‘อินโดรามา’ ปรับกลยุทธ์ ใช้เทคโนฯ รับนิวนอร์มอล 

‘อินโดรามา’ ปรับกลยุทธ์ ใช้เทคโนฯ รับนิวนอร์มอล 

เมื่อวิกฤติโควิด-19 กลายเป็นโอกาสของบริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส (ไอวีแอล) บริษัทข้ามชาติ หนึ่งในผู้นำผลิตผลิตภัณฑ์ PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ระดับโลก ที่ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลแล้ว และกำลังเดินหน้าสู่ New Normal

การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นความท้าทายต่อการบริหารงานของบริษัทข้ามชาติ บริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส (ไอวีแอล) หนึ่งในผู้นำผลิตผลิตภัณฑ์ PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่รู้จักระดับโลก ก็หนีไม่พ้นความท้าทายนั้น แต่การที่บริษัททรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลมาก่อนแล้ว โรคระบาดจึงกลายเป็นโอกาสให้เดินหน้าสู่วิถีใหม่ 

อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและผู้ก่อตั้ง บริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส เล่าประสบการณ์ผ่านเวทีเสวนาหัวข้อ “ผู้นำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามวิถีใหม่” ว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ไอวีแอลใช้วิกฤตินี้ทบทวนแผนการเดินหน้าธุรกิจให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ มุ่งพัฒนาสินค้าที่เน้นความปลอดภัย และถูกหลักอนามัย ขณะเดียวกันยังใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารและประสานสำนักงาน บริษัท เครือข่ายพันธมิตรของไอวีแอลที่มีอยู่ทั่วโลก

“ไอวีแอลตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์ใหม่ในช่วงวิกฤติโควิด มุ่งใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ๆ รวมไปปรับตัวใช้อีแพลตฟอร์ม เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการสื่อสารงานภายในองค์กร ตลอดจนการบริหารงานข้ามประเทศ" ซีอีโอ ไอวีแอลกล่าว

โลเฮีย เล่าว่า ธุรกิจของไอวีแอลเกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์มายาวนานหลายสิบปี และยังมีสำนักงานตั้งอยู่ทั่วโลก ซึ่งในช่วงระบาดโควิด-19 อาจส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อธุรกิจ เพราะไอวีแอลได้ทรานฟอร์มไปสู่ดิจิทัลมาพักใหญ่ ทำให้งานในส่วนการบริหารไม่ได้รับผลกระทบ และยังสามารถจัดการประชุมผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ข้ามประเทศ หรือประสานงานผ่านโปรแกรมของบริษัท เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ไอวีแอลยังใช้เทคโนโลยีควบคุมการขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า ประสานงานกับซัพพลายเชน ติดต่อสื่อสารกับสำนักงานงานย่อยที่มีอยู่ 66 แห่ง ใน 21 ประเทศ และพนักงานของบริษัทที่มีกว่า 14,000 คนทั่วโลก

“หากถามถึงผลกระทบทางธุรกิจช่วงโควิด โชคดีที่สินค้าที่ไอวีแอลผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบเชิงธุรกิจมากนัก อาทิ ผ้าอ้อมเด็กที่ยังเป็นของใช้จำเป็น ตลอดจนภาชนะบรรจุอาหาร ซึ่งทางไอวีแอลยังมุ่งมั่นผลิตพาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการใช้น้ำ และลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน” โลเฮียกล่าว

ไอวีแอลเป็นหนึ่งในผู้นำผลิตผลิตภัณฑ์ PET ที่สามารถนำมารีไซลเคิลใช้ใหม่ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายบริษัทผู้ผลิตพลาสติก ซึ่งไอวีแอลก็ไม่ลังเลที่จะคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ได้พลาสติกที่ย่อยสลายหรือนำผ่านกระบวนการกลับมาใช้ใหม่ให้ดียิ่งๆ ขึ้น เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมตามปณิธานของบริษัท 

ทั้งนี้ ไอวีแอล ยืนยันมาตรฐานเทคโนโลยี ในขั้นตอนทำความสะอาดและกำจัดสิ่งสกปรกของกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และหลายประเทศมีการใช้บรรจุภัณฑ์ผลิตจาก PET อย่างปลอดภัยมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น สหรัฐ หลายประเทศในสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

ในตอนท้ายโลเฮีย กล่าวว่า ไอวีแอลเห็นโอกาสในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การรีไซเคิล PET จะช่วยบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน เพราะทุกวันนี้ PET เป็นพลาสติกที่สามารถนำรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ซึ่งไอวีแอลเตรียมลงทุนในธุรกิจรีไซเคิล มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก และยังเป็นการปฏิวัติการวงการรีไซเคิลระดับโลก เพราะมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการรีไซเคิล PET ของบริษัทเป็น 750,000 ตันต่อปีภายในปี 2568