5 ล้านบาร์เรล ส่งผลทำให้มีค่าใช้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น  ยังไม่นับรวมการหากแหล่งน้ำมันดิบรายอื่นเพื่อมาทดแทนจากเวเนซูเอลา ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนของบริษัทต้องเพิ่มขึ้นไปด้วย 

ประเด็นดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ลดคำแนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ขาย” และปรับราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2564 ลงเป็น 12.40 บาทต่อหุ้น อิง PER ที่ 13.0x จาก 16.4x เนื่องจากอัตราราคาที่ได้จากซัพพรายรายใหม่ลดลงและมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า กระทบ GPM ในระยะยาว

พร้อมปรับประมาณการกำไรปกติปี 2564 ลง 50% เป็น 1,504 ลบ. (-25.7%YoY) เนื่องจากปริมาณการขายยางมะตอยลดลงจาก 2.0 - 2.2 ล้านตันเป็น 1.0 - 1.2 ล้านตัน จากยังคงประมาณการกำไรปกติปี 2563 ที่ 2,024 ลบ. (-17.4%YoY)  จากผลกระทบยอดขายในตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 1.5 - 1.8 ล้านตันต่อปี (มีสัดส่วนรายได้ราว 60 - 70% ของรายได้ทั้งหมด) ซึ่งการปิดโรงกลั่นในมาเลเซียจะกระทบต่อยอดขายในต่างประเทศโดยตรง คิดเป็นประมาณ 0.8 - 1.1 ล้านตันต่อปีที่หายไป

ขณะที่ตลาดในประเทศซึ่งมีมาร์จิ้นสูงได้รับผลกระทบอย่างจำกัด เนื่องจากบริษัทซื้อผลผลิตยางมะตอยจากโรงกลั่นในประเทศแล้วขายให้กลุ่มลูกค้า โดยปกติยอดขายในประเทศอยู่ราว 400,000 - 500,000 ตันต่อปี (มีสัดส่วนรายได้ราว 30 - 40% ของรายได้ทั้งหมด)