จากเรือดับเพลิงถึง 'เรือดำน้ำ'...การเมืองในหัวใจ ‘ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’

จากเรือดับเพลิงถึง 'เรือดำน้ำ'...การเมืองในหัวใจ ‘ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’

เปิดมุมมองและไลฟ์สไตล์ของนักการเมืองฝีปากดี “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” บนเส้นทางการเมืองที่ไม่เกินฝัน กับเบื้องหลังการตรวจสอบกรณีรถและเรือดับเพลิงจนถึง "เรือดำน้ำ" จนกลายเป็นประเด็นร้อนในทุุกแพลตฟอร์ม

ตอนเด็กๆ หลายคนอาจมีความฝันโตขึ้นอยากเป็นอาชีพนั้น อาชีพนี้ เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นตำรวจ เป็นทหาร หรืออื่นๆ อีกมากมาย

ไม่ต่างไปจาก โจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่วันนี้สวมหมวกทั้ง ส.ส. และรองหัวหน้าพรรค เขาถูกปลูกฝังจากครอบครัว และมีความฝันตั้งแต่วัยเยาว์ที่จะเป็นนักการเมือง

นอกเหนือจากบทบาททั้งใน และนอกสภาในปัจจุบันแล้ว ส.ส.โจ้เล่าย้อนที่มาที่ไปตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่สนามการเมืองว่า ตนเองเป็นคนบ้านนอก เกิดที่ภาคอีสาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม คุณพ่อเป็นกำนัน ชื่อกำนัน ‘ศุภกร จรัสเสถียรและเป็นประธานชมรมผู้ใหญ่บ้านของมหาสารคาม ส่วนคุณแม่เป็นเจ้าของโรงสีข้าว ตั้งแต่โตมาก็อยู่กับชาวบ้านอยู่กับประชาชนมาตลอด เพราะบ้านอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิมากที่สุดในประเทศไทย

  • นักการเมืองเป็นความฝันตั้งแต่เด็ก?

ตั้งแต่เด็กเราอยู่กับชาวนา ความยากจน พ่อจึงบอกว่าทำอย่างไรถึงจะให้ชาวนาพ้นจากความยากจน เราก็เห็นนักการเมือง คนเป็น ส.ส. มีโอกาสได้มาทำงานเป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชน แทนชาวนา เอาปัญหาความเดือดร้อนความยากจนของชาวนามาเพื่อให้ได้รับการแก้ไข พ่อกับแม่ก็เลยบอกว่าเราต้องตั้งใจเรียนหนังสือ เพื่อที่วันหนึ่งถ้าเรามีความรู้ก็จะนำความรู้มาช่วยชาวนา ซึ่งถือว่ามีบุญคุณกับเรา ถ้าชาวนาไม่มีข้าวเปลือกมาขายให้เราซึ่งเป็นโรงสี เราก็ไม่มีข้าวเปลือกที่จะไปแปรรูปเป็นข้าวสาร

พอค้าขายมีกำไรก็ส่งผมมาเรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้น ป.4 ที่โรงเรียนเรวดี จบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยความมุ่งมั่นเราก็อยากเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งความตั้งใจจริงอยากเรียนคณะรัฐศาสตร์ แต่เนื่องจากว่าผมเป็นนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่สามารถสอบเอ็นทรานซ์ในสายดังกล่าวได้ ด้วยความที่อยากจะเรียนจุฬาฯ จึงเบนเข็มมาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์

159889328777

พอเรียนจบก็อยากจะมาเล่นการเมือง สมัคร ส.ส.เลย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็บอกว่าความรู้ปริญญาตรีมันน้อยไป เลยไปเรียนปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย CLAREMONT GRADUATE UNIVERSITY ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนที่ไปเรียนด้วยกันก็มี ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วย รมว.พาณิชย์ พอเรียนจบกลับมาเราก็อยากเป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดในสภาคือ 25 ปี

แต่เนื่องจากว่ายังไม่มีการเลือกตั้งจึงมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2544 ตอนอายุ 28 ปี ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดมหาสารคาม สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น มีท่านทักษิณ (ชินวัตร) และพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล

  • พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์บวกรัฐศาสตร์มีส่วนช่วยในการทำงานการเมืองมากน้อยแค่ไหน

