‘เคอรี่’ เข้าตลาด ดันมูลค่าหุ้น ‘วีจีไอ’

‘เคอรี่’ เข้าตลาด ดันมูลค่าหุ้น ‘วีจีไอ’

“ตลาดอีคอมเมิร์ซ” ไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ล้อไปกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หลังเทคโนโลยีออนไลน์ในโลกยุคดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราทุกคนมากขึ้น

ทุกวันนี้มีโทรศัพท์มือถือที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แค่เครื่องเดียวก็สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากมาย ทั้งดูหนัง ฟังเพลง ทำธุรกรรมทางการเงิน โอนเงิน จ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต หรือจะซื้อสินค้าอะไรก็สะดวกสบาย ไม่ต้องไปถึงหน้าร้าน สามารถชอปปิ้งออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง และส่งตรงให้ถึงบ้าน

ยิ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ยิ่งหนุนตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นไปอีก อย่างช่วงที่สถานการณ์หนักๆ มีการประกาศล็อกดาวน์ ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดหน้าร้านชั่วคราว ส่วนผู้บริโภคต้องกักตัวอยู่บ้าน ส่งผลให้ยอดช้อปออนไลน์พุ่งกระฉูด

ทั้งนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะสมบูรณ์ไปไม่ได้ ถ้าขาดผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ซึ่งเปรียบเสมือนคนกลางที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างร้านค้ากับผู้บริโภค ทุกวันนี้กดซื้อสินค้าหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็ได้รับของแล้ว แถมยังมีตัวเลือกให้ใช้บริการมากมาย

เรียกว่าสมรภูมิ “ขนส่งพัสดุ” เวลานี้กำลังร้อนระอุ จากเดิมที่มี “ไปรษณีย์ไทย” ผูกขาดมานาน ปัจจุบันมีเอกชนยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศกระโดดลงมาแข่ง และที่กำลังหายใจลดต้นคอไปรษณีย์ไทยมาติดๆ คือ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ที่เราติดปากเรียกกันสั้นๆ ว่า “เคอรี่” ซึ่งข้ามน้ำข้ามทะเลจากฮ่องกง มารุกธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2549

ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อเดือน เม.ย. 2561 หลังบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านยักษ์ใหญ่ในเครือ “บีทีเอส กรุ๊ป” ทุ่มเงินเกือบ 6 พันล้านบาท ซื้อหุ้น “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ในสัดส่วน 23% ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง

โดย เคอรี่ เข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจโฆษณาของวีจีไอให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ผ่านการขายโฆษณาบนพื้นที่ใหม่ๆ เช่น หน้าร้านและจุดให้บริการของเคอรี่ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ รถจัดส่งพัสดุอีกกว่า 25,000 คัน

ขณะที่ เคอรี่ ได้สิทธิเปิดจุดให้บริการรับส่งสินค้าบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และสามารถใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสจัดส่งพัสดุด่วนส่งตรงถึงลูกค้าภายในเวลาไม่กี่นาที สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

ทำให้ทุกวันนี้ธุรกิจของวีจีไอมีความหลากหลายขึ้น จากเดิมรายได้หลักมาจากสื่อโฆษณานอกบ้าน แต่ปัจจุบันมีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริม ทั้งบริการชำระเงิน, ดิจิทัล เซอร์วิส และโลจิสติกส์ที่ลงทุนผ่านเคอรี่ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มแล้ว ยังช่วยกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

เห็นได้จากช่วงวิกฤตโควิดกระทบธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านเต็มๆ จากกำลังซื้อที่ลดลง ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนแบรนด์สินค้าต่างๆ รัดเข็มขัดกันเต็มที่ ปรับลดงบโฆษณากันถ้วนหน้า ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณานอกในงวดไตรมาส 1 ปี 2563/2564 (เม.ย.-มิ.ย. 2563) ดิ่งหนักเหลือเพียง 266 ล้านบาท ลดลง 64% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จนฉุดผลประกอบการพลิกขาดทุน 103.95 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 304.01 ล้านบาท แต่กลับสวนทางกับธุรกิจของเคอรี่ที่เติบโตก้าวกระโดดในช่วงโควิด ยอดจัดส่งพัสดุพุ่งไปแตะมากสุดถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน เทียบกับปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 ล้านชิ้นต่อวัน

และหากย้อนดูปริมาณพัสดุที่บริษัทได้ดำเนินการจัดส่งระหว่างปี 2557-2562 เติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีมากถึง 134.9% จนทำให้เคอรี่กลายเป็นผู้จัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในประเทศ สะท้อนกลับมาที่ผลประกอบการทำสถิติสูงสุดใหม่ทุกปี

จึงไม่แปลกที่นักลงทุนจะคาดหวังว่า วีจีไอ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เบอร์สองจะได้อานิสงส์ไปด้วย โดยปีที่ผ่านมาบริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเคอรี่กว่า 260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 60% จากปีก่อน 

ดังนั้นเมื่อมีข่าวว่าเคอรี่พร้อมเข้าตลาด แม้จะไม่ใช่ข่าวใหม่ แต่เป็นสิ่งที่นักลงทุนเฝ้ารอความชัดเจนมาสักระยะจึงจุดพลุหุ้น VGI พุ่งแรงชนซิลลิ่ง แม้สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงจาก 23% เหลือ 19% แต่เมื่อเทียบกับอนาคตที่สดใสของเคอรี่ถือว่าคุ้มค่า เพราะเงินที่จะได้รับจากการขายหุ้นไอพีโอ 300 ล้านหุ้น บริษัทจะนำไปใช้ขยายเครือข่ายการจัดส่งพัสดุ ด้วยการเช่าพื้นที่เพื่อเพิ่มจำนวนศูนย์คัดแยกพัสดุ เพิ่มจุดให้บริการ และสร้างศูนย์กระจายสินค้าพัสดุแห่งใหม่

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า การเข้าตลาดของเคอรี่จะช่วย “Unlock Asset Value” ให้เห็นว่า VGI เป็นหุ้นที่มีคุณค่า ทั้งนี้หากอิงข้อมูลจากบลูมบิร์ก ที่คาดราคาไอพีโอของเคอรี่ที่ 20 บาท จะคิดเป็นมาร์เก็ตแคปรวมกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท จะเพิ่มมูลค่าให้หุ้น VGI ที่ 0.78 บาท และทุก 1 บาท ของราคาไอพีโอที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มมูลค่าให้ VGI ที่ 0.03 บาท