โพลล์สนค.เผย คนไทยนิยมซื้อของออนไลน์ผ่านลาซาด้า ช็อปปี้มากสุด

โพลล์สนค.เผย คนไทยนิยมซื้อของออนไลน์ผ่านลาซาด้า ช็อปปี้มากสุด

พาณิชย์เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายออนไลน์ยุคโควิด  พบคนไทย 70.6% มีการใช้จ่ายออนไลน์ แพลตฟอร์ม ลาซาด้า ช็อปปี้ ยอดฮิต ตามด้วยห้างโมเดิร์นเทรด เหตุสะดวกราคาถูก ขณะนี้สินค้าที่ซื้อส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยว่า  ในเดือนส.ค. 2563 ที่ผ่านมา สนค. ได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าและบริการทางช่องทางออนไลน์ โดยสำรวจผู้บริโภคทั้งประเทศครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอ (884 อำเภอ/เขต) รวมทั้งสิ้น 8,163 คน พบว่า ผู้บริโภค 70.6%มีการใช้จ่ายออนไลน์ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ 85.7% ใช้จ่ายไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน โดยช่องทางที่นิยมซื้อมากที่สุดได้แก่ Lazada/Shopee  44.7 % รองลงมาเป็นห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โลตัส/บิ๊กซี/วัตสัน/โรบินสัน)  26.6 %เฟสบุ๊ค 17.7 % และช่องทางอื่น (Lineman/Grabfood/Foodpanda/Instagram และ Weloveshoping  11.0%

สำหรับประเภทสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อทางออนไลน์ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 24.1%อาหารและเครื่องดื่ม 20.8%สินค้าสุขภาพความงามและของใช้ส่วนบุคคล 19.1%ของใช้ภายในบ้าน  17.3%และอื่นๆ  18.6% โดยเหตุผลสำคัญที่สุดของการซื้อออนไลน์ ได้แก่ ความสะดวก 34.0% ตามด้วยราคาถูก  21.3%มีให้เลือกหลากหลาย 20.1% สามารถเปรียบเทียบราคาได้ง่าย  12.1%มีส่วนลด  9.4% และน่าเชื่อถือ  3.1%

 

นางสาวพิมพ์ชนก ว่า จากผลการสำรวจสะท้อนว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับความสะดวกในการใช้จ่ายมาก ในขณะที่ราคาและความหลากหลายก็ยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการค้าออนไลน์ ดังนั้น ทิศทางและรูปแบบการค้าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ ต้องมุ่งให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภคเป็นสำคัญ และเชื่อว่ามูลค่าการค้าออนไลน์จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ในปัจจุบันอาจจะยังมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าออฟไลน์ โดยสัดส่วนเบื้องต้นที่ สนค. ประมาณการอยู่ที่10% ซึ่งจะเป็นโอกาสเพิ่มมูลค่าการค้าให้ทั้งแก่ผู้ซื้อและผู้ขายและภาพรวมของระบบการค้าได้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งเกษตรกรที่ใช้สื่อออนไลน์เป็น มีการค้าขายหรือนำเสนอสินค้าผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มากขึ้น เพราะจะเป็นช่องทางการทำการตลาดและการขายได้เพิ่มจากที่มีหน้าร้านหรือไม่มีก็ได้ แต่ทั้งนี้ อุปสรรคบางส่วนคือ ค่าขนส่งโลจิสติกส์ในประเทศยังค่อนข้างสูงอยู่เมื่อเทียบกับราคาสินค้า และการเข้าถึงแพลตฟอร์มยังอาจทำได้ไม่สะดวกสำหรับบางผู้ประกอบการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะหาแนวทางลดอุปสรรคหรือสนับสนุนเพิ่มขึ้นต่อไป