“ทีเส็บ”ชง ศบค.ดันตลาดไมซ์ เปิดต่างชาติร่วมแสดงสินค้า

“ทีเส็บ”ชง ศบค.ดันตลาดไมซ์  เปิดต่างชาติร่วมแสดงสินค้า

“ทีเส็บ” เตรียมชง ศบค. แนวทาง “สเปเชียล เจอร์นีย์” ก.ย.นี้ นำร่องดึงนักธุรกิจต่างชาติร่วมงานจัดแสดงสินค้า ขณะ“อนุทิน” ชี้ต้องปลดล็อกประเทศก่อนคนไทยอดตายเพราะโควิด มั่นใจจุดแข็งความปลอดภัยด้านสาธารณสุขไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “นโยบายรัฐบาลกับการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการของประเทศไทย” ภายในงาน “จัดงานทั่วไทย ภูมิใจช่วยชาติ” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ วานนี้ (2 ก.ย.) ว่า ประเทศไทยจะล็อคประเทศแบบนี้ต่อไปไม่ได้ จะอยู่แบบติดเชื้อเป็นศูนย์ (Zero Infection)ห้ามการเดินทาง ห้ามทำธุรกิจกับตลาดต่างประเทศแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะคนไทยจะอดตายก่อนเป็นติดโรคโควิด-19 ต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับมัน ด้วยพื้นฐานความพร้อมด้านสาธารณสุข ทั้งเรื่องยาและเวชภัณฑ์

ถ้าเกิดมีการคลายล็อคมาตรการต่างๆ เพิ่ม ประเทศไทยจะใช้ความได้เปรียบที่มีอยู่เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ประกอบกับอุตสาหกรรมการจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า (MICE :ไมซ์) ของไทยอยู่ในอันดับต้นๆ สถานที่ท่องเที่ยวมีความพร้อมในการรองรับนักเดินทางทั้งกลุ่มพำนักระยะสั้นเพื่อท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ และกลุ่มพำนักระยะยาวรวมถึงการเดินทางเพื่อมารักษาพยาบาลในไทย

“เราต้องเอาจุดแข็งที่สุดของประเทศไทยมาแสดง นั่นคือความปลอดภัย เพราะไทยยังต้องการรับนักท่องเที่ยว นักลงทุน และนักธุรกิจชาวต่างชาติให้ได้มากที่สุด โดยมีความพร้อมเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งโรงแรมกักตัวตามที่รัฐกำหนด (State Quarantine)และโรงแรมกักตัวทางเลือกตามที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine)ซึ่งมีส่วนช่วยให้ธุรกิจโรงแรมมีรายได้”

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) กล่าวว่า ทีเส็บจะเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.พิจารณาแนวทาง “สเปเชียล เจอร์นีย์” (Special Journey)นำนักเดินทางเพื่อธุรกิจเข้าไทยอย่างมีแบบแผนรัดกุม โดยไม่ต้องเข้ากักตัว 14 วัน

นำร่องกลุ่มนักเดินทางมาร่วมงานจัดแสดงสินค้าก่อน โดยต้องมีใบรับรองจากประเทศต้นทางว่าปลอดเชื้อโควิด 72 ชั่วโมง เมื่อเดินไทยมาถึงสนามบินในไทย ต้องกักตัวนาน 6-8 ชั่วโมงเพื่อตรวจหาเชื้อยืนยันอีกครั้ง เข้าพักในโรงแรมASQมีบริษัทผู้รับจัดบริการเดินทาง(Destination Management Company : DMC)และมีเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานตามติดอย่างใกล้ชิดตลอดทริปจนกว่าจะบินกลับภูมิลำเนา รวมถึงต้องใช้งานแอปพลิเคชั่นหมอชนะ และอีกแอปฯที่ทีเส็บอยู่ระหว่างผลิตเพื่อสนับสนุนระบบการติดตามตัว คาดแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564

สำหรับเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงาน เบื้องต้นทีเส็บกำหนดจัดอบรมรุ่นแรก 30 คนในวันที่ 10 ก.ย.นี้ อัตราส่วนที่เจ้าหน้าที่ฯ 1 คนติดตามนักเดินทางไมซ์ 10 คน ให้ค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าเมื่อกลุ่มนักเดินทางไมซ์ที่เจ้าหน้าที่ฯดูแลเดินทางกลับประเทศแล้ว เจ้าหน้าที่ฯต้องเข้ากักตัวที่โรงแรมSQเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยจะดึงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินต่างๆ ที่ต้องหยุดงานชั่วคราวเพราะโควิด มาร่วมอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ฯ

“ตอนแรกข้อเสนอดังกล่าวเกือบผ่านที่ประชุม ศบค.แล้ว แต่เกิดกรณีทหารอียิปต์ที่ จ.ระยอง เสียก่อน ข้อเสนอนี้จึงถูกฟรีซไว้ ล่าสุด ศบค.จะพิจารณาแนวทางสเปเชียล เจอร์นีย์อีกครั้งภายในเดือน ก.ย.นี้ หากได้รับการอนุมัติ ก็จะเริ่มดำเนินการนำนักเดินทางเพื่อธุรกิจกลุ่มนี้เข้ามาเป็นกลุ่มย่อยก่อน และทำอย่างรัดกุม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสามารถจัดการได้ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะไทยพึ่งพาธุรกิจจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก”