‘ดีทีซี’ ดึง '2บิ๊กไอที’ ปลดล็อก ข้อจำกัดธุรกิจสู้ศึกดิสรัปชั่น

‘ดีทีซี’ ดึง '2บิ๊กไอที’ ปลดล็อก ข้อจำกัดธุรกิจสู้ศึกดิสรัปชั่น

“เอดับบลิวเอส” ถอดบทเรียน ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ชี้ โควิด-19 เร่งการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจต้องปฏิวัติตัวเอง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ชี้สิ่งที่น่ากลัวของธุรกิจดั้งเดิม คือ หยุดพัฒนา ด้าน“เอ็มเฟค” แนะ ทรานส์ฟอร์มคนหนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

เป็นดิสรัปเตอร์ ก่อนถูกดิสรัป

ทุกวันนี้นวัตกรรมเทคโนโลยีเกิดขึ้นรายวัน แค่เรียลไทม์ไม่เพียงพออีกต่อไป สิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือ “Reimagination” เพื่อพลิกโฉมองค์กรภายใต้การเปลี่ยนแปลง และที่ต้องมีคือความสามารถในการคาดการณ์ความเป็นไปของตลาด ซึ่งอาจต่อยอดมาจากการปรับใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล แมชีนเลิร์นนิง รวมถึงเอไอ

เขาแนะว่า ธุรกิจควรหันกลับมาพิจารณาตนเอง พร้อมตั้งสมมุติฐานว่าจุดยืนของตนสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ตลาด และกลุ่มลูกค้า ณ ปัจจุบันหรือไม่ สุดท้ายไม่ลืมที่จะถามตนเองว่าสามารถดิสรัปตัวเองต่อไปได้ไหม ให้ทำตัวเป็นผู้ดิสรัป ไม่ใช่รอให้คนอื่นมาดิสรัป มองความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา เพราะความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้ ทว่าต้องผิดพลาดให้เป็น ผิดพลาดให้เร็ว

นอกจากนี้ การลงทุนต้องไม่สูงมาก สามารถควบคุมได้ สุดท้ายรู้จักที่จะเรียนรู้เพื่อนำข้อผิดพลาดไปปรับปรุงพัฒนา สร้างสิ่งใหม่ๆ ตั้งแต่งานหน้าบ้าน การบริหารจัดการภายใน ห่วงโซ่คุณค่า และการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าแบบใหม่

“เราต้องไม่ตีกรอบ แต่ให้คิดใหม่ ทบทวนความเป็นไปของธุรกิจเพื่อค้นหาความเปลี่ยนแปลง ก้าวให้ทันสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และเป็นผู้ที่ดิสรัปตลาด ไม่ใช่รอให้ถูกดิสรัป วันนี้การเข้าถึงความต้องการของลูกค้าไม่ได้มีอายุเป็นตัวกำหนด แต่ Persona เป็นตัวกำหนด ผู้ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุดคือผู้ที่สามารถส่งมอบประสบการณ์ลูกค้าได้ดีที่สุด”

ข้อมูลการวิจัยโดยบีซีจีระบุว่า ซีอีโอและผู้บริหารองค์กรมีความเชื่อว่าสิ่งที่จะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ใหักับอุตสาหกรรมจะมาจาก ความเร็วในการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าให้ดีขึ้น, บิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ เพื่อการทำความเข้าใจความต้องการเชิงลึกของลูกค้า, เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม เพื่อการส่งมอบสินค้าและบริการที่เร็วขึ้น ราคาถูกลง, และการปรับปรุงการบริหารจัดการภายในองค์กร เพื่อทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเดิม

159886928276

สร้างสมดุล’ ก่อนคิดทรานส์ฟอร์ม

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค กล่าวถึงประเด็น “How?” ว่า ในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล งานที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ คือ คน หากคนยังไม่มีความพร้อมก็อย่าเพิ่งไปโฟกัสที่เทคโนโลยี

“การบริหารจัดการคนมีความสำคัญอย่างมาก ฮิวแมนทรานส์ฟอร์เมชั่นจะเป็นตัวขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หากใช้คนผิด จะผิดไปแล้ว 70%”

เขากล่าวว่า แต่ละองค์กรมีปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่หลีกเลี่ยงได้ยากระหว่างกระบวนการเปลี่ยนผ่านคือ “การเอาคนออก” เพื่อทำให้องค์กรมีความคล่องตัว ต้นทุนเหมาะสม ภายใต้โจทย์ที่ว่าการทำงานต้อง “เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

“ซีอีโอต้องรู้จักบริหารจัดการคนอย่างเหมาะสม มีความสามารถที่จะทำให้ได้ สื่อสารเป็น โดยโจทย์ที่คาดหวังได้จากการทรานส์ฟอร์มคือ การเพิ่มผลิตผล คุณภาพ และประสิทธิภาพ ส่วนที่ต้องลดลงคือจำนวนบุคลากร และหากต้องการทำให้กระบวนการเป็นไปโดยง่ายและรวดเร็วต้องมีโจทย์และเป้าหมายที่ชัดเจน”

ที่ผ่านมา เห็นได้ว่าหลายๆ บริษัทจ่ายเงินเดือนแบบไม่ได้สะท้อนการเติบโต ส่วนใหญ่พนักงานที่มีอายุมากๆ เกิน 40 ปีขึ้นไป ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งๆ ที่ประสิทธิภาพการทำงานด้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่า ดังนั้นสำคัญอย่างมากที่ต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัทให้สมดุล สร้างระบบภูมิต้านทานเพื่ออยู่ในจุดที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา

“หลายคนมีแนวคิดว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นคือส่ิงที่ต้องลงทุน แต่ในความเป็นจริงคือ อย่าไปลงทุนอะไรและให้ไปโฟกัสที่คนก่อน หากวันนี้คนยังไม่เหมาะสมก็อย่าเพิ่งไปคิดทรานส์ฟอร์มจะดีกว่า”

อย่างไรก็ดี ด้วยบริบทของสังคมและความเชื่อของคนไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทำให้การบริหารจัดการคนเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อกำหนดตายตัว การปูทางเพื่อก้าวสู่นิวเอสเคิร์ฟ ทุกกระบวนการต้องมีการเตรียมความพร้อม ผู้บริหารต้องปรับมายเซ็ต เปิดกว้าง ทำงานอย่างยืดหยุ่น ไม่เสียเวลาไปกับการประชุมมากจนเกินไป

พร้อมกันนี้ กระจายอำนาจการตัดสินใจสู่พนักงาน ไม่รวมศูนย์อยู่ที่คนไม่กี่คน พยายามเพิ่มสัดส่วนคนที่คิดบวกสู่องค์กรให้ได้ไม่น้อยกว่า 4 เท่าของคนคิดลบ เน้นคัดเลือกคนอายุน้อยๆ เข้าร่วมทีม เพราะจากประสบการณ์พบว่าในธุรกิจเดียวกัน หากบุคคลากรอายุต่ำกว่ามักจะชนะได้เสมอ