ธุรกิจเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน ระดม 1.2 ล้านล้านฟื้นวิกฤติ

ธุรกิจเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน ระดม 1.2 ล้านล้านฟื้นวิกฤติ

สมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็กฯ ประกาศเจตนารณ์ ทุ่ม 1.2 ล้านล้านบาท ใน 10 ปี พัฒนาความยั่งยืน ปลดล็อกวิกฤติเศรษฐกิจ สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ “ศุภชัย” ระบุเป็น“ทศวรรษแห่งการลงมือทำจริงจัง” 

เมื่อวันที่ 31ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน "GCNT FORUM 2020 :Thailand Business Leadership for SDGs ในโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปี เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ และครบรอบ 75 ปี ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations - UN)

งานดังกล่าวจัดโดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้สนับสนุนของสมาคมฯ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิกของสมาคมฯ ผนึกกำลังเพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้แทนสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ยังร่วมเป็นสักขีพยานการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้คำมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนรวม 998 โครงการ มูลค่ารวมอย่างน้อย 1.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573

159902502248

*พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกฯชูศก.พอเพียงภูมิคุ้มกันชาติ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤติ ประสบการณ์จากสถานการณ์โควิด-19” โดยเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า “ประเทศไทยโชคดีที่มี “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งจากภายในและฐานราก ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

โดยให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” และ “ความมั่นคงของมนุษย์”เพื่อให้ทุกคนในชาติมีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม 

ชื่นชมบทบาทภาคเอกชน

พร้อมยังชื่นชมบทบาทของภาคเอกชนในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมมือกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ) สามารถมีบทบาทสำคัญได้อย่างแน่นอน ในการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ สอดคล้องกับหลักการที่เป็นสากล10ประการของสหประชาชาติ ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต เป็นต้น

โดยในส่วนของรัฐบาลไทยถือเป็นพันธมิตรสำคัญในการฟื้นฟูประเทศให้ดีขึ้นจากวิกฤติโควิด-19  โดยนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ มายึด โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคมและธุรกิจ

“3 หมุดหมาย” ฝ่าวิกฤติยั่งยืน 

นายกรัฐมตรี ยังกล่าวว่า ภายใต้ความปกติใหม่ (นิวนอร์มอล) แนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1.การผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมวางอนาคตของประเทศไทย โดยนำทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” แก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ 2.เปิดให้มีการประเมินผลงานภาครัฐ และ3.การทำงานเชิงรุก แบบบูรณาการข้ามหน่วยงาน กระทรวง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 

"การนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤติอันท้าทาย รัฐบาลต้องดึงศักยภาพของประเทศออกมาใช้ โดยระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับ3ด้าน คือระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง,การรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจโดยแก้ปัญหาเร่งด่วนมาเป็นลำดับมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านเงินกู้วงเงิน1ล้านล้านบาท และ3.ใช้วิกฤติสร้างโอกาสนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง ฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

จี้เอกชนผนึกลงทุน BCG 

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า รัฐบาลไทยกำลังขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า “Bio-Circular-Green Economy” หรือ BCG คือการส่งเสริมเศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมไทยสู่โลก วางรากฐานพัฒนาคุณภาพใน 5 มิติ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยภาคเอกชนควรตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล โดยร่วมมือสร้างความแข็งแกร่งภายในร่วมลงทุน นำมาต่อยอด ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมไทย รวมถึงใช้ภูมิปัญญาไทย รวมถึงการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า ร่วมกันประสานงานกันทุกภาคส่วน”

“ผมพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกคน โดยเฉพาะเยาวชน หากมีมุ่งหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยในทางที่ดีขึ้น เพื่อที่เราจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน” 

159902508935

*ศุภชัย เจียรวนนท์ 

เครือข่ายยั่งยืนใหญ่สุดไทย

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโกลบอลคอมแพ็ก แห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand Thailand -GCNT) เครือข่ายด้านความยั่งยืนใหญ่ที่สุดในไทย กล่าวปาฐกถาว่า เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วย สมาชิกกว่า12,000 องค์กร ใน 156 ประเทศ ก่อตั้งขึ้นครบ20ปี เพื่อระดมพลัง ของภาคเอกชนทำธุรกิจคำนึงถึงเพื่อนมนุษย์ หรือ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” ภายใต้หลักสากล 10 ประการ ครอบคลุมเนื้อหา 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต 

โดยปัจจุบันในไทยมีสมาชิกเกือบ 60 องค์กร มูลค่าบริษัทสูงถึงประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ทั้งในไทยและในทุกประเทศที่บริษัทสมาชิกลงทุน

