‘Bourbon Pointu’ กำเนิดใหม่กาแฟสาย Floral & Fruity

‘Bourbon Pointu’ กำเนิดใหม่กาแฟสาย Floral & Fruity

โปรไฟล์รสชาติและเรื่องราวของกาแฟจากทิปิก้า สู่ “Bourbon Pointu” กาแฟหายาก รสชาติดี ด้วยบอดี้ที่เบา ให้รสเปรี้ยวผลไม้ต่ำ และมีกลิ่นดอกไม้หอมผสมกับผลไม้โทนเบอร์รี่และแอปริคอต ซึ่งเป็นที่นิยมมากในตลาดโลกยุคนี้

กาแฟที่จัดว่าหายากและมีราคาแพงตัวหนึ่งของโลก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกือบสูญหายไปแล้วจากประวัติศาสตร์กาแฟโลก แต่กระนั้นก็กลับมาแจ้งเกิดได้อีกครั้งจากการค้นหาและฟื้นฟูสายพันธุ์ ทว่าในปีๆ หนึ่งผลผลิตมีจำนวนน้อยเหลือเกิน นั่นก็คือ กาแฟพันธุ์ Bourbon Pointu (เบอร์บอน ปวงตูว์) จากเกาะเบอร์บอนหรือรียูเนียนในปัจจุบัน

จุดเด่นของ เบอร์บอน ปวงตูว์ ที่มีการหยิบยกมาพูดถึงกันมาก เป็นสายพันธุ์กาแฟที่มีปริมาณคาเฟอีนเพียง 0.6 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับสายพันธุ์อาราบิก้าทั่วไปที่มีในอัตราเฉลี่ย 1.2 -1.6 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันก็มีโปรไฟล์กาแฟที่ดีมากๆ คือ รสเปรี้ยวผลไม้ต่ำ รสขมก็ต่ำด้วยเช่นกัน กลิ่นรสก็โดดเด่นในสไตล์ ดอกไม้&ผลไม้’ (Floral & Fruity) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในตลาดโลกยุคนี้

เบอร์บอนเป็นสายพันธุ์กาแฟที่กลายพันธุ์ตามธรรมชาติมาจากสายพันธุ์ทิปิก้า การกลายพันธุ์เกิดขึ้นบนเกาะเรอูนียง หรือ เกาะรียูเนียน (Reunion Island) เรียกกันว่า เบอร์บอน ปวงตูว์ ซึ่งเกาะนี้เมื่อครั้งที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในยุคแรกๆ ชื่อว่า เกาะเบอร์บอน โดยคุณลักษณะพิเศษที่เพิ่มเติมเข้ามานั้นอยู่ตรงที่ลักษณะผล ใบ และทรงต้น ที่สำคัญผลสุกของกาแฟกลายพันธุ์ มีทั้ง สีแดงและ สีเหลืองซึ่งเกิดจากคนละต้น ไม่ใช่จากต้นเดียวกัน

159987072249

ลักษณะผลเชอรี่สุกของกาแฟสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งเบอร์บอน ปวงตูว์ ภาพ : Anthony Auger for Caravela Coffee

รียูเนียน เป็นเกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่ระหว่างเกาะมอริเชียสและเกาะมาดากัสการ์ มีสถานะเป็นจังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ใจกลางเกาะมีภูเขาไฟชื่อว่า ‘ปิตงเดอลาฟูร์แนส’ (ยอดเขาแห่งเตาหลอม) สภาพทางด้านภูมิอากาศและธรรมชาติมีความคล้ายคลึงกับเกาะฮาวาย ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1649 เกาะแห่งนี้ได้ถูกตั้งชื่อว่า เกาะบูร์บง’ (Île Bourbon) ตามชื่อราชวงศ์บูร์บงที่ปกครองฝรั่งเศสในขณะนั้น เข้าใจว่า ชื่อกาแฟเบอร์บอนนั้นน่าจะออกเสียงตามภาษาอังกฤษ จนเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา

ก่อนเจาะลึกลงในไปรายละเอียดของ เบอร์บอน ปวงตูว์ มาดูประวัติกาแฟโลกกันพอสังเขปสักนิดหนึ่งครับ เป็นที่ทราบกันดีว่า ในป่าทางโซนตะวันตกเฉียงใต้ของเอธิโอเปีย คือ แหล่งกำเนิดของกาแฟป่ากว่า 100 สปีชีส์ และพันธุ์อาราบิก้า ก็คือหนึ่งในสปีชีส์กาแฟซึ่งได้แพร่ขยายออกไปทั่วโลก สองสายพันธุ์ของกาแฟอาราบิก้าที่ได้รับความนิยมมาก คือ เบอร์บอนและทิปิก้า(Typica)