สื่อมวลชนอาจจะงงว่าทำไมเรามาทำงานการเมืองเกี่ยวข้องกับงานใหญ่ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบทุจริตการซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. นำไปสู่การที่คุณอภิรักษ์ (โกษะโยธิน) ลาออกจากการเป็นผู้ว่า กทม. คดีเขาแพงที่เกาะสมุย คดีฟิลลิป มอร์ริส รถไฟฟ้าสายสีเขียว จนมาสู่ 'เรือดำน้ำ' ด้วยความที่เราจบวิศวะมันก็ทำให้เรามีความรู้เรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับตัวเลข เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ก็เลยทำให้เรามีความละเอียดรอบคอบ ระมัดระวังในเรื่องนี้

ถ้าถามว่าทุ่มทุนมากแค่ไหน ตอนที่ทำเรื่องรถและเรือดับเพลิงของ กทม. ตอนนั้นใช้ชื่อว่า ‘บูรณาโกง’ ข่าวนั้นถูกสื่อนำเสนอก็ได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุล ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติของชีวิต เรื่องเขาแพงทุกคนแม้กระทั่งคนสมุยไม่มีใครรู้จักเขาแพง จนกระทั่งทำให้เรื่องนี้เป็นที่รู้จัก

ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดจากการครีเอทีฟในการใช้ความคิด ริเริ่ม สร้างสรรค์ เราจะไม่เอาประเด็นของคนอื่น หรือเอาประเด็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วมาติดตาม แต่เราจะสร้างประเด็นที่เป็นเจ้าของเรื่องนั้น

วันนี้ผ่านมา 15 ปี แต่พอพูดถึงเรื่องรถและเรือดับเพลิง พูดถึงเขาแพง พูดถึงภาษีบุหรี่ คนก็นึกถึง ส.ส.ยุทธพงศ์ มาวันนี้พูดถึงเรื่องเรือดำน้ำ 2.2 หมื่นล้าน เราจะอธิบายเรื่องยากๆ ให้เห็นง่ายๆ

  • ความยากง่ายของเรื่องต่างๆ ที่ทำมา?

ตั้งแต่ทำมาเรื่องเรือดำน้ำถือเป็นเรื่องใหญ่ กระทบต่อกองทัพเรือ และเสถียรภาพของรัฐบาลมาก ต้องถือว่าเรากำลังทำงานต่อสู้อยู่กับยักษ์ใหญ่ ที่ทำเรื่องนี้ก็ไม่ได้หวังว่าเราจะได้ผลประโยชน์ จะดังหรืออะไร แต่คิดว่าเป็นเรื่องของความเหมาะสม ความจำเป็นเร่งด่วน เราเป็น ส.ส. เป็น กมธ. แล้วพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่กล้าออกมาฟ้องประชาชน ไม่กล้าเอาเรื่องนี้มาแฉใครจะรู้

เวลาที่ไปบอกประชาชนว่าเราเข้ามาเป็น ส.ส. เพื่อที่จะมาปกป้องประชาชน มาต่อสู้ให้พี่น้อง วันนี้คุณได้ทำหน้าที่คุณหรือไม่ วันนี้ความยากจนความอดอยากยังไงก็สำคัญกว่าเรือดำน้ำ

ก็ยอมรับว่าทุกเรื่องที่ผ่านมาก็มีเพื่อน ส.ส. มาพูดคุย แต่ผมก็ทำตามหลักการ ทำตามความถูกต้อง การพูดคุยสามารถชี้แจงกันได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่คงไม่มีถึงขั้นข่มขู่ หรือถ้ามีคงไม่มีอะไรมาหยุดได้ เพราะเราต่อสู้เพื่อความถูกต้องบนหลักของกฎหมาย

  • ผ่านสนามการเมืองมาเกือบ 20 ปี วันนี้ขึ้นแท่นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภารกิจที่ได้รับมอบหมายมีอะไรบ้าง

ผมรับหน้าที่ดูแลภาคอีสาน ส่วนบทบาทหน้าที่ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่ ส.ส.พรรคเดียวกัน

วันนี้มาสวมหมวกเป็น กมธ. งบประมาณก็มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ ไม่ใช่สนับสนุนงบประมาณ มีหน้าที่ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก ไม่เช่นนั้นก็มาไม่ถึงตรงนี้

  • สภาวะการเมืองที่มักจะเห็นภาพ ส.ส. เปลี่ยนขั้ว พรรคเพื่อไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น มองอย่างไรในเรื่องนี้

เรื่องการเปลี่ยนขั้ว การย้ายพรรคคงห้ามกันไม่ได้ ทุกคนเวลาจะย้ายพรรคก็มีเหตุผลความจำเป็น มีข้ออ้าง สำหรับผมคิดว่ามันอยู่ที่อุดมการณ์ที่ต้องซื่อสัตย์กับพี่น้องประชาชน ซื่อสัตย์กับพรรค ถ้าถามว่าอย่างผมมีคนมาชวนย้ายพรรคไหม บอกได้เลยว่าไม่มี เพราะผมก็เติบโตมาจากพรรคนี้ ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรค ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ดีและเป็นพรรคที่เป็นที่พึ่งของประชาชน เราเป็นรัฐบาลมาหลายครั้ง เที่ยวนี้เป็นฝ่ายค้าน เราก็พร้อมเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง

  • อะไรคือที่มาของการตั้งกลุ่มบ้านสามัคคี

เกิดจากการที่ ส.ส.จังหวัดมหาสารคามทั้งหมด 5 คน ได้รับเลือกตั้งยกจังหวัด ทั้ง 5 คนเรียกว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อนมีความรักใคร่สนิทสนมกัน มีการนัดรับประทานอาหารกันทุกเดือน พอทำงานการเมืองร่วมกันเริ่มมี ส.ส.จังหวัดอื่นมาร่วมกันประมาณ 30 คน คิดว่าไม่ได้มีอะไรเสียหาย เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองร่วมกัน เราไม่ได้มีไว้เพื่อต่อรองอะไร วันนี้ยังยืนยันว่าเพื่อไทยยังเป็นพรรคแกนนำหลัก

159889349638

  • นอกเหนือจากบทบาท ส.ส.แล้ว ยังมีหน้าที่ต่อครอบครัวในฐานะลูกชายคนโตของ ‘กำนันตง’ นักการเมือง และนักธุรกิจโรงสีรายใหญ่ในมหาสารคาม?

ที่บ้านทำโรงสีมาตั้งแต่เกิด พ่อเป็นกำนัน เป็นธรรมดาของคนต่างจังหวัดที่เป็นกำนันทำธุรกิจกับชาวนา ส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนที่เราได้นำความรู้ที่เรียนมากลับไปช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างที่บอกทีแรกว่า ชาวนาก็มีบุญคุณ ถ้าไม่มีชาวนาธุรกิจครอบครัวก็ไม่ดำเนินมาได้จนทุกวันนี้

หากตัดสถานะ ส.ส.ออก ผมต้องทำหน้าที่อีกหน้าที่หนึ่ง คือการเป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่อายุ 27 ปี ตั้งแต่ปี 2543 ก่อนจะเป็น ส.ส. คุณพ่อก็ถูกยิงเสียชีวิต ทุกคนก็รู้ว่าเป็นเหตุจากการเมืองที่ผมกำลังจะลงสมัคร ส.ส. พอคุณพ่อเสีย เรามีพี่น้องกัน 4 คน ผมเป็นพี่คนโต น้องสาวกับน้องชายอีก 2 คนยังเรียนหนังสืออยู่ เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องช่วยแม่ทำงาน และส่งน้องเรียนจนสำเร็จการศึกษา เราก็ต้องสวมหมวกหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่อายุ 27 ปี

ทุกวันนี้พอมาเป็น ส.ส. เราก็ทำงานการเมืองอย่างเดียว เพราะธุรกิจมันก็ไม่ใช่ธุรกิจของเราตั้งแต่ต้น แต่เป็นของคุณแม่และครอบครัว พอน้องๆ เรียนจบก็มาช่วยทำธุรกิจ เราก็สวมหมวกนักการเมืองเต็มตัว เล่นการเมืองได้อย่างเต็มที่

  • ล่าสุดมีธุรกิจพริกไทยยี่ห้อ 'รัฐมนตรีโจ้' ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร

ช่วงสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ผมเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ จังหวะเดียวกับที่ได้รู้จักอาหารดีๆ อร่อยๆ ก็เลยไปรู้ว่า พริกไทยที่ไหนเป็นพริกไทยที่ดีที่สุดในประเทศไทย ก็ไปเหมาสวนพริกไทย เรียกว่าไม่ต้องไปขายที่อื่น เอาไปให้กลุ่มแม่บ้านผลิตมาขายขวดละ 80 บาท ใครๆ ชิมแล้วก็อร่อย เลยมีพริกไทยรัฐมนตรีโจ้ ขายบ้าง เป็นของฝากบ้าง แจกฟรีบ้าง กับข้าวสารที่โรงสีที่แม่เป็นคนเลือกพันธุ์ข้าวเอง บรรจุถุงเอง เป็นข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ จากทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นข้าวสารที่ดีที่สุดในประเทศไทย

อีกหนึ่งของสะสมที่ชื่นชอบคือไวน์ เนื่องจากเราเป็นนักเรียนแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่ปลูกองุ่นทำไวน์ แล้วไวน์ที่สหรัฐอเมริกาก็ราคาไม่แพงเพราะสังคมฝรั่งชอบดื่มไวน์ ชอบมีปาร์ตี้ ที่ที่ไปเรียนก็จะมีแต่เพื่อนที่จบปริญญาตรีแล้ว เลยทำให้รู้จักไวน์หลายยี่ห้อ เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมของคนฝรั่งเขา ในคลาสเรียนพอจบก็มีปาร์ตี้กันเลยมีความรู้เรื่องไวน์ ซื้อสะสมไว้ตั้งแต่เรียนหนังสือ เก่าสุดตั้งแต่ปี 1997 ตอนนี้ก็ 23 ปี

ส่วนรถยนต์ก็มี ‘ลอนดอน แค็บแท็กซี่ลอนดอน เป็นรถคลาสสิกที่เก็บไว้ เป็นรถที่มีคุณค่า ทุกวันก็ใช้อยู่ ไม่ใช่รถราคาแพงแต่เป็นรถคลาสสิกรถโบราณ

  • กิจกรรมยามว่างในวันที่ไม่ได้สวมหมวกนักการเมือง?

ก็อาจจะจัดปาร์ตี้ เวลาอยู่บ้านต่างจังหวัด ประชาชนเมื่อรู้ว่า ส.ส. กลับไปบ้าน หรือบางทีข้าราชการที่เคารพนับถือก็แวะมาทานข้าว ทำอาหารทานกัน ก็เหมือนวัฒนธรรมของคนอีสาน กินข้าวด้วยกัน ช่วงนี้หน้าฝนมีปลามีกบชาวบ้านก็เอามาฝาก มากินด้วยกัน

ถ้าถามว่าหากวันหนึ่ง ส.ส.โจ้ วางมือทางการเมืองอย่างถาวรจะไปทำอะไรต่อ ก็ต้องบอกว่าเมื่อเลือกมาในเส้นทางการเมืองแล้ว เพื่อนคนอื่นที่จบวิศวะอาจไปทำงานบริษัทเอกชน บริษัทพลังงานตอนนี้ก็เป็นระดับผู้อำนวยการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ถ้าให้กลับไปทำงานก็คงตามเพื่อนไม่ทันก็คงทำการเมืองไปเรื่อยๆ

ชีวิตนี้ก็คงเป็นนักการเมือง ก็ต้องพยายามที่จะรักษาความนิยม ดูแลประชาชนซึ่งให้โอกาสเรามาเป็น ส.ส. หลายสมัย ยังไม่มีถอดใจเพราะยังสนุกและรักการเมือง เลือกตั้งทุกครั้งประชาชนก็ให้คะแนนมาถล่มทลายเราก็ยิ่งต้องทำงานหนัก

เมื่อการเมืองเป็นดั่งชีวิต และจิตใจ จนสามารถครองใจชาวมหาสารคามมาได้จนถึงทุกวันนี้ ส.ส.โจ้เชื่อว่ามาจากบทบาทการต่อสู้ที่กล้าชน ทำให้ประชาชนประทับใจในการกล้าสู้เพื่อความถูกต้องเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