‘กสิกร’ ชูลงทุน ‘กองรีท’ มั่นใจ รีเทิร์นระยะยาวเด่น

‘กสิกร’ ชูลงทุน ‘กองรีท’ มั่นใจ รีเทิร์นระยะยาวเด่น

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ กองทรัสต์เพื่อลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือ “กองรีท” ในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นหนึ่งกองทุนที่โดนผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลออกจากกองทุนเหล่านี้ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตามในมุมมองของผู้จัดการกองทุนแล้ว ยังมั่นใจว่าระยะยาวกองทุนเหล่านี้ยังให้ผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี

“ธิดาศิริ ศรีสมิต”รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)กสิกรไทย กล่าวว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และ กองรีท รวมถึง กองทุนอินฟราสตักเจอร์ฟันด์ ยังถือเป็นทางเลือกที่ดีและยังน่าสนใจลงทุนในภาวะเช่นนี้ ยกเว้นกลุ่มสินทรัพย์ประเภทโรงแรมและศูนย์แสดงสินค้า ที่ยังโดนผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองรีททั้งในไทยและสิงคโปร์ แม้ว่าสินทรัพย์ทางเลือกอย่างอสังหาริมทรัพย์ ยังมีความผันผวนสูง และภาพรวมผลตอบแทนรีทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ( ณ 31 ก.ค.2563 ) เฉลี่ยหดตัว 8.81% แต่ผลตอบแทนระยะยาวยังน่าสนใจ โดยย้อนหลัง 3 ปีที่เติบโต 6.71%และย้อนหลัง 5 ปี เติบโต7.83%

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว เช่น กองทุนเปิดเค พร็อพเพอร์ตี้ เซคเตอร์ (K-PROP) ได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในรีทสิงคโปร์มากกว่ารีทไทย ปัจจุบันสัดส่วนรีทในสิงคโปร์ที่ 70% จากเดิม 50% และลดสัดส่วนรีทในไทยลงมาที่ 30% จากเดิม 50%

เนื่องจากรีทในสิงคโปร์มีปัจจัยหนุนในช่วงโควิด-19 ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบอย่างมาก เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการทำให้ผลกระทบในภาคธุรกิจน้อยกว่าไทยมาก และผลตอบแทนกองรีท ที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทคลังสินค้า ดาต้าเซ็นเตอร์และโลจิสติกส์ ยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าที่คาด

การลงทุนกองรีทในไทยขณะนี้ยังพอมีสินทรัพย์ที่มีอนาคตนำมาเพิ่มเข้ากองทุนได้ เพียงแต่ต้องรอความพร้อมของเจ้าของสินทรัพย์และภาวะตลาดที่มีความเหมาะสม

สำหรับ บลจ.กสิกรไทย มีหลายกองทุนที่กำลังทำแผนกันอยู่ ทั้งเตรียมกระบวนการยื่นไฟลิ่งตั้งกองใหม่และลงทุนเพิ่มในกองเดิม

อย่างไรก็ตามหลังคลายล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 มานี้ มีกองรีทจัดตั้งใหม่เพียง 2 กองในปีนี้ คือ 1 กองทุน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล (PROSPECT) มูลค่า3,500 ล้านบาท ผลตอบแทนสูงไม่น้อยกว่าปีแรกอยู่ที่11.1% และ2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBSPIF) มูลค่า 2,800 ล้านบาท ผลตอบแทนในปีแรกอยู่ที่ 8.95%

โดยผู้จัดการกองทุน มองว่า ช่วงนี้ภาวะตลาดการลงทุนผันผวนและดอกเบี้ยต่ำในอีก2ปีข้างหน้า เป็นช่วงเหมาะสมในการเข้ามาลงทุนทยอยสะสมในกองรีท เพื่อการลงทุนระยะยาวและสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ ปัจจุบันผลตอบแทนกองรีทที่6-7% หรือต่ำสุดที่3% หรืออาจติดลบ เช่น กลุ่มโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปีนี้

“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์กองทุน ประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) บอกว่า ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา กองทุนเหล่านี้ซึ่งประกอบด้วย  Property Indirect, Property- Indirect Global และ Property Indirect - Flexible มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ(AUM) ลดลง 18.8% ซึ่งเป็นผลจากผลตอบแทนที่ลดลงบวกกับมียอดไถ่ถอนหน่วยลงทุนอีกประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ AUM ณ ปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่จะดีกว่าในไตรมาสแรกปีนี้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กองทุนเหล่านี้ได้รับความนิยมค่อนข้างมากเห็นได้จากปริมาณเงินไหลเข้ารวมหลัก หมื่นล้านบาทถึงหลักแสนล้านบาท ส่วนหนึ่งจากภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำ ในขณะที่ผลตอบแทนจากกองทุนประเภทนี้จะเป็นลักษณะเงินปันผล จึงทำให้มีความน่าสนใจในภาวะการลงทุนที่ปกติ”

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ผลกระทบจากโควิด-19 มีค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสแรก โดยเฉพาะในเดือนมี.ค.2563 ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบราว 16%-18% ซึ่งเป็นผลจากอสังหาริมทรัพย์หลายประเภทได้รับผลกระทบจากการ ล็อกดาวน์ เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น