'ทรัมป์' กับสงครามสามเป้า

'ทรัมป์' กับสงครามสามเป้า

เปิดบทวิเคราะห์ "สงครามสามเป้า" แนวรบใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะเข้าสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งมีรูปแบบแนวรบใหม่ที่มุ่งเป้าเฉพาะเจาะจง แทนที่จะทำสงครามภาษีแบบเต็มสูบอย่างในอดีต

ความล้มเหลวของทรัมป์ในการรับมือโควิด ทำให้เขาต้องหาแพะมารับบาป ซึ่งแพะที่ดีที่สุดก็คือ “จีน” ทรัมป์ย้ำแล้วย้ำอีกว่าไวรัสมาจากจีน โดยเป็นผลจากความผิดพลาดในการจัดการและการปกปิดข้อมูลของรัฐบาลจีน

เมื่อฝันหวานที่ว่าเศรษฐกิจจะดีช่วงเลือกตั้งพังทลายลง ทรัมป์จึงต้องหันมาพึ่งกระแสชาตินิยมแทน โดยสร้างศัตรูร่วมและเล่นบทว่าเขาเป็นผู้นำสหรัฐคนเดียวที่จะกล้าแข็งข้อและดุดันกับจีน

แต่ทรัมป์ก็ไม่ได้ฉีกข้อตกลงการค้า Phase 1 กับจีนทิ้ง เพราะขืนทำเช่นนั้นเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังเละเทะเพราะโควิดก็จะยิ่งทรุดหนักเข้าไปใหญ่ ตอนนี้สหรัฐไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจมากพอที่จะทำสงครามภาษีกับจีน ต่างจากสหรัฐช่วงปีที่แล้วที่เศรษฐกิจกำลังเป็นช่วงขาขึ้น จึงสามารถก่อสงครามภาษีตอบโต้กันไปมากับจีนได้ในตอนนั้น 

ครั้งนี้ทรัมป์จึงเลือกรบแบบมุ่งเป้าเฉพาะเจาะจง แทนที่จะทำสงครามภาษีแบบเต็มสูบอย่างในอดีต ผมเรียกว่าเป็น “สงครามสามเป้า”

เป้าแรกคือ สงครามการค้าต่อบริษัทเทคโนโลยีจีนและบริษัทจีนในสหรัฐ ประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งจำกัดการทำธุรกิจของ TikTok, Tencent และ Huawei ในสหรัฐ โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง ในขณะเดียวกันสภาคองเกรสของสหรัฐก็ได้พิจารณาร่างกฎหมายตรวจสอบบริษัทต่างชาติที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยหากพบว่าบริษัทต่างชาติ (เป้าหมายแท้จริงก็คือ บริษัทจีน) มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐบาลต่างชาติ หรือมีมาตรฐานการบัญชีที่ไม่โปร่งใส สุดท้ายอาจถูกถอดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐได้ 

ปัจจุบันมีบริษัทสัญชาติจีนจำนวน 165 แห่งที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Alibaba, Baidu และ JD.com ด้วย 

ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามของทรัมป์ต่อบริษัทจีน คือบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐที่อยู่ที่จีน เช่น Apple ซึ่งเริ่มถูกทั้งรัฐบาลจีนกดดันและผู้บริโภคจีนบอยคอตไม่ซื้อสินค้า แต่โดยรวมสงครามต่อบริษัทจีนไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐในวงกว้าง แตกต่างจากการทำสงครามภาษีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งย่อมจะกระทบผู้บริโภคสหรัฐที่ต้องซื้อของจากจีนแพงขึ้น และเกษตรกรสหรัฐที่ถูกจีนขึ้นภาษีถั่วเหลืองตอบโต้

เป้าสองคือ สงครามจิตวิทยาในประเด็นละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของจีน ได้แก่ ฮ่องกง ทะเลจีนใต้ และไต้หวัน ทรัมป์ออกมาแถลงประณามจีนเรื่องที่จีนออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อบังคับใช้ในฮ่องกง และยังประกาศยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับฮ่องกงด้วย

ทรัมป์ยังกระตุกหนวดมังกรด้วยการส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่ไปเยือนไต้หวัน นับตั้งแต่ที่สหรัฐยอมรับนโยบาย “จีนเดียว” ของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ และตัดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันในปี 1979 ส่งสัญญาณชัดเจนว่าทรัมป์ไม่เกรงใจและไม่เห็นแก่หน้าจีน

