สูงวัยในที่เดิม VS สูงวัยในที่ใหม่ ทางเลือกยุคเกิดน้อยอายุยืน

สูงวัยในที่เดิม VS สูงวัยในที่ใหม่ ทางเลือกยุคเกิดน้อยอายุยืน

เมื่อไทยก้าวสู่ยุค "เกิดน้อยอายุยืน" การรองรับสังคมสูงวัยเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องเตรียมพร้อม รวมถึงด้านที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะ “การสูงวัยในที่เดิม” อาศัยบ้านเดิม เพิ่มเติมการเข้าถึงบริการ หรือ “การสูงวัยในที่อยู่อาศัยใหม่เชิงสถาบัน” เช่น ซีเนียร์คอมเพลค

จากการที่ประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่ยุค “เกิดน้อยอายุยืน” ข้อมูลทะเบียนราษฎร์พบว่า จำนวนการเกิดในปี 2562 อยู่ที่ 666,357 คน จากแต่เดิมที่เคยอยู่ในหลักล้าน ขณะที่คนอายุยืนมากขึ้น โดยค่าเฉลี่ยปี 2563 ชายอยู่ที่ 73 ปี และหญิง 80 ปี ส่งผลให้ประชากรสูงอายุหรือ 60 ปีขึ้นไป ราว 12.1 ล้านคน หรือ 18% จากประชากรทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว ส่งผลต่อโครงสร้างครัวเรือนที่ขนาดเล็กลง จากเดิมอยู่กันราว 5.2 คนในปี 2529 มาอยู่ที่ราว 3.1 คนในปี 2563 และหากลองดูรายละเอียดพบว่า ครัวเรือนมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว หรืออยู่เฉพาะผู้สูงอายุ โสด ไม่มีลูกหลาน เพิ่มมากขึ้น

วันนี้ (8 กันยายน) “ผศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยในเขตเมืองในเวที เสวนานโยบายและการจัดการที่อยู่อาศัย สำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ผ่านทางไเฟซบุ๊ค สูงวัย ว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า สัดส่วนครัวเรือนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปี 2539 ซึ่งอยู่ที่ 29.4% สูงขึ้นอยู่ที่ 35.1% ในปี 2550 และ เพิ่มขึ้นเป็น 42.6% ในปี 2561 ขณะที่ ครอบครัวที่ไม่ใช่ครัวเรือนผู้สูงอายุ จาก 70.5% ในปี 2539 ลดลงอยู่ที่ 64.9% ในปี 2550 และ 57.4% ในปี 2561

นอกจากนี้ ครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียว , อยู่เฉพาะผู้สูงอายุ และ อยู่กับวัยทำงาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวจาก 2.3% ในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็น 6.5% ในปี 2561 ขณะที่ ครัวเรือนที่อยู่เฉพาะผู้สูงอายุ จาก 2.1% ในปี 2539 เพิ่มขึ้น 6.2% ในปี 2561 ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่กับเด็ก จาก 1.4% ในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็น 2.1% ในปี 2561 และอยู่กับวัยทำงาน จาก 9.5% ในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็น 17.1% ในปี 2561 ขณะที่ ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ร่วมกับวัยทำงานและเด็ก ลดลงจาก 14.1% ในปี 2539 เป็น 10.6% ในปี 2561

สำหรับปัจจัยต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าควรจะสนับสนุนการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุในเขตเมือง เนื่องจากพบว่า ผู้สูงอายุยิ่งมีอายุมากขึ้น ยิ่งต้องการผู้ดูแล ขณะที่ 2.5% ของผู้สูงอายุในเขตเมือง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ด้วยตนเอง เช่น กินอาหาร ใส่เสื้อผ้า อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ สำหรับผู้สูงอายุในเขตเมืองอยู่เป็นโสดกว่า 22% เป็นหม้าย หย่า สูงถึง 60% และกว่า 38.7% ของผู้สูงอายุในเขตเมือง ที่อยู่อาศัยคนเดียว มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงอายุรูปแบบอื่น กว่า 2.6% ของผู้สูงอายุในเขตเมืองที่อยู่ลำพังคนเดียว อาศัยในอพาร์ตเมนต์ แฟลต คอนโดมิเนียม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ 5.7% ของผู้สูงอายุในเขตเมือง ที่อยู่เพียงลำพังคนเดียว ไม่มีคนดูแล และไม่สามารถทำกิจกรรมขั้นพื้นฐานทั้ง 3 กิจกรรม ได้แก่ กินอาหาร ใส่เสื้อผ้า เข้าห้องน้ำ โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็น หญิง 94.2% และ ชาย 5.8%

ทั้งนี้ ทางเลือกในการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุในอนาคต แบ่งเป็น 2 แบบ คือ “การสูงวัยในที่เดิม” (Ageing in place) มีบ้าน เพื่อนบ้าน สังคม ชุมชน สภาพแวดล้อมเดิม และ “การสูงวัยในที่อยู่อาศัยใหม่เชิงสถาบัน” ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐ สวัสดิการ สงเคราะห์ เช่า ซื้อ ซีเนียร์คอมเพลค บ้านเคหะกตัญญู รวมถึงของภาคเอกชน และองค์กรสาธารณะ