จากการตรวจสอบทางพันธุกรรมโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ยืนยันว่า กาแฟเบอร์บอนและทิปิก้า มีต้นกำเนิดอยู่ในเอธิโอเปีย ก่อนแพร่เข้าไปยังเยเมนตามเส้นทางการค้ากาแฟของโลกในอดีต จากนั้นเมล็ดกาแฟทั้งสองสายพันธุ์ก็ถูกนำออกจากคาบสมุทรอาหรับ ไปเพาะปลูกเป็นพืชอุตสาหกรรมตามอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ จนกลายเป็นสองสายหลักๆ ที่มีการผลิต จำหน่าย และบริโภคกันไปทั่วโลก ต่อมาเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ก็เกิดการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ จึงทำให้เกิดสายพันธุ์ย่อยมากมาย

159987072040

เมล็ดกาแฟเบอร์บอน ปวงตูว์ วางขายบนเว็บไซต์ boutik-reunion.com

เบอร์บอนกับทิปิก้านั้นมีคุณภาพด้านรสชาติและกลิ่นหอมที่ใกล้เคียงกันมาก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่าเบอร์บอนดีกว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ตามที่ชัดเจนก็คือ

เบอร์บอนให้ผลผลิตกาแฟที่สูงกว่าทิปิก้าโดยเฉลี่ย 20-30 เปอร์เซ็นต์ แถมยังทนทานต่อโรคพืชมากกว่าอีกต่างหาก ขณะที่ทิปิก้าเติบโตเร็ว แต่ไม่ทนต่อโรค นี่เป็นเหตุผลสำคัญทึ่ทำให้บราซิลที่แต่เดิมปลูกทิปิก้าเป็นส่วนใหญ่ ส่งทีมงานไปยังเกาะรียูเนียนราวปี ค.ศ. 1720 เพื่อนำกาแฟสายพันธุ์เบอร์บอนที่ให้ผลสุกสีแดง หรือ Red Bourbon กลับมาปลูกยังบราซิล ซึ่งต่อมากลายเป็นกาแฟตัวหลักของแดนแซมบ้าไป

ทั้งนี้ เบอร์บอนและทิปิก้า นับเป็นสองกาแฟสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามาทดลองปลูกในดอยทางภาคเหนือของไทยเราเมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว พร้อมกับสายพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ คาทูร์ร่า (Caturra) และมุนโด โนโว (Mondo Novo) รวมถึงพันธุ์คาติมอร์ (Catimor) ในเวลาต่อมา

จะเห็นว่ากาแฟทิปิก้าและเบอร์บอนค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่ถูกนำออกมาจากเอธิโอเปียและเยเมนในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ปัจจุบัน จากการตรวจสอบความแตกต่างในระดับดีเอ็นเอหรือที่เรียกว่า ‘ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ’ (DNA Fingerprint) สามารถแยกสองสายพันธุ์นี้ออกจากกันได้แล้ว

ราวปลายทศวรรษ 1600 ชาวดัทช์ได้นำต้นกาแฟจำนวนหนึ่งออกจาก ท่าเรือมอคค่า ในเยเมน เพื่อนำไปปลูกยังอินเดีย และจากการตรวจสอบทางพันธุกรรมพบว่า ทั้งเบอร์บอน และทิปิก้า ถูกนำออกจากเยเมนเข้าไปยังอินเดียด้วย อย่างไรก็ตาม ระหว่างปีค.ศ. 1696-1699 พวกดัทช์ได้นำต้นกาแฟทิปิก้าจากอินเดียแยกเข้าไปเพาะปลูกบนเกาะชวา ก่อนกระจายออกสู่อเมริกาใต้, ฟิลิปปินส์ และฮาวาย จนที่เป็นมาของการขนานนามว่า เส้นทางกาแฟสายทิปิก้า

จากผลของลายพิมพ์ดีเอ็นเอเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า กาแฟสองสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้าไปปลูกยังอินเดียซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่าพันธุ์ Coorg และ Kent นั้น มีความเกี่ยวข้องกับกาแฟสายพันธุ์เบอร์บอน ข้อมูลนี้อาจชี้ให้เห็นว่า ในปี ค.ศ. 1670 เมล็ดกาแฟชุดแรกที่ถูกนำออกจากเยเมนไปยังอินเดียโดย บาบา บูดาน (Baba Budan) มีสายพันธุ์เบอร์บอนและทิปิก้ารวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย นั่นเป็นข้อมูลยันยันว่า เมื่อหลายร้อยปีก่อน พวกดัทช์ได้นำพันธุ์ทิปิก้าจากอินเดียเข้าไปในเกาะชวา ไม่ใช่จากเยเมนตามที่เข้าใจกันก่อนหน้า

ส่วน ‘เส้นทางกาแฟสายเบอร์บอน’ นั้น อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้น มีการบันทึกไว้ว่าได้ กลายพันธุ์ตามธรรมชาติมาจากกาแฟพันธุ์หลักดั้งเดิมอย่างทิปิก้า เรื่องราวนั้นมีอยู่ว่าหลังจากฝรั่งเศสยึดเกาะแห่งนี้จากโปรตุเกสเมื่อราวปี ค.ศ.1638 แล้วก็เป็นคณะมิชชันนารีที่นำต้นกาแฟจากเยเมน (ซึ่งสุลต่านเยเมนมอบให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14) เข้าไปปลูกบนเกาะเบอร์บอนเป็นชุดแรกจำนวน 60 ต้น เมื่อปีค.ศ. 1708 ปรากฎว่าตายหมด ต่อมาในปีค.ศ 1718 มีการนำต้นเข้ามาปลูกอีกชุด คราวนี้เหลือรอดมาได้ 6-7 ต้น อาจเป็นเพราะว่าต้นกาแฟเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่ต่างออกไปจากเดิมได้แล้ว ก่อนค่อยๆ กลายพันธุ์ไปในที่สุด

การกลายพันธุ์ของกาแฟบนเกาะเบอร์บอน มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานราวปีค.ศ. 1771 โดยลักษณะใบนั้นกลมมากขึ้น และผลกาแฟก็กลมเรียวมากกว่าพันธุ์เดิม จึงมีการตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Bourbon Pointu หรือ Bourbon Rond ซึ่ง Pointu ในภาษาฝรั่งเศส ตรงกับ Pointed ในภาษาอังกฤษ แปลว่า แหลม รี หรือเรียว ส่วน Rond ก็คือ Round ในภาษาอังกฤษ ซึ่งก็คือกลมนั่นเอง

ปูมกาแฟโลกลงรายละเอียดตรงนี้ไว้ว่า ในปีค.ศ. 1771 นั้น ผู้ค้นพบลักษณะการกลายพันธุ์ของกาแฟก็คือ เจ้าของไร่กาแฟบนเกาะที่ชื่อ Leroy เป็นผู้คัดเลือกเฉพาะต้นกลายพันธุ์เอาไปปลูกต่อ เนื่องจากเห็นว่ามีความทนทานต่อความแห้งแล้ง โดยใช้ชื่อเรียกกาแฟตัวนี้ว่า ‘Café Leroy’ ส่วนชื่อ Bourbon Pointu มีการเรียกกันในภายหลังนับจากปีค.ศ. 1920 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ก็ยังมีชื่อเรียกกันอีกว่า ‘Arabica Laurina’ ตามชื่อผู้พัฒนาสายพันธุ์นี้ในเวลาต่อมา

159987072165

สภาพเทือกเขาบนเกาะรียูเนียน บางส่วนเป็นภูเขาไฟ ภาพ : Free To Use Sounds on Unsplash

ในศตวรรษที่ 18 ผลผลิตกาแฟจากเกาะเบอร์บอนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยอาศัยแรงงานท้องถิ่น จนกลายเป็นตลาดกาแฟหลักที่ส่งออกไปจำหน่ายยังยุโรปในรูปแบบของเมล็ดกาแฟคั่ว (Roasted Bean) และถูกเสิร์ฟในฐานะเครื่องดื่มชั้นเลิศในพระราชวังของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้นกาแฟกลายพันธุ์นี้เติบโตอยู่บนเกาะจนถึงกลางศตวรรษที่ 19 จึงถูกนำออกนอกเกาะเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ของทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกา ตามการเข้าไปตั้งหลักแหล่งเพื่อเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารีฝรั่งเศส ซึ่งปกติก็มักจะมีเมล็ดกาแฟติดไม้ติดมือไปปลูกเป็นไร่เล็กๆ เพื่อชงดื่มกันเอง เมล็ดหรือต้นกาแฟเหล่านี้ก็มาจากเกาะเบอร์บอน แหล่งปลูกกาแฟยุคแรกๆ ของฝรั่งเศสนั่นเอง

ต่อมา กาแฟจากเกาะเบอร์บอนก็ค่อยๆ ลดความสำคัญลง ฝรั่งเศสได้ส่งเสริมให้มีการทำไร่อ้อยขึ้นแทนที่ ประกอบกับเกิดเหตุระบาดของโรคราสนิมขึ้น จนสร้างความเสียหายใหญ่หลวง ต้นกาแฟล้มตายลงเป็นอันมาก จนแทบจะเลิกทำไร่กาแฟกันไป ในปีค.ศ. 1942 มีการส่งกาแฟหนึ่งล็อตสุดท้ายจำนวน 200 กิโลกรัมไปยังฝรั่งเศส จากนั้นก็ไม่มีใครเอ่ยถึงกาแฟเบอร์บอน ปวงตูว์ กันอีกเลย

จนกระทั่งอีกราว 50 ปีต่อมา จึงปรากฎชื่อกาแฟพันธุ์นี้ขึ้นอีกครั้งบนเวทีโลก จากฝีมือนักล่ากาแฟชื่อดังชาวญี่ปุ่นทีชื่อ โฮเซ่ โยชิอากิ คาวาชิมา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัท Ueshima Coffee Company (UCC) ในขณะนั้น

คาวาชิมา เดินทางท่องทั่วโลกเพื่อเสาะหากาแฟชั้นดีนำมาจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคมของปีค.ศ. 1999 หลังจากได้ยินเรื่องราวของกาแฟตัวนี้ในเอล ซัลวาดอร์ เขาก็ออกเดินทางมุ่งสู่เกาะเบอร์บอนซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นรียูเนียนแล้ว เพื่อค้นหากาแฟเบอร์บอน ปวงตูว์ ที่สูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่ไม่พบแม้แต่ต้นเดียว สอบถามจากชาวบ้านก็ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครจำอะไรได้เลย

159987072363

โฮเซ่ โยชิอากิ คาวาชิมา ผู้แจ้งเกิดกาแฟเบอร์บอน ปวงตูว์ ภาพ : www.mi-cafeto.com/

ในอีก 2 ปีต่อมา คาวาชิมาเดินทางกลับไปที่นั่นอีกครั้ง คราวนี้สอบถามจากชาวไร่และเจ้าหน้าที่เกาะ อย่างเหลือเชื่อ... ในที่สุด มีการพบต้นกาแฟ 30 ต้น ซ่อนตัวอยู่กลางป่า รอดชีวิตมาได้โดยปราศจากการดูแล ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานมาได้ ส่งไปตรวจสอบก็พบว่าเป็น เบอร์บอน ปวงตูว์ ทั้งหมด

ทั้งนี้ นักค้นคว้าหากาแฟรายนี้ยังเป็นผู้ค้นพบ(อีกครั้ง) กาแฟพันธุ์หายากที่ชื่้อ ‘Maskarocofea’ บนเกาะมาดากัสก้าด้วย

จากนั้นจึงมีการเปิดตัวคณะทำงานร่วมสามฝ่าย ประกอบด้วยบริษัท UCC, รัฐบาลฝรั่งเศส และเกษตรกรบนเกาะ ตั้งศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยและพัฒนาขึ้นในเกาะรียูเนียน เก็บรวบรวมสายพันธุ์กาแฟ นำไปอนุบาลและเพาะพันธุ์อีกครั้ง ก่อนส่งต่อไปให้เกษตรกรบนเกาะนำไปปลูกต่อ เพื่อพยายามฟื้นฟูกาแฟเบอร์บอน ปวงตูว์ ให้กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งเหมือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน

ต้นปีค.ศ. 2009 เกษตรกรชาวไร่ทำการเก็บเกี่ยวผลกาแฟสุกอีกครั้ง ผ่านกระบวนการโปรเซสแบบเปียกของเกาะ นั่นคือ Wet Process ก่อนเมล็ดกาแฟส่งไปจำหน่ายยังตลาดญี่ปุ่นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ปรากฎว่าได้รับการต้อนรับสูงผิดคาด เมล็ดกาแฟบรรจุถุงปริมาณ 100 กรัมจำนวน 2,000 ถุง ขายหมดอย่างรวดเร็ว แม้จะขายกันในราคาค่อนข้างสูง 7,350 เยน (ราว 2,000 บาท) ต่อ 100 กรัมก็ตาม

159987072272

สารกาแฟ เบอร์บอน ปวงตูว์ จากการโพรเซสแบบเปียก (Wet Process) ภาพ : AdrienChatenay

นอกเหนือจากเรื่องราวในระดับตำนานแล้ว ก็น่าจะเป็นเพราะกลิ่นรสที่ดีมากๆ โดย Testing notes ของกาแฟตัวนี้ นอกจากมีบอดี้ค่อนข้างเบาแล้ว รสเปรี้ยวตามธรรมชาติของกาแฟก็ยังอยู่ในระดับปานกลาง แถมมีกลิ่นออกโทนดอกไม้หอมกับผลไม้โทนเบอร์รี่และแอปริคอต

ด้วยมีกำลังผลิตเพียง 100 กิโลกรัมต่อปี จึงทำให้เป็นกาแฟอีกตัวที่หายากมากๆ แน่นอนว่าราคาก็สูงตามไปด้วย เมื่อพิจารณาจากโปรไฟล์รสชาติและเรื่องราวของกาแฟตัวนี้แล้ว จึงไม่แปลกใจที่เห็นไร่กาแฟจำนวนไม่น้อยนำเบอร์บอน ปวงตูว์ ไปต่อยอดปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตในตลาด เช่น เกาะฮาวาย และโคลอมเบีย เป็นต้น