ส่วนในเรื่องทะเลจีนใต้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เพิ่มรายชื่อรัฐวิสาหกิจจีน 24 แห่ง รวมถึงบริษัทในเครือของ China Communications Construction Co. ที่มีส่วนสนับสนุนการอ้างสิทธิของจีนและใช้กำลังทหารในพื้นที่หน้าด่านของทะเลจีนใต้ ลงในบัญชีดำทางเศรษฐกิจ 

เป้าสามคือ สงครามน้ำลายต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกสี จิ้นผิง จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นเลขาธิการสี จิ้นผิงแทน โดยเลือกใช้ตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของสี จิ้นผิงแทนตำแหน่งประธานาธิบดีจีน นอกจากนั้นเวลาแถลงข่าวถึงจีน ไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐก็เปลี่ยนมาเรียกจีนว่าจีนคอมมิวนิสต์ (Communist China) สวนเทรนด์ 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐพยายามจะแกล้งลืมว่าจีนเป็นคอมมิวนิสต์ และเริ่มคบค้าสนิทสนมกับจีนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเรียกผู้นำจีนทุกครั้งตลอด 40 ปีที่ผ่านมา สหรัฐจะยึดตำแหน่งทางการในรัฐบาลเสมอ เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ไม่เคยเรียกผู้นำจีนในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เลย

การเรียกจีนว่า “จีนคอมมิวนิสต์” นั้น เป็นการปลุกผีคอมมิวนิสต์ที่ในยุคหนึ่งคนสหรัฐเคยเกลียดกลัว และเป็นการพยายามย้ำเตือนว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นความขัดแย้งพื้นฐานในเรื่องระบบการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งก็สวนทางกับกระแส 40 ปีก่อนหน้านี้ที่วงนโยบายสหรัฐมักจะส่งเสริมแนวคิดว่าจีนเป็นคอมมิวนิสต์เปลี่ยนสีและได้เข้าร่วมระบบเศรษฐกิจโลกทุนนิยมอย่างเต็มตัวแล้ว

สหรัฐยังยกระดับความขัดแย้งกับจีนด้วยการประกาศปิดสถานกงสุลใหญ่ของจีนที่รัฐเท็กซัสเมื่อเดือน ก.ค.2020 สถานกงสุลใหญ่ของจีนที่รัฐเท็กซัสเป็นสถานกงสุลแห่งแรกของจีนในสหรัฐ จึงคล้ายกับสหรัฐกำลังจะเริ่มถอดกระดุมเม็ดแรก ค่อยๆ ถอดรื้อความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐทิ้งเสีย

เมื่อครั้งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่สองของจีนเยือนสหรัฐเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ นอกจากการเยือนกรุงวอชิงตันแล้ว เติ้ง เสี่ยวผิงเลือกเดินทางเยือนรัฐเท็กซัส เพื่อเยี่ยมชมองค์การนาซาและบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ ด้วยเป้าหมายชัดเจนว่าจีนในขณะนั้นล้าหลังและต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีจากสหรัฐ

แต่ในวันนี้ สาเหตุหนึ่งที่สหรัฐใช้อ้างในการปิดสถานกงสุลจีนก็คือ จีนทำการลักลอบเอาเทคโนโลยีสหรัฐไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งส่งทหารปลอมมาเป็นนักศึกษา ทั้งทำสงครามไซเบอร์ โดยสหรัฐอ้างว่านอกจากความลับทางการค้าแล้ว จีนยังพยายามลักลอบเอาเทคโนโลยีวัคซีนของสหรัฐไปอีกด้วย

ระหว่างทรัมป์กับทีมยุทธศาสตร์ต่างประเทศของทรัมป์นั้น ไม่รู้ว่าใครหลอกใช้ใคร ทรัมป์ต้องการปั่นกระแสแพะจีนและภัยจีน ปลุกไฟชาตินิยมเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง ส่วนบรรดาทีมที่ปรึกษาและทีมต่างประเทศรอบตัวทรัมป์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่เกลียดกลัวจีนก็ใช้โอกาสนี้เดินเกมสงครามสามเป้า ด้านหนึ่งก็พยายามจำกัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐในวงกว้าง ด้วยการหลีกเลี่ยงสงครามภาษีเต็มสูบแบบปีที่แล้ว แต่อีกด้านก็เดินหน้าเปิดแนวรบเริ่มต้นสงครามเย็นรอบใหม่ จนนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าไม่ว่าทรัมป์จะชนะหรือแพ้การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ทีมต่างประเทศชุดต่อไปคงยากที่จะทวนกระแสการถอดรื้อความเชื่อมโยงกับจีน