           

ผศ.ดร.ศุทธิดา” กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจเชิงคุณภาพผู้สูงอายุ 2 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ 20 ราย และ กรุงเทพฯ 20 ราย ผ่านทางโทรศัพท์ พบว่า ระบบการดูแลและให้บริการผุ้สูงอายุในเขตเมือง ที่จะสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสูงวัยในที่เดิม (Ageing in place) ต้องมีบริการที่สามารถเข้าถึงได้ โดยประเด็นหลัก คือ ความปลอดภัย เพื่อนบ้าน ผู้ดูแล เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของธุรกิจเพื่อสังคม การบริการด้านสาธารณสุข การเดินทาง รวมถึงการมีผู้ดูแล และอาสาสมัครในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการมากขึ้น เช่น อสม. หรือ อสส. อาจมีค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัครเพื่อให้เป็นแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

“ขณะเดียวกัน การส่งเสริมผู้สูงอายุในการอยู่อาศัยเชิงสถาบัน ซึ่งบางคนสามารถจ่ายได้ โดยมองว่าการคมนาคมสะดวก เข้าถึงสถานพยาบาลง่าย สามารถติดกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยได้ ขณะเดียวกัน ในกลุ่มที่รายได้ไม่สูง มองว่า หากราคาไม่แพงมาก ก็ต้องการไปอยู่ในลักษณะนี้เนื่องจากไม่มีผู้ดูแล มั่นใจในความปลอดภัย และการบริการครบวงจร อย่างไรก็ตาม ควรมีการอยู่ร่วมกันในหลากหลายวัย ต้องมีส่วนร่วมทั้งชุมชน ครอบครัวในการดูแลคนกลุ่มนี้ จะเห็นว่า ไม่ว่าจะสูงวัยในที่เดิม หรือ การอยู่อาศัยเชิงสถาบัน สิ่งสำคัญยังคงเป็นเรื่องของการมีผู้ดูแลเป็นหลัก” ผศ.ดร.ศุทธิดา กล่าว

ด้าน “ดร.ณปภัช สัจนวกุล” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง อีกหนึ่งผลการวิจัยโครงการทบทวนวิเคราะห์นโยบายรัฐด้านการจัดการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุไทย ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุรัฐดูแลไม่ถึง 20% ประเทศไทยมีการพูดถึงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมานานตั้งแต่ปี 2496 มีการสร้างสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจากนั้นไทยก็มีการพัฒนาด้านผู้สูงอายุในหลายด้าน จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ 2545 การเกิดขึ้นของแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ ทำให้ทั่วโลกเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุอย่างชัดเจน  

หลังจากนั้น มี พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ เกิดขึ้นครั้งแรกในไทย จนกระทั่งเวลาผ่านไป สังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยในปี 2548 ทุกหน่วยงานมีการพูดถึงสังคมสูงวัยอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังไม่มีแนวทางชัดเจนสำหรับการดำเนินการเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจนกระทั้งปี 2558 มีมติ ครม. ในเดือนพฤศจิกายน เรื่องมาตรการ 4 เรื่องรับรับสังคมสูงวัย โดย 2 ใน 4 เรื่อง มีความเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย มีความพยายามจากหน่วยงานของรัฐ ที่จะจัดสรรทรัพยากร ในความท้าทายการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในสังคมไทย  หลังจากนั้นก็มีแผนแม่บทเรื่องที่อยู่อาศัยและมีการบรรจุเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุเข้าไปอย่างชัดเจน

“ปัจจัยแวดล้อมบริบทโลกมีความสำคัญมาก  มีผลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายในบ้านเราเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร ทำให้เราต้องปรับตัว ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายรัฐด้านที่อยู่อาศัย ได้รับผลกระทบมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานชะงัก ขณะที่บทบาทวิสัยทัศน์ในผู้นำองค์กรมีผลมากเช่นกันในการดำเนินนโยบาย และวัฒนธรรมที่อยู่อาศัยของไทยที่แตกตางจากต่างชาติ คือ ต่อให้คนจำนวนไม่น้อยที่อยากจะมาอยู่ในที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน แต่ก็มีกลุ่มที่ยังยึดติดที่อยู่อาศัยเดิมของตน”

ขณะเดียวกัน แนวทางปฏิบัติที่ดีใน 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สเปน ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ โดยตั้งแต่ปี 2545 หลายประเทศมุ่งเสาะแสวงหาวิธีในการตอบโจทย์ ทั้งการสูงวัยในที่เดิม การอาศัยร่วมกัน  และการอยู่อาศัยแบบอิสระ

ทั้งนี้ ใน “เนเธอร์แลนด์ สเปน” ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยแนวดิ่ง โดยสร้างใหม่ จุดมุ่งหมายคือการดึงเอากลุ่มคนวัยอื่น เช่น นักศึกษา คนทำงานมาอยู่ร่วมกัน ทำหน้าที่เป็นเพื่อนบ้านที่ดี ดูแล สอดส่อง ทำกิจกรรมในวันสำคัญ เช่น ปีใหม่ โดยพยายามจะกดราคาให้อยู่ในราคาที่ไม่เกินกว่าท้องตลาด สำหรับผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึง ขณะที่ “สิงคโปร์” เน้นการอยู่อาศัยหลากหลายรุ่น ทั้งปู่ย่าตายายพ่อแม่ลูกหลาน 3 เจนเนอเรชั่น หรือเรียกว่า 3Gen flats

ส่วนใน “ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ และสหราชอาณาจักร” มีจุดแข็งคือ การให้ผู้สูงอายุอยู่ที่อาศัยเดิมให้นานที่สุด จึงมีรูปแบบต่างกัน เช่น ญี่ปุ่น เน้นปรับปรุงบ้านและพัฒนาระบบชุมชน ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน เกิดการจ้างงาน 1-2 ชม. ต่อวัน ให้ช่วยสอนหนังสือเด็กหลังเลิกเรียน ด้าน ฟินแลนด์ เน้นด้านบริการสุขภาพที่เข้าถึงได้ มีรพ.ใกล้ชุมชน  และ สหราชอาณาจักร มีจุดเด่นในการปรับปรุงบ้าน มีเซอร์วิสในการแนะนำทีมช่างที่มีประสบการณ์ ปรับปรุงบ้าน เป็นต้น สำหรับ “ออสเตรเลีย” แม้ความก้าวหน้าจะน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่มีการศึกษาความเป็นไปได้ โดยเรียนรู้จากเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร

จากกรณีตัวอย่างของประเทศดังกล่าว นำมาซึ่งข้อเสนอแนะ “5x5 หรือ 5 ประเด็น x 5 กลไก สำหรับ “การสูงวัยในที่อยู่อาศัยใหม่เชิงสถาบัน” มี 5 แนวทางหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุไทย ได้แก่ การอยู่ร่วมกันของหลายรุ่น หลายวัย , การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ , ระบบบริการทางสังคม , ตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

ในส่วนของ “การสูงวัยในที่เดิม” (Ageing in place) มี 5 กลไกที่เกี่ยวเนื่อง คือ การกระจายอำนาจรัฐสู่ท้องถิ่น , ความร่วมมือของรัฐและเอกชน , การมีกรอบ กฎระเบียบ และมาตรฐานที่ชัดเจน , เสริมพลังคนทำงานและผู้สูงอายุ และ สุดท้ายคือ การติดตามและประเมินผลนโยบายทั้งหมด

ดร.ณปภัช  กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอแนะที่สำคัญและสามารถนำไปดำเนินการให้บรรลุผลได้ ได้แก่ 1. การผลักดันให้การสูงวัยในที่เดิม ให้เป็นแนวทางหลัก แทนที่จะเอาผุ้สูงอายุมาอาศัยรวมกัน ด้วยภาระงบประมาณ พื้นที่อาจไม่มากพอในการสร้างอย่างเต็มที่ อาจจะต้องคิดทบทวนว่าเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่อย่างไร 2. มุ่งเป้าการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเดิม สำหรับครัวเรือนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย 3. ส่งเสริมศักยภาพ “ระบบช่างชุมชน” 4. มุ่งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ สำหรับผู้สูงอายุที่เน้นการอยู่ร่วมกันหลายรุ่น หรือ ระหว่างวัย

5. มุ่งเน้นการสร้างอาสาสมัคร ในรูปแบบต่างๆ ในชุมชน ส่งบริการไปที่บ้าน มีค่าตอบแทนที่ชัดเจน 6. ที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน แต่ทำอย่างไรให้วิธีนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และไม่เป็นภาระงบประมาณของภาครัฐ ดังนั้น แนะนำให้เป็นทางเลือกสุดท้าย 7. การลงทุนสร้างสถานบริบาล โดยการสร้างหุ้นส่วนระหว่างรัฐ เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจชุมชน และทำอย่างไรให้สถานบริบาล ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิมของผู้สูงอายุ ดังนั้น ต้องอาศัยหน่วยงานท้องถิ่น และมีการร่วมมือของหลายฝ่าย ไม่จำเป็นต้องรัฐฝ่ายเดียว

8. กำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไข วิธีการคัดกรอง ที่จะส่งเข้าสู่สถานบริบาลให้ชัดเจน ทั้งฐานะ และการพึ่งพิง 9. เกิดกฎหมายกำหนด บังคับ ควบคุม สถานบริบาลให้ชัดเจน เนื่องจากการลงพื้นที่พบว่า หลายที่ปรับเปลี่ยนบ้านส่วนตัว เป็นสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และ 10. สร้างระบบฐานข้อมูลทั้งหมด เพื่อกำกับติดตามประเมินผลว่าทำอะไรไปบ้าง และอะไรที่ควรจะทำต่อไป