โควิดท้าทายเป้าหมายพัฒนายั่งยืน 

ทั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายเมื่อเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมส่งผลทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องระดมสรรพกำลังให้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน 17 ข้อ ของสหประชาชาติภายในปี2573 หรือ ในอีก10ปีข้างหน้า ถือเป็น “ทศวรรษแห่งการลงมือทำอย่างจริงจัง”  ผลักดันให้โลก“พื้นตัวได้ดีกว่าเดิม”โดยไทยถือเป็นผู้นำในอาเซียนที่ร่วมมือกับสหประชาชาติ สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสิ่งที่ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจฝ่าวิกฤติ ทำให้มีการติดเชื้อโควิด และสูญเสียชีวิตน้อยมากเมื่อเทียบนานาประเทศ ซึ่งเกิดจากผู้นำประเทศกล้าตัดสินใจ มีนโยบายเด็ดขาด ชัดเจน จึงทำให้ก้าวผ่านวิกฤติมาได้สำเร็จ 

ทุ่ม1.2ล้านล้านลุยการพัฒนายั่งยืน

ทั้งนี้สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสมาชิกทั้งภาคธุรกิจ สมาคม มูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหากำไรกว่า 21 องค์กร พร้อมวางแผนลงทุนใน 998 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 1.262 ล้านล้านบาท ใน10ปีข้างหน้า(ปี2573)ฟื้นฟู และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์สุข และตระหนักรู้ถึงปัญหาร่วมประกาศเจตนารมณ์แสดงพลังของภาคเอกชนไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงจุดยืนปรับตัว รับมือกับความท้าทายของวิกฤติ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ดึงพันธมิตรจากทุกภาคส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 

ยูเอ็นโกลบอลฯเรียกร้องภาวะผู้นำภาคธุรกิจ

นางแซนด้า โอเจียมโบ ผู้อำนวยการบริหารของสหประชาชาติ โกลบอล คอมแพ็ก (UN Global Compact) กล่าวถ้อยแถลงผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า การจัดงานครั้งนี้เหมาะสมกับช่วงสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งท้าทายการดำเนินงานของภาคธุรกิจ

"ปีนี้มีความพิเศษ เป็นปีแห่งเฉลิมฉลองครอบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งยูเอ็น รวมถึง 20 ปีแห่งการก่อตั้งยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก และเป็นปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นความท้าทายที่ไม่เคยพบมาก่อน โดยภาคธุรกิจในไทยและทั่วโลก จะมีบทบาทสำคัญในการปกป้องพนักงาน คู่ค้า ชุมชน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเร่งฟื้นฟูธุรกิจ" ผอ.ยูเอ็นโกลบอลฯ ย้ำ

นางโอเจียมโบ กล่าวว่า ภาคธุรกิจต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรต่างๆ ภายใต้เครือข่ายของยูเอ็น เพื่อฟื้นฟูนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ตลอดจนมุ่งหน้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดี ภายใต้การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2030 ด้วยคำสัญญาว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น จึงขอเรียกร้องภาคธุรกิจแสดงความเป็นผู้นำท่ามกลางวิกฤติระบาดโควิด-19 ได้รักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจไว้ ช่วยพื้นฟูเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนให้ดีและเร็วยิ่งขึ้น

โกลบอลคอมแพ็กมีพันธกิจช่วยสนับสนุนภาคเอกชนทั่วโลกวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับหลักสากล 10 ประการ เช่น สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านการทุจริต ให้บรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในช่วง 20ปีที่ผ่านมา เราได้ขยายความร่วมมือเครือข่ายครอบคลุม 68 ประเทศ ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจมากกว่า 11,000 บริษัท และองค์กรภาคธุรกิจอีกกว่า 3,000 แห่ง

159902551918

*กีต้า ซับบระวาล

‘ยูเอ็นอาร์ซี’ หนุนจีซีเอ็นที บรรลุเป้าหมายยั่งยืน

นางสาวกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (ยูเอ็นอาร์ซี) ประจำประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ "ยูเอ็นจะร่วมมือกับภาคเอกชนไทยอย่างไร เพื่อสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยได้บรรลุวาระการพัฒนาสู่ความยั่งยืนปี 2573 ว่า พร้อมร่วมมือผนึกกำลังกับภาคธุรกิจไทยมุ่งมั่นดำเนินงานให้บรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นไปตามกรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ” (UN Global Compact) เพื่อให้ 20 ปีของการประสานงานภาคธุรกิจได้สร้างโลกดีกว่าเดิม

นางสาวซับบระวาล กล่าวตอกย้ำให้เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศตระนักถึงความร่วมมือสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประการที่ 2 การสร้างโลกให้กลับมาดีกว่าเดิม ในวิถีปกติใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความเท่าเทียมกันมากขึ้น และประการที่ 3 การสร้างหลักประกันเพิ่มความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่ประเทศกำลังก้าวไปข้างหน้า เนื่องจากวิกฤติโควิด 19 ได้ทำให้เห็นจุดบกพร่องของระบบการคุ้มครองทางสังคม

นางสาวซับบระวาล กล่าว ปีนี้เข้าสู่ทศวรรษแห่งการทำจริง (Decade of Action) จึงขอเรียกร้องให้ร่วมกันลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเร่งสร้างความก้าวหน้าให้สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2573 โดยที่ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นจริงได้ โดยเฉพาะสนับสนุนการสร้างงาน และให้ความรู้ทางเทคโนโลยี ดิจทัล

“สิ่งที่เราเรียกร้องไม่ใช่การลงทุนที่เหลือบ่ากว่าแรง ซึ่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ยูเอ็นเอสแคป) ได้คำนวณแล้วว่า การลงทุนเพิ่มกับแรงงาน เมื่อเทียบมูลค่าเท่ากับเงิน 50 บาทต่อคนต่อวัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและความมั่งคั่ง กล่าวย้ำ

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมายูเอ็นได้ร่วมมือกับภาคเอกชนไทย ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ลดลง 8% และทำงานร่วมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ฟื้นฟูพื้นที่อ่างกักเก็บคาร์บอน (carbon sinks) ส่งเสริมการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (e-mobility) และการจัดการขยะ นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อนำร่องกลยุทธ์การอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเลที่นำโดยชุมชน และเป็นอีกครั้งที่เราสามารถเรียนรู้จากตัวอย่างในประเทศไทยของเราเอง ดั่งแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จะช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในบริบทเศรษฐกิจใหม่ตระหนักว่าการลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือการลงทุนที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน

159902530189

*ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

ธุรกิจชี้ยั่งยืนเริ่มต้นจากผู้นำองค์กร

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวทีเสวนา "ผู้นำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามวิถีใหม่" ในงานดังกล่าวว่า ธุรกิจบางจากมีจุดยืน ที่สมดุลธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาตลอด ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ จากที่ดำเนินการเริ่มต้นธุรกิจโรงกลั่นมากว่า 36ปี มีการขยายธุรกิจมีการเดินหน้าปิดกระจายความเสี่ยง มาสู่ธุรกิจขายปลีกสถานีบริการน้ำมัน ผลิตน้ำมันชีวภาพ เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยายมาสู่พลังงานสะอาดด้านอื่นๆ เช่น พลังงานชีวมวล เอทานอล และการเข้าไปลงทุนด้านเหมืองลิเทียม ในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการพัฒนาร้านกาแฟในสถานีน้ำมัน อินทนินท์ เป็นรายเดียวที่ใช้แก้วผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ

โดยระบุว่า การวางแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นที่ระดับผู้นำองค์กรส่งผลทำให้บริหารจัดการวิกฤติ มีการสื่อสารถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งพนักงาน และพันธมิตรที่เกี่ยวข้องจนผ่านพ้นมาได้อย่างปลอดภัย ที่จะส่งผลย้อนกลับมาสู่ธุรกิจ จนส่งผลทำให้มีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพราะมีการบริหารสภาพคล่อง และบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ตลอดจนการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ยอมรับความแตกต่างทางเพศ

นายศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงิน และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มบริหาร มิตรผล กล่าวว่า ธุรกิจมิตรผลเริ่มต้นเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ผู้คนชาวไร่ ชาวสวน อย่างยุติธรรม จึงวางวิสัยทัศน์ ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียธุรกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้นการขับเคลื่อนและขยายธุรกิจจึงมุ่งเน้นธุรกิจสีเขียวเป็นหลัก และ การบริหารจัดการกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำไม่ให้มีของเสีย ทั้งโรงงานน้ำตาลที่พัฒนาสู่โมลาส เพื่อผลิตเอทานอล รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่ากากจากอ้อย ให้เป็นโรงงานไฟฟ้าไบโอแมส

นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอินโดรามาเวนเจอร์ส (ไอวีแอล) กล่าวว่า แม้วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นโอกาสให้ธุรกิจได้ทบทวนว่าจะเดินหน้าธุรกิจให้สอดคล้องกับนิวนอร์มอลอย่างไร

“ไอวีแอลตัดสินใจปรับกลยุทธ์ในช่วงวิกฤติโควิด ทั้งในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าที่เน้นความปลอดภัย และถูกสุขอนามัย ขณะเดียวกันการทำงานในองค์กรยังปรับตัวใช้อีแพลตฟอร์ม เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานข้ามประเทศบริษัทยังดูแลซัพพลายเจน ระบบขนส่งสินค้า รวมถึงพนักงานของบริษัท 24,000 คนทั่วโลกให้รอดจากผลกระทบไวรัส” ซีอีโออินโดรามาเวนเจอร์ส กล่าว