'หุ้น tech จีน' ยังน่าสนใจอยู่หรือไม่? หลังสหรัฐจับตามอง

'หุ้น tech จีน' ยังน่าสนใจอยู่หรือไม่? หลังสหรัฐจับตามอง

การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนที่รวดเร็ว จนถูกมองว่าเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงสหรัฐ นำไปสู่การแบนแอพพลิเคชั่นและบริษัทเทคโนโลยีของจีน สิ่งเหล่านี้ยังคงทำให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีน ยังน่าสนใจพอที่นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนอยู่หรือไม่?

ช่วงนี้แม้จะมีประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตามองคือเรื่องการคว่ำบาตรแอพพลิเคชั่นในสหรัฐที่ชื่อ “Tiktok” ซึ่งกำลังถูกบังคับให้ขายกิจการ โดยมี Walmart และ Microsoft ที่จะผนึกกำลังซื้อกิจการดังกล่าว ในขณะที่ดัชนีหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีอย่าง NASDAQ 100 ที่กำลังทำลายสถิติ New High ของตัวเองไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 32%

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ดัชนีหุ้นเทคฯ จีนที่แม้ว่าเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2563 อย่าง Hang Seng Index แต่หากนับหุ้นเทคโนโลยี 30 ตัวที่อยู่ในดัชนี ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นมากกว่า 52% เรียกได้ว่ามาแรงทั้งคู่ในปี 2563 นี้

แม้สหรัฐจะเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี แต่เราจะเห็นได้ว่าประเทศจีนมีการพัฒนาที่รวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝั่งฮาร์ดแวร์ ที่เดิมเป็นการรับจ้างผลิตให้แบรนด์อื่นที่เรียกว่า OEM (Original Equipment Manufacturer) ไม่ว่าจะเป็นการผลิต Mainboard, Memory, Chipset หรือการประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ จากนั้นจึงค่อยพัฒนาปรับปรุงสร้างแบรนด์ของตนเองหรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ ชื่อดังออกมามากมาย เช่น QQ, Baidu, WPSOffice และ Alibaba

จนมาในยุคหลังที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองทำให้เริ่มมีบริษัทชั้นนำของจีนมี Market Share ในตลาดโลกมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น Xiaomi, Huawei ที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Smartphone หรือ Smart Watch และกลุ่มซอฟต์แวร์ เช่น Alibaba, JD.com และ Pinduoduo ที่เป็น E-commerce Platform หรือสร้าง Social media App อย่าง Wechat, Weibo และแน่นอน Tiktok ที่กำลังเป็นข่าวอยู่เช่นกัน

การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนที่รวดเร็วเป็นหนึ่งในข้อกล่าวหาของสหรัฐ ที่ว่าจีนได้ขโมยเทคโนโลยีจากสหรัฐ โดยเรามองว่าเรื่องนี้สหรัฐอาจมองถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานในแอพพลิเคชั่นนั้นด้วย ทั้งชื่อ อายุ เพศ และพฤติกรรมที่โปรแกรมต่างๆ ได้เก็บรวบรวมไว้ ถือเป็นข้อมูลล้ำค่าที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายด้านต่อไป

ดังที่เห็นมาแล้วจากข่าวหนังสือพิมพ์หลายแห่ง เรื่องการลงประชามติ Brexit ที่บริษัท Cambridge Analytica ใช้ข้อมูลจาก Facebook ในการทำแคมเปญให้โหวตออกจากสหภาพยุโรปและเป็นบริษัทเดียวกันที่ทำแคมเปญหาเสียงให้กับประธานาธิบดี Donald Trump ในช่วงเลือกตั้งครั้งก่อนอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทางสหรัฐจะกังวลเรื่องข้อมูลของสหรัฐ อาจรั่วไหลและมองเป็นหนึ่งในภัยความมั่นคง เพราะกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติจีนให้พลเมืองหรือองค์กรต้อง “สนับสนุน ช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือกับงานด้านข่าวกรองของประเทศ”

แม้ว่านี่จะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทางจีนต้องเผชิญ ทั้งกรณีการแบน Huawei หรือกรณี Tiktok, Wechat แต่กลับยิ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้น่าสนใจมากขึ้นเพราะจะเป็นอีกปัจจัยให้ทางจีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างและพัฒนาระบบปฏิบัติการ OS ในมือถือ Smartphone ของตนเอง หรือการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญเช่น CPU Chipset ต่างๆ ด้วยตนเอง และจะทำให้แต่ละประเทศพึ่งพาตัวเอง ส่งผลให้โลกเราเข้าสู่การเป็น Regionalisation เร็วขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเอเชีย

อีกทั้งการกระทำดังกล่าวจะเป็นการทำให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐ มีแนวโน้มกลับมาจดทะเบียนในตลาดฮ่องกงอีกด้วย เพราะการเติบโตของบริษัทเทคฯ จีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและดัชนีที่เกิดใหม่ต่างๆ ทั้ง Hang Seng Tech Index, STAR 50 Index รวมถึงการที่ดัชนี Hang Seng มีการเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น

ส่งผลให้การลงทุนในหุ้นเทคโนโลยียังมีความน่าสนใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อจากนี้ไป รวมไปถึงจะมีเม็ดเงินกองทุน Passive หรือ ETF จากที่ต่างๆ ทั่วโลกเข้ามาลงทุนในดัชนีเหล่านี้มากขึ้นไปอีกด้วย

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าดัชนี NASDAQ จะไม่น่าสนใจ เพราะอย่างไรสหรัฐก็ยังเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี และหุ้นเทคโนโลยีก็ยังเป็นหุ้น Theme Growth ในระยะยาว ดังนั้นสำหรับนักลงทุนแล้วเราไม่จำเป็นต้องเลือกข้างแต่สามารถลงทุนทั้งในจีนและสหรัฐที่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีเบอร์หนึ่งและเบอร์สองของโลกได้ เพราะในโลกของการลงทุนผู้ชนะหรือหุ้นที่ทำให้กำไรไม่จำเป็นต้องมีคนเดียวครับ