Have Fund: ‘เอเชียเหนือ’อีกทางเลือกลงทุน

Have Fund: ‘เอเชียเหนือ’อีกทางเลือกลงทุน

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั่วโลก ดูเหมือนว่าบริษัทที่ได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ จะยังคงเติบโตได้สวนทางกับบริษัทส่วนใหญ่ ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้เติบโตขึ้นได้ในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐ ซึ่งถ้าล

ซึ่งถ้าลองพิจารณาจากดัชนี NASDAQ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (YTD) สามารถปรับตัวขึ้นได้เกือบ 30%

ไม่เพียงแค่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐเท่านั้น ปัจจุบันกลุ่มประเทศเอเชียเหนือต่างมีบริษัททางด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ดัชนีหุ้นในกลุ่มประเทศเหล่านี้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว และดัชนีหลักทรัพย์ของเกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ฟื้นกลับมายืนสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้แล้ว ทั้งๆ ที่การแพร่ระบาดยังไม่ได้หมดไป

หนึ่งในกองทุนที่น่าสนใจและกระจายการลงทุนอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ คือ กองทุนเปิด ทิสโก้ นอร์ธ เอเชีย อิควิตี้ (TISCONA) มีนโยบายกระจายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟหุ้นในต่างประเทศที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ที่มีนโยบายการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีหุ้นของประเทศในภูมิภาคเอเชียเหนือ 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน และฮ่องกง

กลยุทธ์การบริหารจัดการกองทุน จะมุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก (Passive Management) และกองทุนรวมอีทีเอฟที่ TISCONA เลือกไปลงทุนก็มีกลยุทธ์เพื่อมุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด หรือเป็นแบบ Passive Management เช่นเดียวกัน

กองทุน TISCONA จัดตั้งเมื่อต้นปี 2557 หากพิจารณาผลตอบแทนโดยเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ทำได้ 8.92% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มที่ทำได้ 5.24% โดยปี 2558 กองทุนมีผลขาดทุน 6.65% ก่อนจะทำกำไรได้ในปี 2559 – 2560 ที่ 5.76% และ 36.70% ส่วนปี 2561 พลิกมาขาดทุน 18.18% ก่อนจะกลับมาทำกำไรที่ 17.70% ในปี 2562 ขณะที่ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันบวกอยู่ 3.80%

ทั้งนี้ กองทุนเคยมีผลขาดทุนสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ 34.54% ขณะที่ความผันผวนของผลการดำเนินงาน (SD) อยู่ที่ 18.12% ต่อปี

จากข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2563 ปัจจุบัน TISCONA กระจายการลงทุนในอีทีเอฟ 4 กองทุน ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ได้แก่ XTRACKERS MSCI TAIWAN UCITS ET สัดส่วน 24.92% TRACKER FUND OF HONG KONG สัดส่วน 24.86% ISHARES CORE MSCI CHINA INDEX ETF สัดส่วน 24.82% และXTRACKERS MSCI KOREA INDEX UCITS ETF สัดส่วน 24.81%

สำหรับอีทีเอฟที่ลงทุนในไต้หวัน ปัจจุบันให้น้ำหนักกับกลุ่มเทคโนโลยีมากที่สุดถึง 63.92% รองลงมาเป็นกลุ่มการเงิน 16.35% โดยมีหุ้นที่ถือหลักๆ ได้แก่ TWN Semicont Man สัดส่วน 33.95% รองลงมาคือ HON HAI Precision Industry 5.14% ส่วนกองทุนที่ลงทุนในฮ่องกงจะเน้นลงทุนหุ้นกลุ่มการเงินด้วยน้ำหนัก 49.68% รองลงมาคือกลุ่มเทคโนโลยี 11.27% โดยหุ้นที่มีน้ำหนักมากสุดคือ TENCENT Holdings 11.27% ถัดมาคือ AIA Group 10.31%

ด้านอีทีเอฟที่ลงทุนในจีนจะให้น้ำหนักกับหุ้นในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือย 27.16% รองลงมาเป็นกลุ่มสื่อสาร 22.22% โดยบริษัทที่ถือลงทุนมากสุดคือ Alibaba Group Holding 16.95% ถัดมาคือ Tencent Holdings 15.42% 

ขณะที่อีทีเอฟซึ่งลงทุนในเกาหลีใต้จะให้น้ำหนักกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหลัก 45.73% และกลุ่มสื่อสาร 9% โดยหุ้นที่ถือมากสุดคือ Samsung Electr 29.75% รองลงมาคือ SK Hynix 5.76%

โดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่าจุดเด่นของกองทุน TISCONA คือ การกระจายความเสี่ยงไปในแต่ละประเทศในกลุ่มเอเชียเหนือ ทำให้กองทุนมีการถือครองหุ้นที่ค่อนข้างหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ด้วยการกระจายการลงทุนที่มาก ทำให้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายโดยรวมที่เรียกเก็บจากกองทุน เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนที่ใกล้เคียงกันแล้วจะสูงกว่าเล็กน้อย โดยปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ที่ 1.6%

ส่วนแนวโน้มการเติบโตในอนาคต หากมองเปรียบเทียบในทวีปเอเชียด้วยกัน จะเห็นว่ากลุ่มประเทศเอเชียดูจะมีเสน่ห์มากกว่า ด้วยสัดส่วนหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่สูงกว่า ทำให้แนวโน้มการประเมินกำไรต่อหุ้นของกลุ่มประเทศเหล่านี้ มีโอกาสจะถูกปรับขึ้นสวนทางกับภูมิภาคอื่นในเอเชีย