เปิด 9 สาเหตุการบินไทยขาดทุน 'ถาวร' ส่ง ป.ป.ช.สอบเอาผิดทุจริต

เปิด 9 สาเหตุการบินไทยขาดทุน 'ถาวร' ส่ง ป.ป.ช.สอบเอาผิดทุจริต

“ถาวร” เปิดโต๊ะแถลง 9 ปมการบินไทยขาดทุน 3 ปี 2.5 หมื่นล้าน ต้นเหตุทุจริตซื้อฝูงบินแอร์บัส 340 พบสายงานพาณิชย์ตั้งกองทุนผิดกฎหมาย โยกเงินขายตั๋วจ่ายค่าตอบแทน ยื่นคลัง-ป.ป.ช.สอบเอาผิด 31 ส.ค.นี้

การขาดทุนสะสมต่อเนื่องของบริษัทการบินไทย จำกัด นำมาสู่การยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ในขณะที่กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบสาเหตุปัญหาการขาดทุนของการบินไทย

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารการบินไทย โดยระบุว่า ภายหลังได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการบินไทย ได้ตรวจสอบเต็มที่เพื่อคลายข้อสงสัยของสังคมถึงการขาดทุนของการบินไทยที่เรื้อรังตั้งแต่ปี 2551 โดยตั้งคณะทำงานตรวจสอบและตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง 3 ปี (2560–2562)

ทั้งนี้ หลังได้รับข้อมูล หลักฐานและผู้มาให้ข้อมูลทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยไม่น้อยกว่า 100 คน พบว่าสาเหตุสำคัญของการขาดทุนสะสมหลักมาจากการซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ เพราะเมื่อนำมาทำการบินก็เกิดปัญหาขาดทุนทุกเส้นตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ในเดือน ก.ค.2548 จนปลดระวางลำสุดท้ายในปี 2556 และเป็นภาระในการดูแลถึงปัจจุบัน

“จุดเริ่มต้นการขาดทุนย้อนไปปี 2551 หลังจากเที่ยวบิน A340 ทำการบิน 3 ปี ซึ่งการบินไทยขาดทุนครั้งแรกในประวัติศาสตร์การตั้งบริษัทมา 60 ปี เป็นมูลค่า 21,450 ล้านบาท ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกหุ้นกู้ครั้งแรก ซึ่งคณะทำงานฯ พบว่าปัญหาการขาดทุนของการบินไทยไม่ต่ำกว่า 62,803 ล้านบาท มาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ”

นายถาวร กล่าวว่า ข้อมูลที่ตรวจสอบทั้งหมดจะถูกเสนอให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อสอบสวนเอาผิดผู้ทุจริตตามอำนาจที่มี และจะเสนอนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจดำเนินการอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ ยืนยันว่าเอกสารที่ตรวจสอบทั้งหมดเป็นของแท้แน่จริง ได้ข้อมูลมาจากคนในการบินไทยที่เชื่อถือได้ มั่นใจว่าข้อมูลเหล่านี้จะเอาผิดได้ ดังนั้นหวังว่าเมื่อส่งมอบข้อมูลให้ผู้มีอำนาจ เช่น ป.ป.ช.จะเป็นการวัดใจว่าจะจริงจังจริงใจที่จะทำต่อหรือไม่ รวมทั้งขอฝากถึงผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งคาดหวังว่าการบินไทยจะเดินไปข้างหน้า แต่ต้องกวาดบ้านให้ได้เพราะเจ้าหนี้เชื่อใจแผนฟื้นฟูแล้ว

“อัยการสอบเอาผิดได้เพราะสอบย้อนหลังขณะเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนผู้ทำผิดที่มีส่วนทำให้บริษัทขาดทุนมีทั้งผู้บริหารที่พ้นสภาพแล้ว และมีบางส่วนอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน”

พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน เผยว่า การตรวจสอบครั้งนี้มีเวลาเพียง 43 วัน โดยแต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย 6 คณะ ประชุมแล้ว 3 ครั้ง มีผู้มาให้ข้อมูลทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยไม่น้อยกว่า 100 คน และตรวจสอบรายงานการประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ ของการบินไทยย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562)

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบช่วงปี 2560-2562 ซึ่งการบินไทยขาดทุนรวม 2.56 หมื่นล้านบาท พบว่าสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุนมี 9 สาเหตุ อาทิ

1.ปัญหาค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก เช่น ค่า OT ฝ่ายช่างสูงถึง 2.02 พันล้านบาท ตรวจพบพนักงาน 1 คน ทำ OT สูงสุด ได้ถึง 3,354 ชั่วโมง มีวันทำ OT ถึง 419 วัน แต่ 1 ปี มีเพียง 365 วัน

2.การจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน โดยแต่ละลำราคาไม่เท่ากัน มีส่วนต่างราคาต่างกันถึง 589 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเครื่องบินแบบเดียวกัน มีการจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท

3.การตรวจพบว่าผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษเดือนละ 2 แสนบาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 6 แสนบาท โดยอ้างแนวปฏิบัติที่เคยทำมา

4.ช่วง 3 ปี (2560–2562) สายการพาณิชย์ไม่ทำงบประมาณประมาณการ แต่ใช้วิธีการกำหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเอง โดยผ่านคณะกรรมการบริหารนโยบายของบริษัทเท่านั้น

5.มีการขายตั๋วโดยสารในราคาที่ต่ำมาก โดยปี 2562 มีราคาเฉลี่ยใบละ 6,081 บาทเท่านั้น แต่บริษัทฯ มี Cabin Factor เกือบ 80% และมีผู้โดยสารถึง 24.51 ล้านคน มีรายได้ค่าตั๋วโดยสาร 1.49 แสนล้านบาท

6.มีการเอื้อประโยชน์ให้ตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร (Agent) ทั้งค่าคอมมิชชั่น ค่า Tier และค่า Incentive และกำหนดราคา Flash Sale (ราคาต่ำสุด) ทำให้ Agent เพียง 3-4 รายได้รับประโยชน์

7.ผู้บริหารในสายงานพาณิชย์ได้แต่งตั้ง โยกย้ายบุคคลใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป (AA) ในต่างประเทศ และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการขายเพื่อให้ได้ค่า Incentive ตามที่ต้องการ เพื่อให้ AA จัดส่งรายได้ จำนวน 10% ของค่า Incentive เข้าบัญชีกองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์และนำเงินในกองทุนดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายของบริษัทฯ รองรับ