ธุรกิจไอดอล BNK48 แผ่ว! ไอแอมรุกโกอินเตอร์

ธุรกิจไอดอล BNK48 แผ่ว!  ไอแอมรุกโกอินเตอร์

ธุรกิจไอดอลโตแผ่ว หลัง “บีเอ็นเค48” เคยปลุกธุรกิจไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป “ไอแอม” ตีโจทย์ธุรกิจใหม่ วางกลยุทธ์อาศัยพลังพาร์ทเนอร์ ดันไอดอลไทยบุกตลาดต่างประเทศ 

นางสาวบุญจิรา ธีระมโน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด บริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเมนท์ จำกัด หรือ ไอแอม(iAM) เปิดเผยว่า แม้ธุรกิจไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป “บีเอ็นเค48” จะเริ่มเป็นกระแสน้อยลง เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แต่ในแง่ของการเป็นโมเดลธุรกิจไอดอลแบรนด์บีเอ็นเคถือว่ามีความแข็งแกร่ง และยังคงสามารถต่อยอดไปสู่การทำตลาดรูปแบบอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด กำหนดกลยุทธ์ 3-Os เคลื่อนธุรกิจ ประกอบด้วย 1.มุ่งขยายตลาดบีเอ็นเคสู่ดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการนำคอนเทนท์ที่มี สร้างคอนเทนท์เอ็กซ์คลูสีฟไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น เอไอเอสเพลย์ และแพลตฟอร์มอื่นๆ การนำอีเวนท์ที่จัดออฟไลน์ไปออกอากาศสด(ไลฟ์)ผ่านออนไลน์ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุควิถีปกติใหม่หรือนิวนอร์มัล 

2.กิจกรรมออนกราวนด์ โดยไตรมาส 3 และ 4 จะมีอีเวนท์ใหญ่ “บีเอ็นเค 48 จังเก้น ทัวร์นาเม้นท์ 2020-เซ็นบัตสึ ออฟ เดสทินี่” (BNK48 JANKEN TOURNAMENT 2020 - SENBATSU OF DESTINY)หรือ งานเป่ายิ้งฉุบ มีขึ้น 26 ก.ย.นี้ ที่ศูนย์การค้า ยูเนี่ยนมอล นับเป็นการจัดงานจังเก้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยราคาบัตรอยู่ที่ 1,800 บาท 2,700 บาท และ 3,200 บาท ส่วนปลายปีจะมีงานกีฬาสีหรือสปอร์ตเดย์

นอกจากนี้ จะมีการนำงานจับมือกลับมาจัดอีกครั้งตั้งแต่ 1-30 ก.ย.63 รวมถึงการแสดงในรูปแบบเธียร์เตอร์ และการทำดิจิทัล ไลฟ์ สตูดิโอ ผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อให้แฟนคลับได้ติดตาม และ3.การทำตลาดผ่านสื่อโฆษณานอกบ้าน โดยอาศัยพลังพันธมิตร “แพลนบี”เพื่อนำเสนอคอนเทนทืบีเอ็นเค48 และซีจีเอ็ม48 ผ่านจอแอลอีดีทั่วประเทศและจอที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 1,000 สาขา

“เราทำทุกวิถีทางเพื่อให้เข้าถึงแฟนคลับ และกลยุทธ์ 3-Os จะช่วยเชื่อมบีเอ็นเค48 กับแฟนคลับครอบคลุมทุกช่องทางทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และจะไม่จำกัดพื้นที่กรุงเทพฯเท่านั้น จะขยายไปต่างจังหวัดด้วย”

ส่วนไฮไลท์สำคัญในการสร้างรายได้ให้บีเอ็นเค48 คือกลยุทธ์การผนึกพันธมิตรทั้งอุตสาหกรรมเดียวกันและข้ามหมวดหรือข้ามสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลง สื่อ และธุรกิจอื่นๆ เพื่อเป็นการเพิ่มขนาดธุรกิจและโอกาสทางการตลาดที่กว้างขวางขึ้น ล่าสุดคือการปั้นยูนิตใหม่ “ไลร่า”(LYRA) โปรเจคใหญ่ไอแอมร่วมกับ “ยูนิเวอร์แซล มิวสิค ประเทศไทย” ดึง 6 ไอดอลจากบีเอ็นเค48 มาสร้างสรรค์ผลงานเพลงและปูทางทำตลาดในระดับสากล ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาส 4 ส่วนตลาดต่างประเทศที่จะบุกขอประเดิมภูมภาคเอเชีย เนื่องจากยูนิเวอร์แซลมีความแข็งแรงมาก 

ทั้งนี้ โปรเจคไลร่า จะไม่จำกัดอยู่แค่การสร้างสรรค์ผลงานเพลง แต่จะหาโอกาสผลักดันให้สมาชิกของวงพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพทั้งร้อง เต้น เล่น(การแสดง)นำไปสู่การแสดงซี่รี่ส์ ภาพยนตร์ ฯ

ปัจจุบันธุรกิจไอดอลมีการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากตัวละครใหม่ๆเกิดขึ้นในวงการมากมายมหาศาล และไม่ได้มีแค่ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป แต่มีบอยแบนด์ด้วย ทำให้การทำตลาดมีความท้าทายและยากยิ่งขึ้น

“โจทย์การพัฒนาธุรกิจไอดอลคือการสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่งเพื่อต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ใหม่ๆ ซึ่งจะการมุ่งจับมือพันธมิตรจะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาด นำน้องๆไอดอลขยายฐานแฟนคลับไปยังพื้นที่ใหม่ๆมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอินเตอร์เนชั่นแนล”