โรงแรมไทยยื้อ3-6เดือนสู้โควิด ร้องรัฐช่วย!ก่อนหนี้พุ่ง เลิกจ้างใหญ่

โรงแรมไทยยื้อ3-6เดือนสู้โควิด  ร้องรัฐช่วย!ก่อนหนี้พุ่ง เลิกจ้างใหญ่

หลังวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ลดลงตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 และหยุดชะงักเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมทั่วประเทศต้องปิดกิจการชั่วคราว

ปัจจุบันมีโรงแรม 50% ที่ยังคงปิดกิจการอยู่ โดยเฉพาะโรงแรมที่อยู่ในจังหวัดที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เช่น จ.ภูเก็ต ซึ่งมีโรงแรมเปิดบริการเพียง 10% ในปัจจุบัน

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า “กระแสเงินสด” ของผู้ประกอบการโรงแรมไทยส่วนใหญ่อยู่ได้อีก 3-6 เดือนนับจากนี้ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาและจำเป็นต้องพึ่งพาแต่ตลาดนักท่องเที่ยวไทย โดยสมาคมฯได้ประเมินว่าปัจจุบันแรงงานในธุรกิจโรงแรมว่างงานทั้งแบบชั่วคราวและถาวรรวมถึง 1 ล้านคน! โดย 25% เป็นการว่างงานถาวร และยังพบว่ามีความต้องการจ้างงานลดลง 75%

“หากยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวจนถึงกลางปี 2564 จะมีผลทำให้เงินหมุนเวียนของธุรกิจลดน้อยลงยิ่งขึ้น รวมถึงการว่างงานที่เพิ่มขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้นตามลำดับ และท้ายสุดโรงแรมอาจต้องปิดตัวลงหรือขายกิจการ”

ภาวะเศรษฐกิจยังมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและดีมานด์การเดินทางลดลง ธุรกิจโรงแรมอยู่ในสภาวะซัพพลายล้นตลาด จากโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ห้องพักอพาร์ตเมนท์และคอนโดมิเนียมที่นำมาขายรายวัน และสำหรับโรงแรมที่เปิดกิจการแล้วนั้นยังคงขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถสร้างยอดขายให้สูงกว่าจุดคุ้มทุน กำลังเผชิญกับภาวะการขาดทุนอย่างหนัก และจะมีการขาดทุนระยะยาว ส่งผลให้มีความจำเป็นเลิกจ้างพนักงาน

สมาคมฯจึงเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อาทิ มาตรการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อรักษาการจ้างงานและเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระต้นทุนคงที่สำหรับโรงแรมเมื่อเปิดกิจการ โดยจะขอหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือโรงแรมขนาดกลางและเล็ก

และขอให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยเข้าไปร่วมลงทุนในส่วนทุน หรือซื้อหนี้ของแต่ละกิจการระยะเวลา 7 ปี และเปิดสิทธิรับซื้อคืนได้ในผลตอบแทน 1% ต่อปีของกองทุนฯ

นอกจากนี้สมาคมฯจะขอให้นำร่องเปิดประเทศเพื่อรับชาวต่างชาติเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยมีมาตรการการควบคุมที่เหมาะสม ได้แก่ 1.มาตรการรับนักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ แบบกักตัว 14 วัน นอกเหนือจาก 11 กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้เข้าประเทศไทยได้ ณ ปัจจุบัน

2.เปิดรับนักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ ที่มีกิจกรรมทางธุรกิจซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ต้องการเดินทางเข้ามาประชุมหรือเจรจาธุรกิจระยะสั้นน้อยกว่า 14 วัน โดยมีผลตรวจปลอดโควิดก่อนเข้าประเทศ อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัททัวร์ที่ได้รับการอบรมและรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และมีผู้ติดตามที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ประกบด้วย ทั้งนี้ต้องแจ้งกำหนดการตลอดระยะเวลาพำนักในไทย และเข้าพักที่โรงแรม ASQ (Alternative State Quarantine) สามารถออกนอกประเทศได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ครบ 14 วัน

3.เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัดพื้นที่ ร่วมกับประเทศหรือเมืองที่ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้เป็นอย่างดี (Travel Bubble / Green Lane Arrangement with Low-Risk Countries or Cities) เช่น ไต้หวัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และในพื้นที่บางส่วนของจีน โดยนักท่องเที่ยวจะต้องเข้าสู่การกักตัวตามนโยบายการกักกันตัวที่เหมาะสม ทั้งนี้อาจสามารถลดระยะเวลาการกักตัวเพื่อความยืดหยุ่น หรือแม้กระทั่งให้นักท่องเที่ยวกักกันตัวด้วยตัวเองแล้วรายงานผลผ่านทางแอปพลิเคชันที่รัฐกำหนดทุกวัน

“มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติดังกล่าว อาจสามารถเริ่มต้นทำแบบจำกัดพื้นที่ก่อนได้ เช่น ภูเก็ตโมเดล โดยการกักตัวแบบลักษณะจำกัดพื้นที่นี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดจะต้องให้ความร่วมมือกับโครงการดังกล่าว และขอให้ภาครัฐช่วยสร้างความเข้าใจ ความมั่นใจจากประชาชน โดยมีแผนการการสื่อสารที่ชัดเจนและเป็นระบบครอบคลุมไปในทิศทางเดียวกันจากทุกหน่วยงาน”

ส่วนข้อเสนออื่นๆ ที่สมาคมฯต้องการให้รัฐเยียวยาเพิ่มเติม ยังมีเรื่องการขอให้ยืดระยะเวลาการจ่ายเงินเยียวยาจากกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 33 ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน จาก 90 วัน เพิ่มอีก 90 วัน หรือตลอดระยะเวลาที่ประเทศไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้เต็มรูปแบบ และขอลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง เดิมฝ่ายละ 5% เหลือฝ่ายละ 1% เป็นระยะเวลา 6 เดือน

รวมถึงขอยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) และจ่ายตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง โดยขอขยายเวลาต่อจากเดิมที่จะสิ้นสุด 30 ก.ย.นี้ ออกไปอีก 6 เดือน จนถึง 31 มี.ค.2564 และให้สอดคล้องกับวันที่รัฐบาลกำหนดให้มีการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง