เจาะลึกต้นสังกัดวง ‘บีทีเอส’ ทำไอพีโอใหญ่สุดในรอบ 3 ปี

เจาะลึกต้นสังกัดวง ‘บีทีเอส’ ทำไอพีโอใหญ่สุดในรอบ 3 ปี

เจาะลึกบริษัท บิ๊ก ฮิต เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ต้นสังกัดวง "บีทีเอส" ประกาศแผนทำไอพีโอ (IPO) หรือทำการเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรก ในเดือนตุลาคม 2563 นี้ พร้อมตั้งเป้าระดมทุนในตลาด 962.6 พันล้านวอน

หลังจากที่วงบีทีเอส (BTS) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศด้วยการเป็นศิลปินรายแรกของเกาหลีใต้ที่ส่งเพลง Dynamite ไปติดอันดับ 1 ชาร์ตบิลบอร์ด ฮอต 100 (Billboard Hot 100) ซึ่งเป็นชาร์ตเพลงสำคัญระดับโลก ได้เป็นผลสำเร็จ ทางบริษัท บิ๊ก ฮิต เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ต้นสังกัดของวง 7 หนุ่มที่เป็น "ความภาคภูมิใจของชาวเกาหลี" หรือ Korea Pride ก็ไม่รอช้า ประกาศแผนทำไอพีโอ (IPO) หรือทำการเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรก ในเดือนตุลาคมที่จะถึง

สิ่งที่ฮือฮา และเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมากคือ บิ๊ก ฮิต ตั้งเป้าว่าจะระดมทุนในตลาดได้มากถึง 962.6 พันล้านวอน (หรือกว่า 25,000 ล้านบาท) ซึ่งสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าเป็นการทำไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปีของเกาหลีใต้เลยทีเดียว

บิ๊กฮิต ได้แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับการทำไอพีโอครั้งนี้เอาไว้ว่าจะนำหุ้น 7.13 ล้านหุ้น เข้าจดทะเบียนใน KOSPI ซึ่งเป็นกระดานหลักของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยตั้งราคาขายเอาไว้ที่หุ้นละ 105,000 วอน – 135,000 วอน ซึ่งถ้าสามารถขายหุ้นได้ในระดับราคาสูงสุด บิ๊ก ฮิต ก็จะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านวอน (กว่า 120,000 ล้านบาท)

159964250238

ทั้งนี้ บิ๊ก ฮิต เป็นต้นสังกัดของวงบีทีเอสที่ทำให้กระแสเค-ป๊อปโด่งดังไปทั่วโลก เฉพาะรายได้จากวงบีทีเอสเพียงวงเดียวก็เทียบเท่ากับบริษัทแชโบลชั้นนำของเกาหลีใต้ และมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศเป็นอย่างมาก โดยความสำเร็จของวงบีทีเอสทำให้ บิ๊ก ฮิต ที่เคยติดหนี้จนเกือบล้มละลายกลายมาเป็นค่ายเพลงที่มีรายได้สูงกว่า 3 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง เอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนต์, วายจี เอนเตอร์เทนเมนต์ และ เจวายพี เอนเตอร์เทนเมนต์ ไปเรียบร้อยแล้ว

สำหรับการทำไอพีโอของบริษัท บิ๊ก ฮิตในครั้งนี้ก็ได้รับการจับตามองว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นเกาหลีที่ค่อนข้างซบเซาในช่วง 2-3 ปีมานี้ได้

ในเอกสารประกอบการทำไอพีโอที่บิ๊ก ฮิต ยื่นต่อตลาด ระบุเอาไว้ว่า บัง ชีฮยอก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด 43.44 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยบริษัท Netmarble ซึ่งเป็นบริษัทเกมในเครือบิ๊ก ฮิตเอง ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ทางบิ๊ก ฮิตยังมอบหุ้นให้กับ 7 หนุ่มวงบีทีเอสกันคนละ 68,385 หุ้น รวมแล้วเท่ากับ 478,695 หุ้น นั่นเท่ากับว่าหนุ่มๆ วงบีทีเอสซึ่งได้รับสมญานามว่า "วงสร้างค่าย" จะได้ครอบครองหุ้นที่มีมูลค่าร่วม 240 ล้านบาทกันทุกคน

159964413824

ส่วนบริษัทที่จะเข้ามาดูแลการทำไอพีโอของบิ๊ก ฮิต คือ เอ็นเอช อินเวสเมนต์ แอนด์ ซิเคียวริตีส์ โค, โคเรีย อินเวสต์เมนต์ แอนด์ ซิเคียวริตี้ส์ โค และ เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค

บีทีเอส’ เป็นทั้งจุดอ่อน-จุดแข็ง

ถึงแม้ว่าวงการบันเทิงทั่วโลกจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19 แต่กระแสความนิยมในวงบีทีเอสก็ช่วยให้ บิ๊ก ฮิต ยังคงทำกำไรอยู่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว บิ๊ก ฮิต รายงานผลกำไรช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 อยู่ที่ 49.7 พันล้านวอน พร้อมระบุว่าการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ และการขายสินค้าต่าง ๆ ของวงบีทีเอส ช่วยชดเชยรายได้ที่ต้องยกเลิกการทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกไปเพราะโควิด

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าหาก บิ๊ก ฮิต เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว วงบีทีเอสที่เป็นจุดแข็งของบริษัทอาจจะกลายมาเป็นจุดอ่อน เพราะบริษัทพึ่งพารายได้จากวงบีทีเอสมากเกินไป

ความเสี่ยงอีกอย่างนึ่งของ บิ๊ก ฮิต ที่เกิดจากวงบีทีเอสคือ ในช่วงปลายปี 2021 และต้นปี 2022 จะมีสมาชิก 2 คน คือ คิมซอกจิน (จิน) และมินยุนกิ (ชูก้า) ต้องเข้ากรมตามกฎหมายเกาหลีใต้ที่กำหนดให้ผู้ชายทุกคนต้องเข้ารับใช้ชาติ แล้วการที่ขาดสมาชิกไป 2 คน น่าจะส่งผลกระทบไม่น้อยต่อวงบีทีเอสที่ตลอดเวลาจะปล่อยผลงานออกมาในนามวง 7 คนมาโดยตลอด แม้แต่การรับโฆษณาก็ไม่เคยปล่อยให้รับเดี่ยวๆ

อย่างไรก็ตาม ทางบิ๊ก ฮิต เองก็รู้เรื่องนี้ดี และพยายามกระจายความเสี่ยง เพิ่มช่องทางในการหารายได้ด้วยการไปซื้อค่ายเพลงหลายแห่งมาไว้ในสังกัด ทำให้ช่องว่างจากการพึ่งพาบีทีเอสลดน้อยลงไป

Hyun-yong Kim นักวิเคราะห์จาก eBest Investment & Securities ให้ข้อมูลเอาไว้ว่าก่อนหน้านี้รายได้หลักของบิ๊ก ฮิต มาจากวงบีทีเอสมากถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ภายหลังจากที่ไปซื้อค่ายเพลง Pledis Entertainment (ซึ่งมีศิลปินวงนิวอีสต์ และวงเซเว่นทีนอยู่ในสังกัด) สัดส่วนรายได้ของบริษัทที่มาจากวงบีทีเอสก็ลดลงไปเหลือ 75 เปอร์เซ็นต์

เท่านั้นยังไม่พอ บิ๊ก ฮิตยังกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงบีทีเอสเพียงวงเดียวด้วยการไปควบรวมกิจการค่ายเพลง Source Music (มีวงเกิร์ลกรุ๊ป Gfriend อยู่ในสังกัด) และบริษัทเกมของเกาหลีชื่อ Superb ตลอดจนจับมือเป็นหุ้นส่วนกับ beNX ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแฟนคอมมิวนิตี้ และแพลตฟอร์มเพื่อการค้าชั้นนำ จนเกิดการเปิดแพลตฟอร์มชื่อ Weverse ขึ้นมาเพื่อเป็นที่ติดต่อระหว่างแฟนเพลงกับศิลปินในสังกัดของตัวเอง

ทั้งนี้ บิ๊ก ฮิต เอนเตอร์เทนต์เมนต์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 ด้วยวัตถุประสงค์ว่าจะสร้างสรรค์ “ดนตรีและศิลปินเพื่อเยียวยาจิตใจคน” (Music & Artist for Healing) ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในผลงานของวงบีทีเอส