CIMBTหวังมาร์เก็ตแชร์ปีนี้แตะ30% ลุยออกตราสารอ้างอิง‘ธอร์’

CIMBTหวังมาร์เก็ตแชร์ปีนี้แตะ30% ลุยออกตราสารอ้างอิง‘ธอร์’

CIMBT เล็งออก "หุ้นกู้- สัญญาอนุพันธ์- สินเชื่อ"อ้างอิง "ธอร์" หวังขึ้นแท่นผู้นำตลาดเงินได้ปีนี้  ครองมาร์เก็ตแชร์เป็น 30% จากปัจจุบันที่ 20-25% ล่าสุดจับมือ 4 แบงก์ ออกสัญญาอนุพันธ์แล้วรวม8.3 พันล้านบาท

นายเพา จาตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)หรือ CIMBT เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ภายใต้ “THOR” (Thai Overnight Repurchase Rate) ปัจจุบันธนาคารได้เริ่มมีการเข้าทำสัญญาอนุพันธ์ ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยใหม่ THOR เป็นธุรกรรมแรกแล้วในช่วงที่ผ่านมา คือ ธุรกรรมอนุพันธ์ Overnight Index Swap หรือ OIS ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย มูลค่า 800 ล้านบาท เมื่อส.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับปัจจุบันมี 4 ธนาคาร ที่ได้ร่วมทำสัญญาอนุพันธ์ ร่วมกับธนาคาร ซึ่งเป็นประเภทอายุสัญญา6 เดือน มูลค่า 6 พันล้านบาท และอายุสัญญา 1ปี มูลค่า 1.5 พันล้านบาท ซึ่งโดยรวมแล้ว มีสัญญาอนุพันธ์ที่อิงกับอัตราดอกเบี้ย THOR ที่เกิดขึ้นแล้ว 8.3 พันล้านบาท ซึ่งอนาคตคาดว่าจะเห็นธนาคารพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สัญญาอนุพันธ์และสัญญาสินเชื่อ หุ้นกู้ที่อ้างอิง THOR ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้จากที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ได้เริ่มใช้สัญญาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ผ่านสัญญาต่างๆทั้งสัญญาอนุพันธ์ อินเตอร์แบงก์ และสัญญาสินเชื่อต่างๆ คาดว่าจะหนุนให้ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ขึ้นเป็นผู้นำในตลาดเงินได้ในระยะข้างหน้า โดยคาดสิ้นปีนี้ ส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์)จะขึ้นสู่ 30% จากปัจจุบัน ที่มีธุรกรรมที่ THBFIX อยู่ราว 4 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ราว 20-25%

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเริ่มเห็นลูกค้าธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ทยอยปรับการทำธุรกรรมต่างๆมาใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง Fallback THBFIX ภายในสิ้นปีนี้บางส่วน และจะปรับไปสู่ธุรกรรมที่อ้างอิง THOR ทั้งหมดในอนาคต 

ขณะที่แนวโน้มการออกหุ้นกู้ของภาคธุรกิจ คาดในครึ่งหลังปีนี้จะเห็นทิศทางการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มสาธารณูปโภค และอุปโภคบริโภคที่ยังเห็นดีมานด์อย่างต่อเนื่อง 

ส่วนภาพรวมธุรกิจบริหารเงิน (Treasury)คาดว่ายังเติบโตได้ดี โดยทั้งปียังทำได้เกินเป้าหมายที่ราว15-20% แม้ว่าปริมาณนำเข้าและส่งออกลดลง ทำให้ธุรกิจอัตราแลกเปลี่ยนหรือ FX ลดลง ซึ่งมีส่วนกระทบรายได้ของธุรกิจบริหารเงินบ้าง แต่ธนาคารสามารถกระจายรายได้เพิ่มขึ้นในธุรกิจอื่นๆ